โดยปกติแล้ว มักจะเห็นผู้ใหญ่สอนให้เด็กรู้จักประหยัด สร้างวินัยในการเก็บออมเงิน เพื่อให้มีกินมีใช้ในอนาคต แต่จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคนที่เราได้มาสัมภาษณ์ในวันนี้ เขาเป็นคนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องการเงินอะไรมากมาย แต่เป็นเพราะเห็นว่าที่บ้านมีหนี้สินมาก ถึงขั้นถูกฟ้องร้องขึ้นศาล ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการบริหารเงินขึ้นมาเอง และอยากที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเงินของที่บ้าน เขามีวิธีคิดเรื่องการบริหารจัดการเงินอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ

แนะนำตัวกันหน่อย เป็นใคร มาจากไหน เรียนจบด้านไหนมา

สวัสดีครับ ผมชื่อ เอฟ นะครับ (นามสมมติ) อายุ 23 ปี เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่ง เอกภาษาอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับ 2 ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ รับสอนพิเศษภาษาอังกฤษ แปลงานเอกสาร แล้วก็ช่วยงานธุรกิจครอบครัวที่บ้านครับ

จบเกียรตินิยม แสดงว่าถนัดด้านภาษามากอยู่ แล้วเริ่มสนใจการเงินตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนสมัยเรียนปริญญาตรี ก็เรียกว่าเรียนปานกลาง มีทำกิจกรรมนักศึกษาด้วย ไม่ได้ซีเรียสกับการเรียนตลอดเวลา จุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจเรื่องการเงินเริ่มมาจากหลังจากจบม.6 แล้วกำลังจะรอแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นคุณป้าได้แนะนำให้ผมเริ่มศึกษาเรื่องหุ้นเรื่องการลงทุน เพราะคุณป้าเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว มีประสบการณ์ 10 กว่าปีได้ ผมก็เริ่มจากไปฟังสัมมนาฟรีของตลาดหลักทรัพย์ฯ งาน SET in the City ฯลฯ แล้วก็อ่านหนังสือด้วย อะไรทำนองนี้ครับ ค่อยๆ เรียนรู้มาจนถึงปัจจุบัน

ทำไมถึงได้สนใจเรื่องการเงิน

จากที่ไปฟังสัมมนาการลงทุนต่าง ๆ ก็ทำให้พบว่าสมัยนี้แค่ทำงาน เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเดียวมันไม่พออีกต่อไปแล้ว เพราะดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อไม่ไหว ต้องลงทุนอย่างน้อยเพื่อไม่ให้แพ้เงินเฟ้อ ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีการวางแผนเก็บเงินไปลงทุนเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณด้วย เขาว่าถ้าจะเกษียณตอนนี้เลยอย่างน้อยยังต้องมี 4 ล้าน แล้วอีก 30-40 ปีตอนผมเกษียณ เงินเท่านี้มันคงไม่พอแน่ ถ้าเอาเงินเฟ้อมาคิดด้วยคร่าว ๆ น่าจะต้องมีเป็นหลักสิบล้านขึ้นไป

ที่บ้านปลูกฝังเรื่องการเงินมาแบบไหน

จริงๆ ก็ไม่ได้ปลูกฝังอะไรเท่าไหร่ครับ แต่ส่วนตัวเป็นคนค่อนข้างประหยัดมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะทางบ้านมีฐานะปานกลาง ไม่ได้ร่ำรวยมากมาย เวลาตรุษจีนได้เงินแต๊ะเอียแต่ละทีก็มักจะไม่ค่อยใช้ เงินแต๊ะเอียปีล่าสุดที่ได้มาก็แบ่งสัดส่วนไปซื้อกองทุนหมดไม่ได้ใช้เลย

จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ คือ การที่ผมเห็นบุคคลอันเป็นที่รักเป็นหนี้บัตรเครดิตจนถึงขั้นถูกฟ้องร้องขึ้นศาล เหตุการณ์นี้จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผมบอกกับตัวเองว่า “ชีวิตนี้จะไม่เป็นแบบนี้เด็ดขาด ผมจะต้องใช้บัตรเครดิตให้เป็นประโยชน์ ต้องมีเงินเก็บ มีเงินใช้ตอนแก่”

ตอนนี้มีการจัดการเงินของตัวเองอย่างไรบ้าง

ด้วยความที่เป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่รายรับไม่ได้มีเข้ามาสม่ำเสมอเหมือนมนุษย์เงินเดือน การจัดการเงินก็จะยากกว่าหน่อย  เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้เริ่มใช้วิธีการ “ออมก่อนใช้” คือ หักเงินทันทีที่มีรายได้เพื่อเก็บไปออมหรือลงทุน ผมได้รู้มานานแล้วว่าเป็นวิธีการที่ดีมากในการเก็บเงิน เมื่อก่อนผมจะใช้เงินก่อน เหลือแล้วค่อยแบ่งเก็บไปหยอดเข้าแบงค์

หลังจาก “ออมก่อนใช้” แล้วพอครบเดือนผมก็จะนำเงินที่เก็บได้แบ่ง % ไปซื้อกองทุนต่างๆ โดยลงทุนในกองทุนรวม 2 ถึง 3 กอง เพื่อกระจายความเสี่ยงดังคำกล่าวที่ว่า “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว”

