สรุปมุมมองลงทุนโดย FundTalk ตอน วิกฤตหรือโอกาส?

Chart of the week S&P 500 ดัชนีหุ้นหลักทางสหรัฐฯ ปรับตัวลงถึง 7% นับจากวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาลงมาจ่อที่เส้น MA200 วันซึ่งเป็นแนวรับทางจิตวิทยาที่สำคัญ ท่ามกลางปัจจัยลบเรื่องสงครามทางการค้าที่เปิดฉากโดยสหรัฐฯ ปัญหาข้อมูลรั่วไหลของ facebook ขณะที่การประชุม FED ผ่านไปได้ด้วยดีคือไม่มีสัญญาณการรีบเร่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม ขณะที่มุมมองเงินเฟ้อก็ไม่ได้เร่งตัวขึ้นอย่างที่ตลาดกลัวในช่วงก่อนหน้า

มีอะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง

(+) การประชุม FED ผ่านไปด้วยดี และ market friendly โดยปรับเพิ่มดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ตามที่ตลาดคาด (เท่ากับว่า ณ ตอนนี้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าไทยไปแล้ว) โดย FED ยังคงประมาณการความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ที่ 3 ครั้งเช่นเดิม (+) เพิ่มประมาณการ GDP สหรัฐฯ ปีนี้จาก 2.1% เป็น 2.4% (+) และคงประมาณการเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปีนี้ที่ 1.9% (+)

(-) TRADE WAR – นายทรัมป์ตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% ซึ่งกระทบกับจีนการส่งออกจากจีนเป็นมูลค่าประมาณ USD 6 หมื่นล้าน ขณะที่มีทีท่าจะไม่ทำร้ายพันธมิตรอย่างยุโรป ขณะที่จีนได้โต้ตอบทันทีว่าพร้อมจะเก็บภาษี ไวน์ ผลไม้ ท่อเหล็ก ซึ่งเป็นมูลค่าประมาณ US 3.5 พันล้านต่อปี

(-) facebook ได้ถูก Cambridge Analytica ดึงเอาข้อมูลของ User ไปใช้ประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งกดดันให้ราคาหุ้น facebook และหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ทั้ง BAT และ FANG มีการปรับฐานที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยเรื่องนี้ดูจะมีปัญหาทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจาก Cambridge Analytica เป็นบริษัทที่ช่วยจัดแคมเปญหาเสียงให้นายทรัมป์ และยังมีรายงานพบความสัมพันธ์ของบริษัทนี้กับทางการรัสเซียอีกด้วย

(+) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังประกาศออกมาดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ไปจนถึงตัวเลขการจองห้องพักของโรงแรมในสหรัฐฯ

มุมมองการลงทุน

1. เรื่อง Trade War การที่เมืองจีนตอบโต้ด้วยตัวเลขเพียง 3 พันล้านเหรียญดูค่อนข้างจะใจดี และอาจเป็นสัญญาณว่าจะขอยุติสงครามการค้า ซึ่งแน่นอนถ้าเกิดขึ้นต่อไปทางจีนจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์

และจากประวัติศาสตร์ในอดีตการเกิด Trade War เช่นในปี 1930 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยในช่วงเวลาถัดไป

อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาก็มีพฤติกรรมไร้เหตุผล (irrational) ให้เราเห็นบ่อย ๆ ดังนั้นจึงยังต้องจับตามประเด็นนี้ต่อไป

ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่าไม่น่าจะเกิด Trade War ในลักษณะที่ลุกลาม เพราะสุดท้ายแล้วจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และผลประกอบการในที่สุด ซึ่งถ้าเป้นเช่นนั้นเท่ากับว่า ณ ตอนนี้ตลาดได้ซึมซับข่าวร้ายเรื่องนี้ไปมากพอสมควรแล้ว

การกระทำครั้งนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนจีนถึงอาวุธที่สหรัฐฯ มีเพื่อใช้ในการต่อรองประเด็นอื่น ๆ เช่นเรื่องค่าเงินหยวน หรือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

2. ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมที่ประกาศออกมา เช่นเดียวกับผลประกอบการของตลาดหุ้นโดยรวมทั่วโลกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังจะเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้ตลาดหุ้นยังคงเป็น UP TREND ต่อไป

จับตาตัวเลข Non Farm Payroll ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในปลายสัปดาห์หน้า คืนวันศุกร์ที่ 7 เม.ย. ถ้ายังทำตัวเลขได้ดีเหมือนเดือนที่ผ่านมาที่จ้างงานไปถึงกว่า 3 แสนตำแหน่งจะเป็นปัจจัยบวกกลับมาสู่ตลาดได้

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีกำหนดเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออีกครั้งในวันที่ 11 เม.ย. นี้ โดยปัจจุบัน ธปท. มองเศรษฐกิจไทยโต 3.9% ในปีนี้ และมองอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ที่ระดับ 1.1% ในปีนี้

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเพิ่มทั้ง GDP และเงินเฟ้อในรอบนี ซึ่งเป็นข่าว + ต่อตลาดหุ้นแต่เป็น – ต่อตราสารหนี้ระยะยาว (ที่ผ่านมา Bond Yield บ้านเราต่ำกว่าสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อย)

3. แม้ปัจจัยพื้นฐานโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปัจจัยรบกวนที่เกิดขึ้นกับตลาดในรอบเดือนที่ผ่านมาได้ทำให้ตลาดมีความผันผวนสูงขึ้นสะท้อนออกมาที่ดัชนี VIX ที่ปรับตัวขึ้นมาอีกครั้ง

และอีกดัชนีที่สะท้อนสภาพคล่องในตลาดเงินคือ LIBOR/OIS SPREADS ที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนสภาพคล่องในระบบการเงินของสหรัฐฯที่ตึงตัวมากขึ้น จึงควรมีสินทรัพย์ที่ใช้ “ลดความเสี่ยง” พอร์ตโดยรวมให้มากหน่อยในช่วงเวลานี้

4. #สรุป ผู้เขียนมองว่า ณ จุดนี้ไม่ใช่เวลาที่จะลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดทุนโดยรวมยังอยู่ในภาวะขาขึ้น

ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่ยังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ได้ช่วยผลักดันให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น

เราควรเน้นน้ำหนักการลงทุนไปที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงไทย มากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และควรมีทองคำในพอร์ตเพื่อช่วยลดความผันผวนโดยรวมในระยะนี้

ตลาดที่ปรับตัวลดลงในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังดีเป็น “โอกาสของการเข้าลงทุน” มากกว่าเป็น “วิกฤตที่ควรหลีกเลี่ยง” โดยการมีโภคภัณฑ์อย่างทองคำในพอร์ตจะเป็นตัวช่วยทำให้พอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมาก

FundTalk รายงาน


พิเศษ! 

สำหรับท่านที่มีบัญชี NTER อยู่แล้ว หรือสนใจเปิดบัญชีกับ NTER เพื่อลงทุน สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ NTER โดยตรงในเวลาทำการ ได้ที่ LINE ID : @NTER

หรือกดที่ลิงค์นี้ด้วยมือถือ http://line.me/ti/p/@nter ได้เลย

—————————-
Verified by
Jessada Sookdhis, CFA
Fundamental Investment Analyst on Capital Market # 019559


คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

iran-israel-war