IO3_feature_image

IO3 อ่านว่า ไอ-โอ-ทรี ย่อมาจาก Intersection of 3 Wheels หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่าแนวคิดเลือกหุ้นแบบ 3 ล้อถูกหวย ถ้าเจอหุ้นที่มีครบ 3 ล้อ ยิ่งถ้ากราฟเทคนิคคอนเฟิร์มด้วย หุ้นตัวนั้นมีโอกาสสร้างผลตอนแทนที่สุดยอด

บทความนี้เขียนขึ้นส่วนหนึ่งเพื่ออธิบายแนวคิดการเลือกหุ้น IO3 เพื่อให้ทุกท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการ SPACE เพื่อการสร้างพื้นที่ลงทุนของตัวเอง ที่ผมได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วัน FINNOMENA UNLOCK Day 29.05.16 ที่ผ่านมา ก่อนอื่นขอให้เครดิตกับรากฐานของแนวคิดนี้ที่ผมได้รับถ่ายทอดมาจากสมัยเป็น CIO ที่ CIMB-Principal ซึ่งจุดที่ผมชอบมากคือนอกจากการดูปัจจัยพื้นฐาน และมูลค่ายุติธรรมแล้ว ที่ Principal Financial Group ยังมีการใช้ปัจจัยที่เรียกว่า Expectation คือการดูเรื่องความคาดหวังที่มีในตัวหุ้น เพื่อใช้เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกหุ้นรายตัว ทั้งนี้สำหรับแนวคิด IO3 ผมได้มีการปรับแนวคิดต่อยอดไปจากแนวคิดเดิมพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของ Fundamental และ Valuation ซึ่งจะอธิบายในลำดับถัดไป

ผมได้ใช้แนวคิดของ Principal Financial Group ในการนำทีมผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นอยู่ประมาณ 4 ปี ยิ่งได้ใช้แนวคิดนี้จริงบ่อยเข้า ประกอบกับการทำ Data Scattering ซึ่งคือการหาข้อมูลให้ลึกที่สุดในทุก ๆ ด้าน ซึ่งข้อมูลนั้นผมจำแนกเป็น 3 ชนิดตามแนวคิด Mosaic Theory ซึ่งได้แก่

  1. Material-Public Information คือข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และเป็นข้อมูลสาธารณะ เช่น งบการเงิน , Opportunity Day, Story เรื่องราวการเติบโตของบริษัทที่ออกตามสื่อต่าง ๆ เป็นต้น
  2. Non-Material Public Information คือข้อมูลที่ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท และเป็นข้อมูลสาธารณะ เช่น กิจกรรมต่าง ๆ ของผู้บริหาร ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เราได้สัมผัสและพบเห็นในชีวิตประจำวัน ความเคลื่อนไหวของบริษัทคู่ค้า/คู่แข่ง เป็นต้น
  3. Non-Material Non-Public Information คือข้อมูลที่มิได้มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท และเป็นข้อมูลที่ยังไม่เป็นสาธารณะ เช่น ข้อมูลที่ได้จากการถามตอบผู้บริหารในวันประชุมผู้ถือหุ้น ข้อมูลที่ได้จากการคุยกับทีมบริหารเมื่อไป Company Visit บริษัท เป็นต้น

การหาข้อมูลแบบ Data Scattering สำหรับผมคือการทำการศึกษาเชิงลึกของบริษัทให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำการปะติดปะต่อเรื่องราว และนำไปสู่สมมติฐานการเติบโตที่เราเชื่อสำหรับบริษัทนั้น ๆ ว่าบริษัทจะเติบโตจากกลยุทธ์อะไร ไปจนถึงการประมาณการงบการเงิน 1 – 3 ปีข้างหน้า หรือยาวกว่านั้น ซึ่งผมให้น้ำหนักกับปัจจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Quantitative) การค้นพบบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตยอดเยี่ยม ส่วนใหญ่มาจากการเข้าใจภาพการประกอบธุรกิจ เข้าในวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของทีมผู้บริหาร เห็นโอกาสในการเติบโตทั้ง Organic และ Inorganic ของบริษัท ตรงนี้สำคัญกว่าการนั่งแกะงบสำหรับผมครับ แต่การดูงบก็สำคัญนะครับ

 

