วัดความแข็งแกร่งของป้อมปราการบริษัทด้วย WACC และ ROIC

บทความที่แล้ว เรื่อง Moat (โดยเนื้อหาบางส่วนของบทความมาจากหนังสือ หุ้นดีต้องมีปราการ (Why Moats Matter : The Morningstar Approach to Stock Investing)) เราได้พูดถึง ROIC กับ WACC ไปแล้ว ซึ่งบริษัทที่มี Moat จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุนหรือ ROIC (Return on Investment Capital) สูงกว่า WACC หรือว่าต้นทุนเงินลงทุนเฉลี่ย

และในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก WACC และ ROIC กันครับ

WACC กับ ROIC คืออะไร?

อาจจะอธิบายได้ง่ายๆ ว่า ถ้าเราทำธุรกิจ เราจะมีต้นทุนในการทำธุรกิจ ซี่งก็คือ WACC (ต้นทุนจากการกู้ยืมและต้นทุนจากเงินลงทุนของเราเอง) และผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ คือ ROIC ถ้าทำธุรกิจแล้ว ผลตอบแทนต่ำกว่าต้นทุน เราก็อาจจะเลือกไม่ทำธุรกิจนั้น ปรับปรุงให้ธุรกิจดีขึ้นหรืออาจจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า

สำหรับเนื้อหาด้านล่าง จะพูดถึงการคำนวณ WACC และ ROIC ครับ ซึ่งอาจจะดูซับซ้อนซักหน่อย แต่ว่าหลักการของ WACC กับ ROIC คือ การวัดความคุ้มค่าในการลงทุนเท่านั้นเองครับ

WACC (Weighted-Average Cost of Capital)

WACC คือต้นทุนเงินลงทุนเฉลี่ยของกิจการ ว่าการประกอบกิจการนี้มีต้นทุนการลงทุนเท่าไหร่ เราใช้ WACC ในการประเมินว่าควรลงทุนในโครงการนี้หรือไม่ (โดยการเปรียบเทียบกับ IRR, Internal Rate of Return ถ้า IRR > WACC จึงจะลงทุนในโครงการนั้น) หรือใช้คิดลดกระแสเงินสดอิสระ เพื่อประเมินมูลค่ากิจการ การคำนวณ WACC ทำได้ดังนี้

WACC = We*Ke +Wd*Kd *(1-T)

We คือ สัดส่วนของผู้ถือหุ้น คำนวณจาก

We = ส่วนของผู้ถือหุ้น /(ส่วนของผู้ถือหุ้น+หนี้สินที่มีดอกเบี้ย)

Wd คือ สัดส่วนของเจ้าหนี้ คำนวณจาก

Wd = หนี้สินมีดอกเบี้ย /(ส่วนของผู้ถือหุ้น+หนี้สินที่มีดอกเบี้ย)

** ส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสามารถหาได้จากงบดุลของบริษัท

Ke  คือ ต้นทุนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น (Cost of Capital) คำนวณจากสูตร CAPM

Kd คือ ต้นทุนเงินลงทุนของเจ้าหนี้ (Cost of Debt) ต้นทุนส่วนนี้ต้องลบอัตราภาษีออก เพราะว่าบริษัทสามารถนำดอกเบี้ยจ่ายไปลดภาษีได้

** Kd สามารถหาได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของหุ้นกู้ที่บริษัทออก

T คือ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในที่นี้ของไทยใช้ 20%

สำหรับสูตร CAPM หรือ Capital Asset Pricing Model เป็นสมการสำหรับคำนวณต้นทุนเงินลงทุนของบริษัท โดย Ke จากสูตร CAPM คำนวณได้ดังนี้

Ke = Rf + B*(Rm-Rf)

Rf คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี

Rm คือ อัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้น โดยอาจจะใช้ค่าอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นย้อนหลัง ตั้งแต่จัดตั้งตลาดหุ้นที่ 12 % ครับ

B คือ ค่าเบต้าของหุ้น หรือว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนี หุ้นที่มีค่า B มากกว่า 1 คือ หุ้นที่ราคาหุ้นจะมีความผันผวนมากกว่าตลาด ส่วนหุ้นที่มีค่า B น้อยกว่า 1 คือ หุ้นที่มีความผันผวนของราคาน้อยกว่าตลาด โดยค่า B  สามารถหาได้จาก Fact Sheet ของหุ้น ในเว็บตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ครับ

ROIC (Return on Investment Capital)

ROIC คือ อัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัท คล้าย ๆ ROE แต่ว่า ROIC จะวิเคราะห์ กำไรต่อสินทรัพย์ที่ใช้ในการลงทุน ซึ่งนอกจากส่วนของผู้ถือหุ้นอาจจะรวมส่วนของหนี้สินระยะยาวด้วย หรือเลือกทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการดำเนินการของบริษัทจริงๆ มาจากงบดุลเลยก็ได้ครับ เช่น สินทรัพย์ถาวร เงินสด สินค้าคงคลัง เป็นต้น

ROIC = EBI / IC

โดย EBI หรือ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย (Earning Before Interest) คำนวณ EBI ได้จากการเอา NP + I * (1-T) หรือกำไรสุทธิบวกกลับด้วยดอกเบี้ยที่ลบออกด้วยภาษีของดอกเบี้ยนั้น

IC หรือ Investment Capital อาจจะประมาณได้โดย

IC = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้ระยะยาว

หรือคำนวณจาก

Operating Asset – Operating Liability

โดย Operating Asset คือ ทรัพย์สินที่ใช้ดำเนินการ เช่น สินทรัพย์ถาวร (เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์) เงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เป็นต้น

และ Operating Liability  คือ หนี้สินที่ใช้ในการดำเนินการ เช่น เจ้าหนี้การค้า Overdraft เป็นต้น

สำหรับบริษัทที่สร้าง ROIC ได้สูงกว่า WACC หมายความว่าบริษัทสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย ผลตอบแทนส่วนนี้เรียกว่าผลตอบแทนส่วนเกิน (Excess Return) เช่น ถ้าบริษัทมี ROIC  20% ขณะที่ WACC 10% เท่ากับว่าบริษัททำผลตอบแทนส่วนเกินได้ 10% แปลว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรคุ้มค่าเงินลงทุน ทำให้ในระยะยาวราคาหุ้นของบริษัทจะเพิ่มขึ้นตราบเท่าที่ ROIC ยังมากกว่า WACC อยู่ครับ ดังนั้นถ้าเราเลือกลงทุนในบริษัทแบบนี้เราก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีครับ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว ROIC จะเข้าสู่ WACC ในที่สุด จากการแข่งขันที่มากขึ้น การมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งเข้ามาแข่งขัน หรือการมีสินค้าทดแทน

** เนื้อหาบางส่วนของบทความมาจากหนังสือ หุ้นดีต้องมีปราการ  (Why Moats Matter : The Morningstar Approach to Stock Investing)