รู้จักการลงทุนแบบต่างๆ และการลงทุนแบบไหนเหมาะกับเรา

รู้จักการลงทุนแบบต่างๆ และการลงทุนแบบไหนเหมาะกับเรา

อยากจะเริ่มต้นลงทุนต้องรู้อะไรก่อน? จะลงทุนกับหุ้นหรือกองทุน มีวิธีการลงทุนแบบไหนบ้าง? การลงทุนแบบไหนดีที่สุด? ถ้าอยากจะรู้ ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ

ก่อนจะเรียนรู้วิธีการลงทุนรูปแบบต่างๆ เราอาจจะเริ่มก่อนว่าเราลงทุนเพื่ออะไร และเรารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้แค่ไหนครับ ซี่งวัตถุประสงค์และความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนก็จะต่างกันไปครับ

เช่น ถ้าเราเป็นนักศึกษาจบใหม่อาจจะอยากลองลงทุนดู และเรายังอายุไม่มากสามารถรับความเสี่ยงได้สูงอาจจะเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นก็ได้  

ถ้าเป็นวัยกลางคน เราอาจจะลงทุนแบบปลอดภัยมากขึ้น โดยลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์อื่น เช่น ตราสารหนี้มากขึ้น เพราะว่าเรามีภาระต้องดูแลครอบครัว การรับความเสี่ยงอาจจะลดลงและเงินที่เก็บออมมาเริ่มเป็นสัดส่วนที่สูงทำให้เราไม่อยากลงทุนในอะไรที่เสี่ยงมากเพื่อรักษาเงินก้อนนี้ให้อยู่กับเราอย่างมั่นคงโดยต้องการผลตอบแทนอยู่บ้าง

และเมื่อเกษียณเราอาจจะรับความเสี่ยงได้ต่ำก็อาจจะลงทุนเพื่อเงินปันผลหรือลงทุนแค่รักษามูลค่าเงินที่เก็บสะสมมาเท่านั้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงจะช่วยกำหนดการวางแผนในการลงทุนให้ดีขึ้น แต่หลัก ๆ ในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะวิธีการลงทุนเป็นหลักครับ

การลงทุนอาจจะแบ่งได้กว้าง ๆ 2 แบบ คือ การลงทุนด้วยตัวเองโดยตรงกับการลงทุนโดยให้คนอื่นบริหารให้ โดยเราจะเลือกการลงทุนด้วยตัวเราเองหรือว่าจะเลือกให้มืออาชีพมาบริหารให้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางส่วน

2 ปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจว่าจะเลือกลงทุนแบบไหน

1. เวลาที่ใช้ในการลงทุน

สำหรับการลงทุนด้วยตัวเองเราอาจจะต้องการเวลาในการศึกษาและติดตามการลงทุนค่อนข้างมากในระดับหนึ่ง และการลงทุนเองถ้าทำได้ดีผลตอบแทนอาจจะมากกว่าการให้มืออาชีพบริหารให้ แต่ก็มีโอกาสผิดพลาดได้มากกว่าเช่นกันครับ ดังนั้นสำหรับคนที่ต้องทำงานประจำหรือว่าต้องทำธุรกิจที่อาจจะไม่ได้มีเวลาศึกษาการลงทุนด้วยตัวเองมากอาจจะใช้บริการของมืออาชีพ เช่น บลจ. หรือ บลน. ครับ

2. ความรู้และความสนใจในการลงทุนของเรา

สำหรับการลงทุนด้วยตัวเองเราอาจจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องหลักการลงทุนแบบต่าง ๆ และเลือกว่าแบบไหนที่ตรงกับจริตเราและเลือกลงทุนตามแบบนั้น หรือหากเราไม่ได้ชอบเรื่องการลงทุน แต่ว่าเห็นว่าการลงทุนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เราอาจจะให้มืออาชีพบริหารให้ก็ได้ครับ

วิธีการลงทุนด้วยตัวเองกับการลงทุนแบบที่มีมืออาชีพมาบริหารให้แบบคร่าว ๆ 

1. การลงทุนเอง

ขอกล่าวถึงเฉพาะการลงทุนในหุ้นนะครับ โดยหลัก ๆ จะแบ่งเป็นการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานกับแนวการลงทุนทางเทคนิค (แนวทางอื่น ๆ เช่น Quant ผู้เขียนไม่มีความชำนาญขอไม่พูดถึงแล้วกันนะครับ)

การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่าแนว VI

การลงทุนแบบนี้ผู้ลงทุนจะสนใจในปัจจัยพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก คือเรื่องผลประกอบการหรือว่าผลกำไรของบริษัท ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

โดยเราอาจจะคาดการณ์ผลประกอบการได้จากปัจจัยเชิงปริมาณและปัจจัยเชิงคุณภาพ 

ปัจจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ งบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ

ส่วนปัจจัยเชิงคุณภาพ เช่น แนวทางในการดำเนินธุรกิจ (แผนกลยุทธ์ โมเดลธุรกิจ) ภาวะอุตสากรรม (เช่น มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมมากไหม อุตสาหกรรมยังเติบโตหรือเปล่า มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาไหม หรือว่ามีสินค้าหรือบริการอื่นที่ดีกว่าสินค้าและบริการของบริษัทหรือเปล่า) ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรายได้และต้นทุน (เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาตลาดของสินค้ากรณีเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราแลกเปลี่ยนหรือว่าค่าเงินกรณีต้องส่งออกหรือว่านำเข้า เป็นต้น) และ ตัวผู้บริหาร โดยอาจจะดูจากประสบการณ์และความสำเร็จที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

ผู้ที่ลงทุนจะประเมินมูลค่าของกิจการก่อนว่ากิจการนี้มีมูลค่าที่เหมาะสมประมาณเท่าไหร่ (ปกติมูลค่าพื้นฐานจะประมาณเป็นช่วง เช่น มูลค่าประมาณ 10-12 บาท) และจะเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่ากิจการ และถ้ากิจการยังดีอยู่ก็อาจจะถือหุ้นต่อไป และขายเมื่อพื้นฐานกิจการเปลี่ยน

ส่วนมากคนลงทุนในแนวนี้ สิ่งที่เขาจะทำคือเริ่มศึกษาบริษัทจากรายงานประจำปี หรือรายงาน 56-1 มีการไปฟัง Opportunity Day และเข้าประชุมผู้ถือหุ้นเป็นประจำ ถ้ามีโอกาสก็เข้าเยี่ยมชมกิจการ หรือถ้าเป็นกิจการที่เราเข้าถึงได้ง่าย เช่น ร้านค้าปลีกก็อาจจะเดินสำรวจและลองใช้บริการของบริษัทดู

การลงทุนในแนวนี้คือการซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานและไปขายที่ราคาสูงหรือเท่ากับมูลค่าพื้นฐาน หรือถือไว้ตราบที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทยังไม่เปลี่ยนไป

การลงทุนแนว Technical

สำหรับคนที่ลงทุนแนวนี้ ผู้ลงทุนจะสนใจที่การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเป็นหลัก และเชื่อว่าทุกอย่างถูกสะท้อนไว้ในราคาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการ ข่าวต่าง ๆ หรือปัจจัยอะไร คนที่ลงทุนในแนวนี้จะไม่สนใจในเรื่องปัจจัยพื้นฐานหรือถ้าจะสนใจก็ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกหุ้น แต่การเข้าซื้อหรือทำกำไรจะใช้กราฟเทคนิค โดยซื้อเมื่อแนวโน้มราคาเป็นเทรนด์ขาขึ้น แล้วไปขายเมื่อมีสัญญาณว่าราคาจะกลับเป็นขาลง หรือว่ากลับกันอาจจะทำการขาย Short ในช่วงที่ราคาเป็นขาลงเพื่อทำกำไรก็ได้  การซื้อไม่จำเป็นต้องซื้อตอนถูกอาจจะซื้อตอนแพงแล้วไปขายแพงกว่าก็ได้

จากที่ผมเคยสัมผัสมา คนที่ลงทุนเก่ง ๆ ทางด้านนี้จะมีการฝึกฝนการเทรดและลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลานานจนรู้ว่าต้องทำอะไรในจังหวะไหน และเน้นการทำกำไรให้ได้มากกว่าการขาดทุน เช่น ในการเทรดแล้วได้กำไร 3 ครั้งแต่ขาดทุน 5 ครั้งแต่ครั้งที่ได้กำไรได้มากกว่าครั้งที่ขาดทุนเพราะเมื่อเทรดผิดก็รู้จักการตัดขาดทุน (Cut Loss) ทำให้จำกัดการขาดทุนได้ แต่ครั้งที่ได้กำไรก็ปล่อยให้กำไรโตต่อไป (Let Profit Run)

2. การลงทุนแบบมีมืออาชีพมาบริหารให้

แบ่งกว้าง ๆ เป็นการลงทุนกับ บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และ บลน. (บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน)

การลงทุนผ่าน บลจ.