IO3 – แนวคิดเลือกหุ้นแบบ 3 ล้อถูกหวย

ชื่อ IO3 นั้นมีที่มาหลายชั้นมาก ทั้งหมดมาจากเพื่อนสมาชิกในโครงการ SPACE ข่วยกันคิดคนละนิดละหน่อย มุมที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ IO3 ในทางเคมีคือ Iodate ซึ่งมีลักษณะเป็นพิระมิดฐาน 3 เหลี่ยม อุปมาอุปมัยกับแนวคิดการเลือกหุ้นที่ต้องการ 3 ปัจจัยมาพร้อม ๆ กันเพื่อกลายเป็นหุ้นที่สุดยอด เกลือไอโอเดตนั้นก็คือเกลือไอโอดีนนั่นเองกินแล้วฉลาดครับ

io3

แนวคิดนี้อาจดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไรมาก แต่สำหรับผมที่ได้ใช้แนวคิดนี้วิเคราะห์หุ้นมานับร้อยตัว วันนี้อยากจะมาแชร์วิธีการใช้งานชัด ๆ อีกครั้งเพื่อเพื่อน ๆ ใน SPACE จะได้ลองนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นกัน ไปดูที่ละองค์ประกอบกันเลย

HIGH GROWTH

คำว่า HIGH GROWTH สำหรับแนวคิด IO3 คือบริษัทที่เรามั่นใจว่ากำไรสุทธิมีแนวโน้มเติบโตอย่างน้อย 20 – 30% ในระยะเวลา 1 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นหุ้นที่มีโอกาสทำกำไรได้ดีกว่าตลาดอย่างแน่นอน ลองดูตัวอย่างนี้ครับ

หุ้น ASDF กำไรปีนี้ 1 บาทต่อหุ้น เทรดที่ P/E 20 เท่า ราคา 20 บาท

เวลาผ่านไป 3 ปี

หุ้น ASDF กำไรโตปีละ 30% มีกำไรต่อหุ้นที่ (1+0.3)^3 = 2.197 บาทต่อหุ้น เทรดที่ P/E 20 เท่า ราคา 43.94 บาท

ราคาหุ้นเติบโต 219.7% เท่ากับการเติบโตของกำไร

ลองใช้ P/E ที่ค่าอื่น ๆ ก็ได้ครับ จะ 10 เท่า , 30 เท่า, หรือ 50 เท่า ผลก็ได้ค่าเหมือนกันคือ กำไรโตเท่าไหร่ ถ้าสมมติ P/E เท่าเดิม ราคาหุ้นก็โตเท่านั้น สมกับคำพูดยอดฮิตที่ว่า “เจ้ามือที่แท้จริงในตลาดหุ้นก็คือผลประกอบการ” จริงซะยิ่งกว่าจริงครับ

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยโตอยู่ราว 3% ต่อปี ดังนั้นการจะหาหุ้นที่กำไรโตได้ 20 – 30% พูดเลยว่าไม่หมูครับ โดยมากจากที่เคยสัมผัสมาผมพบว่า กลยุทธ์ในการเติบโต, วิสัยทัศน์, และฝีมือของทีมผู้บริหาร 3 อย่างนี้ครับคือสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นเป็นเรื่องของ Model ธุรกิจ, ชนิดอุตสาหกรรมของบริษัทนั้น ๆ ก็มีส่วนเช่นกันครับ

ตัวอย่างเช่นหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาฯ บ้านและคอนโต การที่จะมั่นใจได้ว่ากำไรจะโตได้ 20-30% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ค่อนข้างยากครับ เพราะยอดขายบ้านนั้นมักแปรตามเศรษฐกิจของประเทศ เว้นแต่บางเจ้าที่มีกลยุทธ์การเติบโตที่ดีจริง ๆ ครับ หรืออาจเป็นบริษัทเล็กที่ยังยอดขายไม่มาก และมีโอกาสที่จะ scale ขนาดธุรกิจได้

หุ้นขนาดกลางและหุ้นขนาดเล็ก…บ่อยครั้งที่เรดาร์ขอผมมาลงเอยกลับหุ้นชนิดนี้ครับ เพราะหุ้นขนาดกลาง/เล็กยังมีฐานกำไรไม่มาก การที่กำไรจะเติบโตซักเท่าตัวใน 1 ระยะไม่กี่ปีข้างหน้าย่อมเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นอย่างบริษัทใหญ่ ๆ เช่นแบงค์ใหญ่บ้านเราปัจจุบันกำไรปีละ 4-5 หมื่นล้าน การจะเพิ่มฐานกำไรเป็นแสนล้านย่อมไม่ใช่งานง่ายแน่นอน Growth Strategy ต้องเด็ดมากจริง ๆ ถึงจะทำได้