ทำไมถึงสนใจเรื่องการจัดการเงินของที่บ้าน

ก่อนผมจะเริ่มเข้ามาช่วยงานและดูแลผลประโยชน์จากการลงทุนของที่บ้าน ก็ได้รับรู้ว่าทางบ้านได้มีนำเงินกงสีไปลงทุนบ้างอยู่แล้วครับ แต่เป็นส่วนน้อย ซึ่งตอนแรกๆ ที่เข้ามาในโลกของการลงทุนใหม่ๆ ผมก็รู้สึกว่าควรเอาเงินไปลงทุนมากกว่านี้ เพื่อให้มันมีผลตอบแทนกลับมาชดเชยกับผลประกอบการธุรกิจที่ซบเซาลงไปมาก ทรัพย์สินที่มีจนถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะรุ่นอากงอาม่าสร้างขึ้นมา

ผมในฐานะทายาทรุ่นหลาน ก็ควรจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษามันเอาไว้ให้ได้ เรื่องธุรกิจผมรู้สึกว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะสร้างขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ผมช่วยได้คือใช้เงินช่วยทำงานให้เรา

มีวิธีการพูดอย่างไร ที่บ้านยอมรับไหม

เวลาจะนำเงินกงสีจะไปลงทุนอะไร ต้องเสนอผู้ใหญ่ทางบ้านก่อน ซึ่งตอนนั้นทัศนคติของทางบ้านค่อนข้างกลัวความเสี่ยง แต่ก็ยังดีที่ยอมให้ซื้อหุ้นไว้บ้าง ในช่วงแรกผมมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ซะมากกว่า คอยรายงานว่าหุ้นอะไรจะปันผล ทำบันทึก คอยดูแลงานเอกสาร ยื่นภาษี ยังไม่ได้มีสิทธิ์ออกความเห็นมากนัก

จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่เริ่มให้ความไว้วางใจให้ผมมีส่วนร่วมช่วยบริหารดูแลกงสีมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังเอ่ยปากกับผมด้วยว่า “ถ้ามีอะไรดีน่าสนใจน่าลงทุนก็บอกนะ” ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด แต่เชื่อว่าท่านคงเห็นว่าผมเป็นผู้ใหญ่แล้วในระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาผมก็หมั่นหาความรู้ทั้งขยันอ่านข่าวอ่านบทความมากมาย ไปฟังสัมมนา ดูรายการทีวีต่าง ๆ ทั้งในทีวีฯ และออนไลน์ที่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตลอด จนท่านคงเห็นว่าผมมีความรู้ดีกว่าเมื่อก่อน

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ไหม

สำหรับเพื่อนพี่น้อง คนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่เป็นลูกหลานกงสี มีธุรกิจครอบครัว
อยากบอกว่าคุณโชคดีมากๆ นะครับที่พ่อแม่ อากงอาม่า หรือบรรพบุรุษได้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนมีวันนี้ได้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกไม่อยากสืบทอดกิจการเพราะมันน่าเบื่อบ้าง มันไม่เท่บ้าง ผมเข้าใจในจุดนี้นะว่าคนเราความชอบความถนัดไม่ได้เหมือนกันเสมอไป

อย่างไรก็ตามถ้าคุณมีไอเดียอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์หรือช่วยเหลือที่บ้านได้ รวบรวมความกล้าลองเสนอผู้ใหญ่ดูนะครับ ทำการบ้านให้ดีสักนิดนึงก่อนนำเสนอ หาทางคุยกับท่านดีๆ ให้เห็นว่าเรามีใจอยากช่วยจริงๆ ท่านอาจจะรับไว้พิจารณาบ้าง เพราะบางทีมุมมองคนรุ่นใหม่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่านึกไม่ถึง และบางทีอาจเป็นประโยชน์กับธุรกิจครอบครัวให้ดำเนินต่อไปได้

สำหรับพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา
ท่านทั้งหลายที่เคยร่วมงานกับคนต่างวัยหรืออาจจะเคยได้ยินได้อ่านว่าคนรุ่นใหม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขายังเป็นเด็กจะไปรู้อะไร หรือรู้สึกว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะร่วมงานกันได้ ผมอยากบอกเลยว่าถ้าลูกหลานของท่านมีใจอยากช่วยกิจการงานที่บ้านนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่กระตือรือร้นสนใจจะช่วยกิจการของครอบครัว บางทีเราอาจจะรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจว่าเขาจะทำได้ คิดว่าเขายังขาดประสบการณ์ ฯลฯ  

ผมอยากให้ลองเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่บ้าง บางทีเขาอาจจะมีไอเดียดีๆ จากมุมมองคนรุ่นใหม่ที่เป็นประโยชน์ ยุคนี้สิ่งต่างๆ พัฒนาไปก้าวไกลมาก ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับยุคสมัยที่เปลี่ยนให้ได้ อย่างน้อยๆ ขอให้ลองเปิดโอกาสให้เขาช่วยทำอะไรเริ่มจากเล็กๆ น้อยๆ ดูก่อน แล้วรอดูผลงานอีกที

สรุป

ได้เห็นมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องการบริหารเงินของที่บ้านไปแล้ว เชื่อว่าเขาคนนี้ จะสามารถ Get Wealth Soon ได้อีกในไม่ช้าอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้อยากจะทิ้งท้ายคำถามสั้นๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากมีช่วงอายุที่ต่างกับลูกมาก ทำให้ความคิดเรื่องการเงิน และการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน ถ้าหากคุณมีลูกที่อายุอยู่ในช่วงวัยนี้ คุณกล้าที่จะให้ลูกบริหารเงินของคุณหรือไม่ เพราะอะไร?

SaveSave

SaveSave

TSF2024