4+1 ข้อน่ารู้ก่อนลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EVs)

ปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราจะไปไหน จะทำอะไร ย่อมมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้คือ “รถยนต์ไฟฟ้า” มาดูกันว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีที่มาที่ไปอย่างไร และควรเลือกลงทุนอย่างไรกันค่ะ

1. กว่าจะมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

เริ่มมาจาก รถยนต์น้ำมัน ปี ค.ศ. 1913

เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ได้ผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันและมีการผลิตโดยใช้ระบบสายพาน เพื่อให้พนักงานเกิดความเชี่ยวชาญในชิ้นส่วนที่ตนเองประกอบและทำให้ผลิตได้เร็วขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้เป็นการผลิตโดยที่พนักงาน 1 คน ประกอบรถยนต์ 1 คัน ซึ่งทำให้ผลิตได้ช้า

พัฒนามาเป็น รถยนต์ Hybrid ปี ค.ศ. 1997

เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพงและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ จึงได้กำเนิดรถยนต์ไฮบริด (Hybrid) โดยที่โตโยต้า (Toyota) คือผู้ผลิตรายแรกของโลก เป็นการผสมผสานกันระหว่างการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้า โดยจะใช้เป็นระบบไฟฟ้า เมื่อรถมีการขับเคลื่อนด้วยความเร็วต่ำ ใช้เป็นระบบไฟฟ้าและน้ำมัน เมื่อรถมีการขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง และเครื่องยนต์จะดับเมื่อรถจอดอยู่นิ่งๆ เช่น เวลารถติด ข้อดีคือช่วยประหยัดน้ำมันและลดมลพิษในอากาศ แต่หากระบบไฟฟ้ามีปัญหา จะมีค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่แพง

การถือกำเนิดรถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าเป็นการขับเคลื่อนรถด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ได้มีการผลิตคิดค้นมาตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1880 แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1970 – 1980 ได้ประสบวิกฤตพลังงาน และด้วยการทำงานของระบบไฟฟ้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เชื้อเพลิงน้ำมันจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในปัจจุบันยี่ห้อที่ทุกคนน่าจะรู้จักเป็นลำดับแรกๆ และเป็นที่นิยมในตอนนี้ คือ ยี่ห้อเทสลา (Tesla) คิดค้นโดยอิลอน มัสก์ (Elon Musk)

2. รถยนต์ไฟฟ้าดีไม่ดีอย่างไร

ข้อดี

  • ช่วยลดสภาวะโลกร้อน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้มีสภาพแวดล้อมของโลกที่ดีขึ้น
  • ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากต้นทุนของพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าเชื้อเพลิงจากน้ำมัน
  • ช่วยให้เกิดความสะดวกมากขึ้น เพราะสามารถชาร์จไฟจากที่บ้านได้ เมื่อพลังงานหมด

ข้อเสีย

  • มูลค่ารถยนต์ยังถือว่าแพงอยู่มาก เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูง
  • มีสถานีชาร์จไฟฟ้าน้อย และใช้เวลาชาร์จไฟนาน
  • ระยะทางที่ขับได้มีจำกัด ขึ้นกับแบตเตอรี่รถยนต์

3. บริษัทอะไรมีรถยนต์ไฟฟ้าบ้าง

ก่อนหน้าที่ยี่ห้อ Tesla จะบูมขึ้นมา ได้มีบริษัทรถยนต์ชั้นนำอื่นๆ เคยผลิตมาก่อนแล้ว แต่อาจจะไม่ได้กระแสตอบรับที่ดี จึงได้มีการปรับตัวตามมา เช่น ในฝั่งของสหรัฐฯ มี Ford GM , เยอรมนีมี BMW Mercedes-Benz Volkswagen, ฝรั่งเศสมี Renault Citroën Peugeot, ญี่ปุ่นมี Nissan  Toyota, เกาหลีมี Hyundai Kia, จีนมี BYD Geely และอินเดียมี Mahindra

บริษัทอะไรมีรถยนต์ไฟฟ้าบ้าง
ที่มา: FINNOMENA

4. แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

จากข้อมูลสถิติ จะเห็นว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมาก อาจจะยังมีอัตราการขายที่น้อยในช่วงแรกๆ เพราะยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง นั่นก็คือแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นต้นทุนกว่า 60% ของต้นทุนทั้งหมด และคนยังใช้รถยนต์ธรรมดามากกว่า คาดว่าในช่วงปี 2020-2024 รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นที่นิยมมากขึ้น และเมื่อมีการผลิตมากขึ้น จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงได้ ในปี 2040 รถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 35% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดเลยทีเดียว

ดังนั้นอุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แบตเตอรี่และอุปกรณ์การชาร์จ ทำให้เห็นว่าส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมน้ำมัน แต่จะมีการปรับตัวอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

+1 กลยุทธ์การลงทุน

เนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นอะไรที่มาไวไปไว จึงควรที่จะศึกษาอุตสาหกรรมให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน หากต้องการลงทุนระยะยาว กองทุนรวมเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก เนื่องจากมีการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก เช่น Alphabet Inc, Apple Inc, Intel Corp, Tesla Inc, Tencent Holdings Ltd, Amazon.com Inc, Facebook Inc และ Alibaba Group Holding Ltd เป็นต้น ซึ่งในแต่ละกองทุนจะมีนโยบายการลงทุนแตกต่างกันไป มีผู้จัดการกองทุนที่จะคอยสับเปลี่ยนเลือกลงทุนในบริษัทตามความเหมาะสม เรารวบรวมรายชื่อกองทุนรวมเทคโนโลยีมาให้ไว้ที่ตารางด้านล่างแล้ว

กองทุนรวมเทคโนโลยี กองทุนรวมเทคโนโลยี

ถ้าหากนักลงทุนอยากลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ควรจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของนักลงทุน แม้จะเป็นกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการแล้ว แต่ถือเป็นการลงทุนในหุ้น และยิ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว ค่อนข้างมีความเสี่ยงอยู่สูงเลยทีเดียว ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนการลงทุนค่ะ

 ข้อมูลกองทุน

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bloomberg.com

https://www.cleantechnica.com

https://www.evtide.com

http://www.bblam.co.th

https://www.krungsriasset.com

https://www.scbam.com

https://www.one-asset.com

—————————-

Vithan Minaphinant

Securities Investment Analyst (IA)

ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด

ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

iran-israel-war