หัวใจของการสร้างธุรกิจ FinTech

ณ จุดที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคทองของสตาร์ทอัพที่สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเติบโตเป็นอย่างยิ่ง แต่ในยุคทองนี้ไม่ใช่ทุกบริษัทจะประสบความสำเร็จ บริษัทที่เป็นของจริงเท่านั้นที่จะอยู่รอด เช่นเดียวกับฟินเทค สตาร์ทอัพ (FinTech Startup) เกิดการตื่นตัวอย่างชัดเจนและกำลังเป็นกระแสที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมโลกการเงิน โดยผู้ประกอบการ รวมถึงสถาบันการเงินหันมาลงทุนในฟินเทคอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของฟินเทค จุดสำคัญ ก็คือ ผลิตภัณฑ์และบริการต้องโดน Pain คือ โดนความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เช่น ฟินเทคด้านการลงทุนในหุ้นแบบ Freemuim Subscription ผลิตภัณฑ์ต้องโดนใจลูกค้าจริง ๆ เมื่อใช้แล้วต้องอยากกลับมาใช้ซ้ำ ๆ จึงจะทำให้ลูกค่าต่ออายุการใช้งานไปเรื่อย ๆ

ถ้าฟินเทคไม่โดน Pain หรือไม่ถูกใจลูกค้าอย่างแท้จริง ต่อให้โฆษณาประชาสัมพันธ์มากแค่ไหน ดึง Traction มาได้ มีคนมาลองใช้เป็นแสนเป็นล้าน แต่ลูกค้าไม่ถูกใจและไม่ต่ออายุหรือไม่กลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ ในระยะยาวก็ไปไม่รอด

องค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ฟินเทคให้โดนใจนั้น นั่นคือ ถ้ามีทีมงานที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินจะช่วยได้มาก เพราะมีประสบการณ์และมีความเข้าใจลูกค้า สามารถกำหนด Persona หรือกลุ่มลักษณะของลูกค้าเป้าหมายได้อย่างชัดเจน รวมถึงเข้าใจจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์การเงินเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาด ณ ปัจจุบัน

นอกจากนี้การรู้จักพลาดให้เร็ว นับเป็นหัวใจสำคัญหลักในการสร้างฟินเทค เพราะการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนบางครั้งสิ่งสำคัญกว่าการเอาแต่คิด ก็คือ การลงมือทำ ลงมือทดลองว่าได้ผลหรือไม่ รีบออก MVP หรือ Minimum Viable Product ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์ทดลองให้เร็วที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้ลองใช้ และถ้าไม่ได้ผลก็ยอมรับแล้วค้นคิดหาแนวทางใหม่ให้เร็วที่สุด การรู้จักพลาดให้เร็ว และพลาดให้บ่อย สำหรับโลกของฟินเทค สตาร์ทอัพ สุดท้ายจะนำไปสู่สิ่งที่ “ใช่” ในที่สุด

ถ้ามีผลิตภัณฑ์ฟินเทคที่ใช่แล้ว สิ่งสำคัญเรื่องต่อไป ก็คือ Traction หรือจำนวน  ที่เข้ามาลองใช้ผลิตภัณฑ์ในแต่ละวัน คนในยุค Millenial หรือยุค Gen Y ซึ่งอีกไม่กี่ปีจะมีจำนวนกว่าครึ่งของประชากรโลก จะใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตวันละ 5 – 7 ชั่วโมง และอีก 5 – 10 ปีจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมกับระบบออนไลน์มากถึงห้าหมื่นล้านชิ้น ตกประมาณ 7 ชิ้นต่อประชากรโลก 1 คน จะทำอย่างไรให้ได้ Time Sharing จากกลุ่มลูกค้าดังกล่าว จะต้องมี Content อะไรเสริม เพื่อให้มีผู้คนจำนวนมากหันมาลองเข้าเว็บไซต์ นับเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญมาก

มีหลายกรณีที่กลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์และการตลาดของฟินเทค สตาร์ทอัพ ยังไม่เข้าใจพฤติกรรมคนในโลกออนไลน์ ยังยึดติดกับ Brand Identity ของตัวเองมากไป ทำให้ไม่สามารถสร้าง Traction ได้ ตรงนี้ต้องรีบเรียนรู้และแก้ไขกันให้เร็ว ซึ่งการใช้ Influencer หรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์เป็นอีกวิธีการที่น่าสนใจในการจะสร้าง Traction ให้เร็ว ในยุคปัจจุบันใคร ๆ ก็เป็น Somebody ได้ขอให้มี content ที่โดนและใช่

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ฟินเทค สตาร์ทอัพเป็นของใหม่สำหรับผู้ใช้ ต่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการดีจริงแต่ผู้ใช้ไม่ลองใช้จะมีประโยชน์อะไร ในการจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ควรยึดติดกับการ push ให้ผู้ใช้ลองสินค้าเพียงอย่างเดียวแต่ควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทดลองหรือการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลง ในหลายกรณีการสร้าง Viral หรือการสร้างตัวอย่างเข้ามาช่วยเช่นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่จะทำให้ user จำนวนมากลองใช้ของใหม่จากที่เคยยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ

อีกทั้ง ส่วนผสมของทีมงานมีความสำคัญเช่นกัน ถ้ามีทีม Tech มี CTO ที่ใช่ มี UX Designer ที่สามารถสร้างระบบที่ตอบรับความต้องการและสร้างความพอใจให้กับผู้ใช้อย่างแท้จริง สำคัญ คือ มีผู้มีประสบการณ์ในสาย Finance & Banking อยู่ในทีมก็จะช่วยได้มากเพราะมีความเข้าใจในลูกค้า เข้าใจในโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลายๆ ครั้งมีความซับซ้อน รวมถึงมี connection กับคนในวงการการเงิน สามารถสร้างโอกาสเชื่อมต่อฟินเทคเข้ากับแพลตฟอร์มของภาคธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์

นี่คือหัวใจของการสร้างธุรกิจฟินเทคในประเทศไทย รู้จักทดสอบทดลองผิดพลาดให้เร็ว จนค้นพบผลิตภัณฑ์ที่ใช่ มีทีมงานที่เข้าใจความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง สามารถสร้าง traction จำนวนมหาศาลให้มาลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลพฤติกรรมผู้บริโภค ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้เชื่อว่า “เกิด” แน่นอน

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640958