HIGH GROWTH ซึ่งคือปัจจัยแรกใน IO3 สำหรับผมคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดจาก 3 ปัจจัย ซึ่งเราต้องทุ่มแรงทั้งหมดที่มีในการวิเคราะห์หุ้นกับปัจจัยนี้ครับ เราไม่ได้หาหุ้นที่กำไรมีโอกาสเติบโตดี แต่เราหาหุ้นที่เรามั่นใจมาก ๆ ว่ากำไรจะเติบโตได้ดี ซึ่งการจะสร้างความมั่นใจได้นั้น จำเป็นต้องหาค้นคว้า และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจัง

การวิเคราะห์งบการเงิน…การพยากรณ์งบการเงิน (Financial Projection) ก็มีความสำคัญ แต่ไม่มากเท่าข้อมูลเชิงคุณภาพที่เล่ามาข้างต้น เราควรเข้าใจธรรมชาติของตัวเลขในงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกำไรสะสมของแต่ละธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายเรื่องการลงบัญชีซึ่งสามารถส่งผมต่อกำไรของกิจการอย่างมหาศาลเลยครับ เช่น นโยบายการตัดค่าเสื่อม และค่าความนิยม เป็นต้น

การเติบโตที่ตลาดยังไม่รับรู้…สุดท้ายคือเมื่อเราศึกษาหุ้นมาก ๆ เราจะเจอเรื่องราวของหุ้น บ่อยครั้งมาจากการปะต่อข้อมูลจากหลาย ๆ ทาง เช่น บริษัทมีแนวโน้มที่จะขยายกิจการโดยควบรวม หรือถูกควบรวม เรื่องเหล่านี้บ่อยครั้งเป็นตัวจุดปะทุให้กำไรเติบโตมาก ๆ และหากเรามองเห็นการเติบโตเหล่านี้ก่อนคนอื่น โอกาสย่อมเป็นของเราครับ

LOW HOPE

คือหุ้นที่ตลาดมีความคาดหวังต่ำ ปัจจัยนี้หลายคนมักจะนำไปปะปนกับเรื่อง Valuation ถ้าหุ้นขึ้นเยอะ หรือ Valuation แพง ก็มักจะเรียกว่าหุ้น High Hope

จริง ๆ แล้วสำหรับแนวคิด IO3 หุ้น Low Hope ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง Valuation เป็นหลัก แต่ดูได้จาก 2 ปัจจัยต่อไปนี้

  1. Undiscover หุ้นที่นักวิเคราะห์ ยังไม่ cover ส่วนมากเป็นหุ้นขนาดกลาง/เล็กที่ตลาดยังไม่รู้จัก (Undiscover) หรืออาจเป็นหุ้นที่ขาดสภาพคล่อง กลุ่มนี้ผมเรียกว่าเพชรในตมที่ยังไม่ถูกค้นพบ และเมื่อกำไรบริษัทโตมาก ๆ นักข่าวเริ่มสนใจ เริ่มมีนักวิเคราะห์เข้ามาดู หนังสือพิมพ์เริ่มลง หุ้น LOW HOPE ก็จะมีแรงซื้อเข้ามาจากนักลงทุนครับ
  2. Hold/Sell หุ้นที่นักวิเคราะห์และหนังสือพิมพ์แนะนำ ขาย (SELL/Underweight) หรือแนะนำถือ (HOLD/Neutral) โดยธรรมชาตินักลงทุนมักจะมองหาหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำ “ซื้อ” แต่แท้จริงแล้วหุ้นที่นักวิเคราะห์ออกบทวิเคราะห์แนะนำซื้อมาก ๆ มันคือหุ้น HIGH HOPE ที่เต็มไปด้วยความคาดหวังของนักลงทุนที่อ่านและซื้อหุ้นไปก่อนหน้านี้ ถ้าหากผลประกอบการไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง หุ้น HIGH HOPE จะลงได้แรงทีเดียวครับ

กลับกันหากเป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำขาย หรือตามหน้าหนังสือพิมพ์มีข่าวร้ายมาก ๆ ราคาหุ้นมักจะถูกเทขายออกมาพอสมควร ซึ่งผมเรียกว่าหุ้น LOW HOPE ถ้าหากผลประกอบการหุ้นตัวนั้นออกมาดี จะถือเป็นเรื่อง surprise ในทางบวก และทำให้หุ้นดีดได้แรงครับ

สรุป คือหุ้น LOW HOPE คือหุ้นที่ยังไม่ค่อยมีหนังสือพิมพ์พูดถึง หรือนักวิเคราะห์ยังไม่ cover และหุ้นที่ตามหน้าหนังสือพิมพ์มีแต่ข่าวร้าย หรือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำขาย/ถือ ครับ