คือการที่นักลงทุนนำเงินไปให้ บลจ. บริหารให้ ซึ่งเมื่อจัดตั้งกองทุนและระดมเงินทุนมาได้แล้ว บลจ. จะนำกองทุนไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นกองทรัพย์สินที่แยกออกจากทรัพย์สินของ บลจ. ทำให้แม้ว่า บลจ. จะปิดตัวลง กองทุนก็จะยังคงอยู่และสามารถย้ายไปบริหารที่ บลจ. แห่งใหม่ได้

โดย บลจ. จะออกกองทุนรวมเพื่อระดมเงินลงทุนจากนักลงทุน และจะนำเงินที่ได้มาบริหารตามนโยบายที่ประกาศไว้ เช่น กองทุนตราสารทุนจะนำทรัพย์สินที่มีไปลงทุนในตราสารทุนไม่น้อยกว่า 65% กองทุนตราสารหนี้จะลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้เท่านั้น หรือกองทุนทองคำที่เน้นลงทุนในทองคำโดยตรงหรือลงทุนในกองทุน ETF ต่างประเทศที่ลงทุนในทองคำโดยตรงอีกที เป็นต้น

ผลการดำเนินการจากกองทุนรวมจะขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก ซึ่ง บลจ. ในประเทศไทยมีกองทุนมากกว่า 1,000 กองให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน และการลงทุนในกองทุนรวมใช้เงินลงทุนไม่มากบาง บลจ. เริ่มต้นที่ 500 บาท ก็มีครับ

สำหรับวิธีการบริหารของผู้จัดการก็เหมือนกับวิธีการบริหารด้วยตัวเอง (สำหรับกองทุนตราสารทุน) คือใช้ปัจจัยพื้นฐาน และ Technical แต่โดยส่วนมากจะเป็นการใช้ปัจจัยพื้นฐานมากกว่า เพียงแต่ผู้จัดการกองทุนอาจจะมีจุดเด่นที่ทำให้บริหารได้ดีกว่าการที่เราบริหารเองตรงที่ผู้จัดการกองทุนเป็นมืออาชีพที่ต้องผ่านการทดสอบใบอนุญาตและมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนอย่างดี และยังสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล เช่น การเข้าพบผู้บริหารเพื่อสอบถามข้อมูลของบริษัทได้บ่อยกว่านักลงทุนทั่วไป

แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยก็อาจจะมีข้อได้เปรียบผู้จัดการรกองทุนในแง่ที่ว่าสามารถเลือกลงทุนในหุ้นได้โดยมีข้อจำกัดน้อยกว่า เช่น เลือกลงทุนหุ้นขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ในขณะที่กองทุนอาจจจะถูกจำกัดโดยนโยบายว่าจะลงทุนในหุ้นแบบไหน เป็นต้น

กองทุนส่วนบุคคล

เป็นการที่เจ้าของทรัพย์สินมอบหมายให้บริษัทจัดการนำไปแสดงหาผลประโยชน์ในการลงทุนให้ โดยที่กองทุนส่วนบุคคลไม่ได้เป็นนิติบุคคลแยกจาก บลจ. เหมือนกองทุนรวม สำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนแบบนี้อาจจะต้องมีเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไป

บลน. หรือ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน

เป็นธุรกิจแบบใหม่ในเมืองไทย แต่ต่างประเทศมีมานานแล้ว ซึ่ง บลน. จะไม่ได้บริหารเงินให้กับนักลงทุนโดยตรงแต่จะเป็นผู้แนะนำกองทุนรวมให้แก่นักลงทุน และอำนวยความสะดวกเรื่องการซื้อขายให้ (เช่น การมีระบบซื้อขาย และระบบการติดตามพอร์ตการลงทุนให้นักลงทุน)  บาง บลน. มีระบบช่วยคัดเลือก ให้ข้อมูลกองทุนแล้วให้ลงทุนผ่าน บลน. หรือบาง บลน. มีบริการจัดพอร์ต และคัดเลือกกองทุนให้นักลงทุนตามวัตถุประสงค์ในการลงทุน

