ยุคนี้ หากเราพูดถึง Aging society แล้ว รพ. เป็นธุรกิจที่ตรง trend มากๆ บริษัทอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ต่างได้รับความสนใจ แต่กลับมาที่ธุรกิจโรงพยาบาล เราควรจะแยกความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอินเตอร์ให้ออก การที่เราเหมารวมว่าเป็นธุรกิจโรงพยาบาลนั้นไม่ค่อยสมเหตุสมผล

โรงพยาบาลชุมชน กลุ่มลูกค้าคือชุมชนในละแวกนั้น การที่จะเติบโตได้ คิดง่ายๆก็จะต้องมาจากการขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล แต่ถ้าชุมชนนั้นไม่ได้มีรายได้มากขึ้นละ? ก็คงจะขึ้นราคาไม่ได้มาก แปลว่าการเติบโตจำกัด การจะเติบโตอีกทางหนึ่งก็คือชุมชนนั้นมีการเติบโตทางประชากรมากขึ้น ในส่วนนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากกว่า

การเติบโตอีกทาง ก็อาจจะเป็นซื้อกิจการอื่น หรือยกระดับเป็นโรงพยาบาลระดับอินเตอร์ แต่ในส่วนนี้จะทำให้เสียลูกค้าชุมชนแน่ๆ แปลว่าโดยรวมแล้วโรงพยาบาลชุมชนมีการเติบโตจำกัด ควรให้ PE สูงหรือไม่

โรงพยาบาลอินเตอร์มีโอกาสเติบโตที่ดีกว่า เพราะว่าลูกค้านั้นสามารถมาได้จากทั่วโลก อีกทั้งยังได้อนิสงจากความสวยงามของเมืองไทย ทำให้ยิ่งเป็นจุดหมายของคนทั่วโลกมากขึ้น

การเติบโตนั้นมีโอกาสมากกว่า เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลในประเทศอย่าง US หรืออื่นๆ จะพบว่าค่าใช้จ่ายถูกกว่าครึ่ง แต่แน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าชุมชนนั้นก็จะแทบไม่มี เพราะราคานั้นแพงเกินไปที่คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้

แต่ถึงกระนั้น โรงพยาบาลอินเตอร์ก็มีกระแสเงินสดที่ดีพอที่จะซื้อโรงพยาบาลอื่นได้อย่างง่ายๆ เพื่อครอบคลุมกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น แปลว่าโดยรวมแล้วโรงพยาบาลอินเตอร์น่าจะได้ PE ที่สูงกว่าไม่มากก็น้อย

หากเราไปดู Valuation ของโรงพยาบาล จะพบว่าปัจจุบัน แม้แต่โรงพยาบาลอินเตอร์แนวหน้า ดูง่ายๆ PE 38 เท่า แปลว่าถ้าไม่มีการเติบโต จะต้องใช้เวลาถึง 38 ปีในการคืนทุน ในเคสนี้ได้ผลตอบแทนปีละไม่ถึง 10% แบบนี้ไปซื้อกองทุนดีกว่าหรือไม่?

หรือถ้าหากมีการเติบโต และเราเชื่อมั่นในการประเมิน PEG ของ Peter Lynch โรงพยาบาลจะต้องเติบโตถึงปีละ 38% ที่จะเหมาะสมกับ PE แต่สมเหตุสมผลหรือไม่ บริษัทที่มี Market cap 1 แสนล้าน จะสามารถเติบโตได้ขนาดนั้นในระยะยาว?

เรื่องราวจะเริ่มวุ่นวายขึ้นเมื่อในตลาดปัจจุบันทั้งโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอินเตอร์ต่างมี PE ที่ใกล้เคียงกัน โรงพยาบาลชุมชนที่มีการเติบโตที่จำกัดกว่าโรงพยาบาลอินเตอร์ สมควรได้รับ PE เท่ากันหรือไม่?

การประเมิณมูลค่าตามจริงแล้วโรงพยาบาลสามารถทำได้หลายวิธีกว่านี้มาก และ PEG อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่หากเราต้องการผลตอบแทนอย่างน้อย 15% ต่อปีโดยอาศัยจากพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ไม่รวมปัจจัยของเม็ดเงิน โรงพยาบาลแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับผลตอบแทนขนาดนั้น ยกเว้นเสียแต่ว่าเราหวังว่าตลาดหุ้นจะมีการให้มูลค่าของโรงพยาบาลมากขึ้นซึ่งอาจจะช่วยผลักดัน PE ให้ขึ้นไปถึงระดับ 45 – 50 ได้ แต่หากเราหวังไว้อย่างนั้นเราก็ไม่อาจจะเรียกตัวเองว่านักลงทุนได้เท่าไหร่นัก

หรือหากเราบอกว่าไม่ต้องการเติบโตมากนัก แต่ต้องการปันผลเป็นหลัก การที่โรงพยาบาล ณ ราคาปัจจุบันให้ dividend yield ที่ไม่ถึง 2% แปลว่า ก็ยังไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก นักลงทุนสามารถเอาเงินไปลงอย่างอื่นที่ได้ปันผลดีกว่านี้มาก เช่นในตลาดมีหุ้น มีบริษัทที่ดีและ dividend yield สูงกว่า 4% – 5% อีกมากนัก

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ได้จะต้องการบอกว่าธุรกิจโรงพยาบาลนั้นไม่ดี แต่ธุรกิจที่ดีไม่ได้หมายถึงการลงทุนที่ดีเสมอไป แต่หากเราเป็นนักเก็งกำไร ทุกอย่างก็จะกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง