สรุปหลักการลงทุนของคุณประชา ดำรงค์สุทธิพงศ์

คุณประชานั้นลงทุนแนวระยะยาว แต่ทั้งนี้การลงทุนระยะยาวก็มีหลายรูปแบบ แนวที่ผมคิดว่าคุณประชาใช้ปัจจุบันคือการเน้นบริษัทที่ดีเยี่ยมในราคาเหมาะสม คล้ายๆกับแนวทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ แต่ก็ยังพบสิ่งที่แตกต่างออกไปบ้างตามสไตล์การลงทุนของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะพบไม่บ่อยที่บัฟเฟตต์จะซื้อหุ้นที่ยังใหม่และยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ตัวเอง แต่สำหรับคุณประชาในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีหุ้นหลายๆตัวยังค่อนข้างใหม่พอสมควร

ต่อไปนี้คือหลักการลงทุนของคุณประชา

1. Business

การเลือกธุรกิจให้ถูกต้องมีความสำคัญมากที่สุด คุณประชาเน้นย้ำว่าควรจะเลือกธุรกิจที่ยอดเยี่ยมมาก่อนเสมอ เมื่อก่อน Warrem Buffett นั้นเลือกบริษัทที่มีราคาถูกและขายเมื่อราคาขึ้นมาแพง แต่ภายหลัง Warren Buffett ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเลือกบริษัทที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมแทน

เวลาเราหาธุรกิจที่จะดีเราควรมองหาธุรกิจที่มีโอกาสดีกว่าค่าเฉลี่ยด้วย เพราะถ้าธุรกิจดีเท่าค่าเฉลี่ยแปลว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ยอดเยี่ยม

2. ROE

โดยทั่วไปแล้วเราอาจจะมองอัตราการทำกำไรของบริษัท ถ้าบริษัทสามารถมีอัตรากำไรสูงก็อาจจะหมายถึงบริษัทนั้นมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆในอุตสาหกรรมอื่นๆ

ROE หากแปลแบบพื้นๆแล้วก็จะหมายถึงเวลาคืนทุนของธุรกิจ บริษัทที่มีระยะเวลาคืนทุนที่ไวนั้นเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในการลงทุนอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่นร้านส้มตำธรรมดาลงทุนไม่กี่แสนแต่สามารถคืนทุนได้ภายในไม่กี่เดือน มีความน่าลงทุนมากกว่าร้านอาหารหรูแต่ใช้เวลาหลายปีในการคืนทุน

ดังนั้นแล้วบริษัทที่มี ROE สูงก็จะมีความน่าลงทุนมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้สำคัญว่าปัจจุบัน ROE ของบริษัทต้องสูงถึงจะน่าลงทุนเท่านั้น บางครั้งบริษัทอาจจะยังดำเนินธุรกิจไม่ได้เต็มศักยภาพก็จะทำให้ ROE ยังไม่สูงมากนัก ยกตัวอย่างเช่นบริษัทที่เพิ่ง IPO ก็จะมีเงินสดเยอะกว่าปกติ ทำให้ ROE นั้นต่ำลง สิ่งสำคัญคือบริษัทจะต้องมีแนวโน้มที่จะเพิ่มศักยภาพและทำให้ ROE ขึ้นมาสูงได้ในท้ายที่สุด

3. Debt

ROE สูงอย่างเดียวไม่พอ เพราะบางครั้งก็เป็นเพราะบริษัทมีการ Leverage จากการกู้มาทำธุรกิจ ทำให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนดูสูง ดังนั้นจึงควรจะให้ความสำคัญกับบริษัทที่มี ROE สูงในขณะที่มีหนี้สินต่ำด้วย

หนี้สินมีหลายประเภท แต่การที่จะตัดสินว่าบริษัทมีหนี้สินสูงก็จะต้องตัดหนี้สินส่วนที่เป็นของเจ้าหนี้ออกเสียก่อนเพราะไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ของบริษัท ดังนั้นบริษัทที่มีหนี้สินสูงก็จะนับเฉพาะเงินกู้ยืมเท่านั้น

4. Cash cycle

การที่บริษัทมีกำไรเติบโตดีไม่ได้แปลว่าเป็นธุรกิจที่ดีเสมอไป เพราะบางครั้งบริษัทปล่อยลูกหนี้เยอะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเงินหนี้ได้ครบหรือเปล่า บางทีโตดีไม่กี่ปี แต่พอปีถัดไปต้องตั้งหนี้สูญเยอะ สุดท้ายกำไรที่เคยดีหายไปหมด