สำหรับ บลน. FINNOMENA  เป็น บลน. ที่มีโมเดลในการจัดพอร์ตและคัดเลือกกองทุนในพอร์ตให้กับนักลงทุน โดยมี FINNOMENA Investment Team ทำหน้าที่ร่วมกับ Robo Advisor คอยทำหน้าที่วิเคราะห์สภาวะตลาดและเศรษฐกิจแบบ Top Down Approach มองเศรษฐกิจจากภาพใหญ่ คัดเลือกประเภททรัพย์สินและภูมิภาคที่น่าลงทุน รวมถึงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มีผลต่อการขึ้นดอกเบี้ยและมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดตราสารทุน (ปกติการที่ดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นมีความน่าสนใจลดลงเพราะตราสารที่เสี่ยงต่ำกว่าอย่างตราสารหนี้ปรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นคนอาจจะหันไปซื้อตราสารหนี้มากกว่าเพราะว่าความเสี่ยงต่ำกว่า) หรือผลกระทบกับตลาดตราสารหนี้  หรือสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ (โดยปกติทองคำแปรผกผันกับเงินดอลล่าร์ ถ้าเงินดอลล่าร์แข็งค่าทองคำมักจะมีราคาลดลง ตรงกันข้าม ถ้าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าทองคำจะมีทิศทางราคาปรับขึ้น ดังนั้น โดยส่วนมากทองคำจะเป็นสินทรัพย์สำหรับการบริหารความเสี่ยงของพอร์ต คือ ช่วยทำให้พอร์ต ไม่ปรับขึ้นหรือลงมากจนเกินไป เวลาตลาดหุ้นเป็นขาลงพอร์ตที่มีทองคำอยู่ด้วยจะปรับลงไม่มากเท่ากับการมีแค่หุ้นอย่างเดียว)

FINNOMENA ทำการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้และจัด Asset Allocation เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอในทุกสภาวะตลาดและสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทั้งคัดเลือกและติดตามผลการดำเนินการของกองทุน ทั้งปัจจัยเชิงปริมาณ เช่น ผลการดำเนินการในอดีต และปัจจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ วิธีการบริหารงานของผู้จัดการกองทุน ความรู้และประสบการณ์ของผู้จัดการกองทุน หรือแม้แต่ภาวะในอุตสาหกรรมกองทุน เช่น การตัดสินใจย้ายงานของผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อ Performance ของกองทุนเช่นกัน ทาง FINNOMENA  มีการวิเคราะห์และติดตามเพื่อนำมาซึ่งคำแนะนำที่ดีที่สุดเสมอ

การเริ่มลงทุนกับ FINNOMENA  ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากครับ สำหรับพอร์ตที่มีการลงทุนแบบ DCA  คือ เริ่มต้นที่ 5,000 และรายเดือนเริ่มต้นเดือนละ 2,500 บาท เพื่อการวางแผนระยะยาว เช่น แผนการเกษียณ หรือสำหรับนักลงทุนที่มีเงินก้อนมาลงทุนตั้งแต่ 1  ล้านบาทขึ้นไป FINNOMENA ก็มีโมเดลพอร์ตสำหรับวัตถุประสงค์การลงทุนต่าง ๆ เช่น ต้องการผลตอบแทนจากเงินปันผล 4-5% ต้องการให้เงินเติบโตแบบเสี่ยงปานกลางที่ 8% ต่อปี ต้องการให้เงินเติบโตแบบเสี่ยงสูงที่ 15% ต่อปี หรือต้องการปกป้องมูลค่าเงินจากเงินเฟ้อ  ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนครับ

สุดท้ายแล้วการเลือกลงทุนแบบไหน ขึ้นอยู่กับตัวผู้ลงทุนเองว่ามีความชอบ ความถนัดหรือว่ามีเงื่อนไขในการลงทุนอย่างไร ไม่มีการลงทุนแบบใดเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด ทุกคนมีความเหมาะสมกับการลงทุนแต่ละแบบแตกต่างกัน การลงทุนที่ดีที่สุดคือการเลือกการลงทุนที่เหมาะกับเรามากที่สุดเท่านั้นครับ


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน

ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต

การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงินและมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้ และในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติ ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือ อาจไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตามที่มีคำสั่งไว้ นอกจากนี้ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้