ชำแหละองค์ประกอบของกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)

ในการประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Absolute Approach ตัวแปรสำคัญ คือ กระแสเงินสดที่ได้จากธุรกิจ การเติบโตของกระแสเงินสด (Growth, g) และอัตราคิดลด (Discount Rate) โดยเราจะคิดลดกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow, fcf) ในอนาคตกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ทำให้เราประเมินมูลค่าหุ้นได้ ซึ่งในการประเมินมูลค่าหุ้นค่อนข้างมีรายละเอียดมาก ดังนั้นเรามาเริ่มต้นจากการรู้จักกับกระแสเงินสดอิสระกันก่อนดีกว่า และบทความต่อไปเราจะมารู้จักกับการประมาณการเติบโตของกระแสเงินสด และ อัตราคิดลดกันต่อไป

กระแสเงินสดอิสระคืออะไร

กระแสเงินสดอิสระ คือ เงินสดที่เหลือจากการใช้จ่ายที่จำเป็นทุกอย่างแล้ว โดยการคำนวณกระแสเงินสดอิสระเราสามารถคำนวณได้หลายวิธี แต่ในบทความนี้จะแสดงวิธีคำนวณจากกระแสเงินสดจากการดำเนินการ (Cash Flow Form Operation, CFO) โดยเราสามารถคำนวณกระแสเงินสดอิสระได้โดย นำกระแสเงินสดจากการดำเนินการมาลบเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจ (Capital Expenditure, CAPEX) ออก ก็จะได้กระแสเงินสดอิสระ

FCF = CFO – CAPEX

CFO คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินการ

สำหรับกระแสเงินสดจากการดำเนินการ คือกระแสเงินสดที่เหลือจากการใช้จ่ายเพื่อให้กิจการดำเนินกิจการต่อได้ โดยคำนวณมาจาก กำไรสุทธิปรับด้วยส่วนที่ไม่ใช่เงินสดที่เพิ่มหรือลด (NCC) และลบกับเงินที่ใช้หมุนเวียนในกิจการ (CWC)

CFO = Net Profit + NCC – CWC

โดยที่ Net Profit หรือ กำไรสุทธิ คือ รายได้ที่หักต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีแล้ว

NCC คือ รายการที่ไม่ใช่เงินสดจริงๆ (Non Cash Charge)

NCC คือ รายการที่บันทึกว่ามีรายได้หรือการใช้จ่าย แต่เป็นรายการทางบัญชีไม่ได้มีเงินสดที่รับมาหรือใช้ไปจริงๆ ดังนั้นเราจะบวกกลับกรณีที่บันทึกในงบการเงินว่าเป็นค่าใช่จ่าย และลบออกถ้าบันทึกเป็นรายได้ เช่น บวกกลับค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Depreciation and Amortization) ที่เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีแต่ไม่ได้มีเงินสดจ่ายไปจริงๆ หรือ ลบผลกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแปลงค่าเงินต่างประเทศ เป็นต้น

WC (Working Capital)  หรือเงินทุนหมุนเวียน

WC คือเงินที่เราใช้เพื่อให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้ ยกตัวอย่างธุรกิจร้านค้าปลีก ร้านค้าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ามาเก็บไว้เพื่อรอขาย ก่อนที่จะขายสินค้าได้ เงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าจะเป็นเงินลงทุนจมไปกับสินค้าคงคลัง จนกว่าจะขายสินค้าได้แล้วจึงมีรายได้จากการขายสินค้าเข้ามาเป็นเงินสำหรับหมุนเวียนในร้านต่อไป ถ้ามีเงินในส่วนนี้น้อยไปก็จะไม่สามารถซื้อสินค้ามาสต็อกไว้เพื่อขายได้อีก ทำให้ร้านอาจจะต้องใช้การกู้มาเพื่อหมุนเวียนแทน เราสามารถคำนวณ WC ได้จากผลต่างของทรัพย์สินหมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน

WC = ทรัพย์สินหมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน

การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน CWC (Change in Working Capital)

CWC คือ การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนใน 1 รอบบัญชี พูดง่ายๆ คือ เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปีก่อนเท่าไหร่ เราสามารถคำนวณการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนได้ง่ายๆ ดังนี้

CWC = WC ปีนี้  – WC ปีก่อน

**อย่างไรก็ตาม เราจะไม่นำเงินสดมาคำนวณรวมในการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนนะครับ

เงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ (Capital Expenditure, CAPEX)

ตัวอย่าง CAPEX เช่น เงินลงทุนเพื่อสร้างสาขาใหม่

กระแสเงินสดอิสระเป็นกระแสเงินสดที่เหลือจากการใช้งานจริงๆ ที่สามารถนำไปใช้อะไรก็ได้  เช่น นำไปจ่ายเงินปันผล บริษัทที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินการเป็นบวกก็มีโอกาสที่กระแสเงินสดอิสระจะเป็นบวกด้วย บริษัทที่สร้างกระแสเงินสดอิสระได้มากและมีการเติบโตของกระแสเงินสดอิสระสูงจะทำให้มูลค่าบริษัทสูงตามไปด้วย ดังนั้นเราควรเลือกลงทุนในบริษัทที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินการและกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีครับ

** เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ THE LITTLE BOOK OF VALUATION โดยมีฉบับแปลไทยชื่อ การประเมินมูลค่าหุ้น