คนทำธุรกิจจะรู้ว่าถ้าจะเอาของไปฝากขาย เราจะต้องนำเงินไปลงทุนผลิตก่อนถึงนำเงินไปฝากร้านค้า และกว่าที่เราจะได้รับเงินจากร้านค้าคือประมาณ 60 – 90 วัน ช่วงนั้นเราจะต้องหยุดผลิตเพราะเราต้องรอเก็บเงิน ต่อมาถ้าขายดีมากแล้วต้องการผลิตต่อเราจะต้องกู้ธนาคาร แปลว่าเราขยายงานก็จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ถ้าต้องกู้ธนาคารมาร้อยล้านเราก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละหลายล้าน เปรียบเทียบกับบริษัทดีๆที่ไม่มีต้นทุนตรงส่วนเกินตรงนี้ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีอัตราดอกเบี้ยทบต้นจะก่อเกิดความแตกต่างมหาศาล

ถ้าบริษัทมี Cash cycle ดี เวลาได้เงินมาไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บไว้เผื่อสินค้าคงคลังหรือเผื่อขยายงานในอนาคต ก็จะมีโอกาสจ่ายปันผลได้สูงหรือซื้อหุ้นคืน ท้ายที่สุดคือ เงินสดในอนาคตมีความเสี่ยงมากกว่าเงินสดในปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทที่สามารถหมุนสินค้ามาเป็นเงินสดได้เร็วก็ควรจะมีมูลค่าดีกว่า

5. Sustainability

ต้องรู้ว่าบริษัทมีลักษณะเป็นเพียงแฟชั่นที่เดี๋ยวก็จบไปหรือมีความยั่งยืน จะต้องเลือกธุรกิจที่มีความยั่งยืนสูง หมายความว่าธุรกิจจะต้องมีคนมาซื้อหรือใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าซื้อวันนี้แล้วอีกหลายปีค่อยกลับมาซื้อใหม่

6. Management quality

ถึงแม้บางครั้งธุรกิจที่ยอดเยี่ยมอาจจะไม่ได้ต้องการผู้บริหารที่เก่งมากนัก แต่การมีผู้บริหารที่เก่งก็ยังถือว่าดีกว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเก่งหรือไม่ สำคัญที่สุดคือจะต้องมีความซื่อสัตย์

7. Buy & Sell

ธุรกิจต้องมี ROE สูง มี Cash cycle ที่ดี มีศักยภาพที่จะยอดเยี่ยม เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนสูงก่อน ราคาเป็นเรื่องสุดท้าย และเราก็สามารถซื้อได้หากราคาเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องรอให้ราคาถูกเสมอ เพราะโอกาสที่ราคาจะถูกนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง

เมื่อซื้อแล้วราคาเป้าหมายถือเป็นเรื่องรอง ถ้า PE ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ไม่สูงเกินไปไม่ถูกเกินไปให้ถือไปเรื่อยๆจนกว่าธุรกิจจะอิ่มตัว น้อยครั้งมากที่เราจะพบหุ้นคุณภาพดี ถ้าเราเจอหุ้นคุณภาพดีเราจะไม่มีความกังวลว่าหุ้นจะลง ให้นักลงทุนคิดง่ายๆคือเราซื้อหุ้นเพราะคิดว่าหุ้นจะขึ้น ถ้าหุ้นนั้นจะสามารถทำ new high ได้ กำไรจะต้องมี new high

ทุกครั้งที่มีวิกฤติหรือมีความกังวลต่อเศรษฐกิจ ให้คิดง่ายๆว่าในอีก 2 – 5 ปี หุ้นที่เราถือตัวไหนจะมีกำไร new high ถ้ากำไรสามารถทำ new high ได้ ราคาหุ้นก็จะมี new high เกือบแน่นอนถ้าราคาหุ้นไม่ได้สูงเกินไป

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากฝากไว้คือ หลักการลงทุนก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือเราจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอและพัฒนาหลักการลงทุนให้เข้ากับตัวตนของเรา ไม่ว่าหลักการจะดีแค่ไหนหากมันไม่เหมาะกับเรามันก็จะไม่ทำให้เรามีความสุขในการลงทุน

อ่านบทความคุณประชาสอนการลงทุนได้ที่นี่ http://investdiary.co/2017/10/17/67/