The First Lecture: ข้อคิดสำหรับนักศึกษาใหม่

ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ข้อคิดสำหรับนักศึกษาใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เลยขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแชร์ข้อคิดให้กับนักศึกษาคณะอื่น ๆ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่กำลังจะเปิดการศึกษากันในปีนี้ครับ

ฉันจึงมาหาความหมาย

มาเรียนมหาวิทยาลัยมาหาอะไร มาเอาปริญญา มาใช้ชีวิตอิสระ มาเตรียมตัวโตเป็นผู้ใหญ่ มาทำอะไรกันแน่ ? คำแนะนำของผมคือมาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อมาหา “ตัวเอง” ให้เจอครับ โดยเฉพาะการหาให้เจอว่าเราอยากทำอะไร ถ้าเราเจอสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรามี passion เราจะสามารถทำสิ่งนั้นได้เรื่อย ๆ อย่างมีความสุข

ถ้าเราทำสิ่งที่เราชอบเรื่อย ๆ มันจะนำมาสู่ความเชี่ยวชาญ กลายเป็นสิ่งที่คุณถนัด ผลก็คือเราจะรู้สึก “เติมเต็ม” ในตัวเอง ยิ่งถ้าสิ่งที่คุณชอบและเชี่ยวชาญมันมีประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก มันก็มีโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถทำสิ่งนั้นเลี้ยงชีพได้ และทำให้เรารู้สึก “ภูมิใจ” ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “อิคิไก (Ikigai)” หรือแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายที่มีมานับพันปีแล้ว

คนส่วนมากคิดว่าเราทำงานเพื่อหาเงิน เมื่อมีเงินแล้วจึงค่อยเอาเงินไปซื้อความสุข แต่ผลวิจัยได้ชี้ชัดว่าความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นอนและทำให้ความสุขเพิ่มขึ้น

การไม่มีเงินกินข้าวทำให้เรามีความทุกข์ แต่การมีเงินกินข้าวไม่อั้นไม่ได้เพิ่มความสุขให้โตตามไปด้วยเสมอไป สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริงคือการได้ทำอะไรที่มีคุณค่าและมีความหมายสำหรับเรา ทำให้เรารู้สึกเติมเต็มในสิ่งที่ได้ทำ รู้สึกภูมิใจเมื่อสิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ต่อคนอื่น

ความสัมพันธ์กับปัจจุบันขณะ

เราเกิดมาเป็นสัตว์สังคม มีความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นเป็นธรรมชาติ การมาเรียนมหาวิทยาลัยเป็นอีกโอกาสที่สำคัญของชีวิตที่จะได้สร้าง “ความสัมพันธ์ที่มีความหมาย” สร้างมิตรภาพที่ดีที่อาจจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักดูคน ดูให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร

เรามักตัดสินว่าใครดี หรือไม่ดีจากสิ่งที่คน ๆ นั้นกระทำต่อเรา แต่ความจริงแล้วเราต้องดูให้รอบด้านกว่านั้น ดูว่าเขาปฏิบัติต่อเพื่อนคนอื่นอย่างไร ปฏิบัติต่อพ่อแม่บุพการีครูอาจารย์อย่างไร ดูอย่างเป็นกลางแล้วจะเห็นว่าคน ๆ นั้นเป็นอย่างไรตามความเป็นจริง

ในยุคปัจจุบันโลกมันมี 2 โลกคือโลกจริงกับโลกเสมือนจริงในอินเตอร์เนท ทำให้เราคนเราแทบทุกคนเสีย Focus นั่งเรียน นั่งกินข้าว นั่งคุยกับเพื่อน เราถูกโลกอินเตอร์เนทรบกวนตลอด ให้เราลองฝึกให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้าเรา

เช่นเวลาเรียน เราเลือกแล้วว่าจะเดินเข้ามาในห้องเรียน เราก็ควรให้ความสำคัญกับ class เรียนตรงหน้า เวลาอยู่กับเพื่อนก็ใช้เวลากับเพื่อนตรงหน้า เวลาอยู่กับพ่อแม่พี่น้องก็เช่นกัน อย่าเอาแต่ก้มหน้าก้มตาสนใจคนนับร้อยนับพันในโลกออนไลน์ ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้าคุณให้มากขึ้น

ความเจ็บปวดของคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ในยุคนี้อยู่ไม่ง่าย โดยปัจจุบันมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าสูงที่สุด สูงถึง 1 ใน 5 สาเหตุมาจากการมีข้อมูลมากเกินไป (Information Overflow) มีตัวเลือกมากเกินไป จะเลือกซื้อของซักชิ้นมีข้อมูลให้ศึกษาเต็มไปหมด

นอกจากนี้ยังทำให้เรา “เปรียบเทียบ” กับคนอื่นในวันที่ทุกคนจะโพสต์แต่เรื่องที่ดีของชีวิตในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบตัวเราเองกับผู้อื่นอย่างอัตโนมัติตลอดเวลา

สิ่งที่ผมแนะนำคือให้เราสนใจกับการเดินทางมากกว่าจุดหมายปลายทาง ขอเพียงเราได้ทำสิ่งที่เราชอบ ได้ทำอย่างเต็มที่เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว คือทำที่ “เหตุ” ส่วนผลที่ออกมาไม่ว่าจะได้อย่างที่เราอยากเห็น หรือจะออกมาไม่ถูกใจ มันก็คือสิ่งที่เราต้องดูมันตามความเป็นจริง “ทำเหตุ และดูผล”

ความสุขจะมีถ้าเราปิดช่องว่างระหว่างความต้องการกับความจริงได้ ทุกสิ่งที่เกิด เมื่อปัจจัยพร้อม มันก็จะเกิดทันที ทุกสิ่งที่จบ เมื่อปัจจัยจบ มันก็จะจบทันทีเช่นกัน เรามีหน้าที่ดูและเข้าใจมันเท่านั้นเอง

FundTalk รายงาน

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647919