หากนาย “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ภาค 2)
คอลัมน์ เกี่ยวอะไรกับเรา?  ห่างหายไป 6 ปี ไม่คาดว่าจะกลับมาในฉบับที่ #35 บนหัวข้อเดิมแต่ถือเป็นภาค 2 ซึ่งจะขอแบ่งเป็นสองตอน โดยในตอนแรกนี้ จะพิจารณาถึงโอกาสความน่าจะเป็นของการรับตำแหน่งในวาระที่สอง รวมถึงผลกระทบภูมิรัฐศาสตร์โลกในอนาคต

I. โอกาสของรัฐบาลทรัมป์ 2

ผล “การเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค” หรือที่เรียกกันว่า “ซูเปอร์ ทิวส์เดย์” (Super Tuesday) เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ ทำให้การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 น่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรคริพับลิกัน และจะเป็นการรีแมตช์คู่ชิงประธานาธิบดีในปี 2563
ถึงแม้ว่าทรัมป์ ยังมีคดีที่ต้องสะสางอีกมากมาย แต่ข้อมูลล่าสุดจากหลายเว็บพนันออนไลน์ในสหรัฐฯ (ข้อมูล ณวันที่ 8 มีนาคม) ให้ความน่าจะเป็นที่ 54% ว่าทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งปี’67 เปรียบเทียบ โอกาสของ ไบเดน ที่ 29% ซึ่งหากผลเป็นตามคาดการณ์ ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดี คนที่สอง ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่สามารถกลับมาในตำแหน่งสมัยที่สอง หลังเว้นวรรคทางการเมืองไปหนึ่งสมัย โดยก่อนหน้ามีเพียง สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ประธานาธิบดีคนที่ 24 ที่ทำสำเร็จในปี 2436

II. ผลกระทบภูมิรัฐศาสตร์โลก

ชัยชนะครั้งแรกของทรัมป์ ใน ปี 2560 ประชาคมโลก ยังคงเชื่อว่าสหรัฐฯ จะกลับมาสู่แนวทางเดิมในการเป็น “ผู้นำค่ายโลกเสรี” แต่ชัยชนะครั้งที่สองนี้ จะทำให้บทบาทของการเป็น “ตำรวจโลก” และ “นักการทูตแห่งโลกเสรีนิยม” ที่เป็นผู้นำด้าน สิทธิมนุษยชน สาธารณสุข รวมถึง การรับมือความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ของสหรัฐฯ สิ้นสุดลง ผ่านการกลับมาของนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First Policy)
การกลับมาในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจของทรัมป์ ที่กังวลกับความถูกต้องทางการเมืองน้อยลง สามารถเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พร้อมที่จะเดิมพันบนความรู้สึก และตัดสินใจด้วยตนเอง โดยไม่คำนึงถึง การสนับสนุน ของรัฐสภาฯ  ซึ่งอาจเห็นได้จากเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น การเผชิญหน้ากับ คู่ค้าอันดับต้นของสหรัฐฯ อย่างเม็กซิโก จากนโยบายการเนรเทศแรงงานชาวเม็กซิโก ที่แฝงตัวในสหรัฐฯ รวมถึงการใช้กำลังทางทหารกับ แก๊งค้ายาเสพติดเม็กซิโก ซึ่งจะละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศเม็กซิโก ทำให้สหรัฐฯมีปัญหาในระยะประชิดตัว รวมถึงการออกจาก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ถึงจะทำได้ไม่ง่าย แต่เชื่อว่าทรัมป์ จะลดการสนับสนุนทางทหารให้ยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาติสมาชิกและบั่นทอนศักยภาพของ NATO โดยรวม พร้อมเพิ่มความชอบธรรม ให้กับรัสเซียและผู้นำเผด็จการขวาจัดอื่นๆของโลก
หากเรามอง NATO เป็นกำแพงความมั่นคงฝั่งยุโรปของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ก็เป็นปราการด่านสำคัญทางฝั่งแปซิฟิก แต่นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม ผ่านความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ทรัมป์มองกลยุทธ์ระยะสั้นตามอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง ในการถอนกำลังทหารจากเกาหลีใต้ การสร้างสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเกาหลีเหนือ รวมถึงการลดการสนับสนุนและเพิ่มการกีดกันทางการค้ากับญี่ปุ่น  ซึ่งจะเพิ่มความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีจนทำให้อิทธิพลในภูมิภาคของสหรัฐฯ อ่อนลง
นอกจากนี้ ความตึงเครียดระหว่างขั้วมหาอำนาจ จีนและสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ อินเดีย บริหารความสัมพันธ์ สามเส้า ระหว่าง รัสเซีย และสหรัฐฯ ได้อย่างลงตัว ซึ่งหากนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ได้รับการเลือกตั้งในสมัยที่สอง ความต่อเนื่องทางนโยบาย จะทำให้บทบาทอินเดีย ในฐานะผู้นำของ “โลกใต้” (Global South) จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม อีกหนึ่งตัวแปรในระยะกลางและยาว คือการที่ สหรัฐฯ ละเลยความสำคัญของทวีปแอฟริกา ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นทวีปที่มีความสำคัญในเชิงทรัพยากรธรรมชาติ ยังมีทรัพยากรมนุษย์ ที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี เมื่อเทียบกับ 40 ปี ของสหรัฐฯและจีน และภายในปี 2593 หนึ่งในสามของแรงงานวัยทำงานโลกจะอยู่ในทวีปนี้  โดยในทางกลับกัน จีนได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในแอฟริกามาหลายทศวรรษ
แต่สิ่งที่คาดเดายากที่สุดคือ แนวทางการปฏิบัติต่อจีน ซึ่งผมเชื่อว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของพรรคริพับลิกัน คงหวังให้ความขัดแย้งกับจีน เป็นรากฐานนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพื่อกีดกันจีน ดึงพันธมิตร NATOในยุโรปให้ต่อต้านจีน ส่วนนโยบายทางเศรษฐกิจ เน้นค้าขายกับประเทศพันธมิตรเพื่อ สร้างความได้เปรียบเหนือจีน แต่อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถทิ้งความเป็นไปได้ถึง การใช้อารมณ์เหนือเหตุผลของทรัมป์ ที่จะกลับมาดำเนินนโยบายการแข่งขันระยะสั้น เช่นการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่ 60% ตามประกาศ หรือการถอนตัวจากพันธมิตรและความร่วมมือ ที่อาจสร้างโอกาสของสหรัฐฯในอนาคต
จากฉากทัศน์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น มีความเป็นไปได้ว่า การสิ้นสุดความเป็น “ผู้นำโลก” ของสหรัฐฯ น่าจะเกิดขึ้น และทำให้ “ระเบียบโลกใหม่“  มีผู้นำที่เพิ่มขึ้น ตามเขตอิทธิพลของตน
ในฉบับต่อไป ผมจะวิเคราะห์ผลกระทบอาเซียน และสรุปแนวทางการรับมือของประเทศไทย จากโอกาสของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

Kris Chantanotoke

iran-israel-war