 

REASONABLE PRICE

ล้อที่ 3 ล้อสุดท้ายของแนวคิดเลือกหุ้นแบบ 3 ล้อถูกหวยคือเรื่อง Valuation ซึ่งยากมากครับทุกวันนี้ที่จะหาหุ้น ที่ Valuation ถูก + HIGH GROWTH อย่างเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

หุ้น QWER ปัจจุบันกำไรต่อหุ้น 1 บาท ซื้อขายที่ P/E 15 เท่า ราคาหุ้น 15 บาท

1 – 3 ปีถัดมาหุ้น QWER กำไรโตแรงประมาณ 30% ต่อปี และดูเหมือนจะโตในระดับนี้ไปได้อีกระยะ ตลาดจึงปรับค่า P/E ให้เป็น 30 เท่า

หุ้น QWER ในวันนั้นมีกำไร 2 บาทต่อหุ้น เทรดที่ P/E 30 เท่า คิดเป็นราคาหุ้น 60 บาท

หุ้น QWER มีราคาเพิ่มขึ้น 4 เด้งมาจาก 2 X 2 คือราคาขึ้น 2 เด้งจากการที่กำไรโตขึ้น 2 เท่า คูณอีก 2 เป็น 4 เด้งจาก P/E Multiple ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว

ไม่ง่ายครับที่จะเจอหุ้นถูกและดีทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มี โอกาสมีเสมอสำหรับคนที่ทำงานหนักครับ สำหรับเรื่อง Valuation หรือ REASONABLE PRICE นี้ผมมักดู P/E เป็นหลัก ขอให้ P/E ไม่แพงกว่า GROWTH RATE เป็นใช้ได้ ยิ่งถ้าได้หุ้นที่ P/E ต่ำกว่า Growth ถือว่าเป็นกำไรชีวิต

สำหรับวิธี Valuation อื่น ๆ ผมก็มีใช้บ้างครับ เช่น PBV Vs ROE เช่นถ้า ธนาคารมี ROE 20% ผมจะให้ Reasonable PBV ที่ 2 เท่า (เอา ROE หารด้วย 10) หรือถ้าหุ้นที่เป็น Holding Company ก็ต้องใช้ Sum-of-the-part แยกคิดมูลค่ากิจการเป็นส่วน ๆ เอาครับ

การความสมน้ำสมเนื้อของดูมูลค่ากิจการด้วย Market Cap…สุดท้ายคือศิลปะเรื่อง Valuation โดยการเปรียบเทียบ Market Cap ของแต่ละกิจการเพื่อดูความสมน้ำสมเนื้อ และสมเหตุสมผล

เช่น TRUE ณ วันนี้ Market Cap 400,000 ล้าน ขณะที่ DTAC ประมาณ 86,000 ล้านดูแล้วไม่สมน้ำสมเนื้อ DTAC ถูกไป หรือไม่ก็ TRUE แพงไป

SAWAD 42,000 ขณะที่ TISCO 36,000 ดูแล้วฝืนความรู้สึก เป็นต้น

การจำ Market Cap ของหุ้นแต่ละตัวนั้นมีประโยชน์มากกว่าการมานั่งจำราคาหุ้นเยอะครับ เพราะทำให้เราสามารถดูความสมน้ำสมเนื้อ ของมูลค่ากิจการแต่ละบริษัทเปรียบเทียบกันได้ ดูไปมาก ๆ เข้า เปรียบเทียบไปจนถึงกับบริษัทต่างประเทศสุดท้ายแล้วจะช่วยให้มุมมองของเราเฉียบขาดขึ้นเยอะครับ

ทั้งหมดก็เป็นแนวคิดการเลือกหุ้นแบบ IO3 ที่นำมาเสนอในวันนี้ ผมจัดให้เต็ม ๆ ไม่มีเม้มเพื่อหวังให้ท่านที่ได้อ่านจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์หุ้นให้ได้ด้วยตัวเอง สามารถสร้างพื้นที่การลงทุนของตัวเอง และตัดสินใจซื้อขายได้ด้วยตัวเองในที่สุด สุดท้ายก็ขอให้พลัง และแรงบันดาลใจในการขุดหุ้นจนสถิตย์อยู่กับท่าน และขอให้ทุกท่านที่ตั้งใจจริงจงประสบความสำเร็จในการลงทุนด้วยเทอญ สวัสดีครับ

FundTalk รายงาน