ตลาดทั่วโลกถูกกดดันอีกครั้งจาก "โดนัลด์ ทรัมป์"

ตลาดทั่วโลกถูกกดดันอีกครั้งจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้าโลก ทางด้านเฟดมีมติคงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยรวม 3 ครั้งในปีนี้ สำหรับตัวเลขการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจ

สหรัฐอเมริกา

  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 1.50 – 1.75%ตามคาด โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง ในขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 2561 และ 2562 ขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% และ 2.1% สู่ 2.7% และ 2.4% ตามลำดับและคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าโลก
  •  คำสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือน ก.พ. หลังจากร่วงลง 3.5% ในเดือน ม.ค. ในขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐานเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 โดยเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือน ก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ม.ค.
  • ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 3% สู่ 5.54ล้านยูนิตต่อปีในเดือน ก.พ.
  • จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ 229,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มี.ค.

ยุโรป

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบรวมของยูโรโซน ในเบื้องต้นลดลงจาก 57.1 ในเดือน ก.พ. สู่ 55.3 ในเดือน มี.ค. โดย PMI ภาคการผลิตลดลงจาก 58.6 สู่ 56.6 และ PMI ภาคบริการลดลงจาก 56.2 สู่ 55.0
  • ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของเยอรมนีดิ่งลงในเดือน มี.ค. จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าและการแข็งค่าของเงินยูโร

สหราชอาณาจักร

  • อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. ชะลอลงจากเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือน ม.ค. เนื่องจากราคาอาหารและน้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
  • จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้น 9.2 พันรายในเดือน ก.พ. ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงจาก 4.4% ในเดือน ธ.ค. สู่ 4.3% ในเดือน ม.ค.

ญี่ปุ่น

  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน ม.ค.
  • ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. และยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 16.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3.4 พันล้านเยน

 ไทย

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 16.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 19.33% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. นำโดยนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น 51.95% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลของเทศกาลตรุษจีน

ตลาดตราสารหนี้

สหรัฐอเมริกา

  • คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 1.50 – 1.75% ตามคาด แต่อย่างไรก็ดี กรรมการ 7 จาก 15 ท่านคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 4 จาก 16 ท่านในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. นอกจากนี้ คาดการณ์ล่าสุดของเฟดบ่งชี้ว่า คณะกรรมการคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น และอัตราการว่างงานจะลดลงในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • รัฐบาลสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้าที่สหรัฐฯมองว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการพุ่งเป้าไปที่จีน โดยในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ส่งผลให้ตลาดกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯอาจมีมาตรการที่รุนแรงขึ้น และอาจมีการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้า
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 0.01 – 0.06% เนื่องจากตลาดต้องการเลี่ยงความเสี่ยง

ยุโรป

  • PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนลดลงสู่ 56.6 ในเดือน มี.ค. จาก 58.6 ในเดือน ก.พ. ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินยูโรส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกน้อยลง  ส่วน PMI ภาคบริการปรับตัวลดลงเช่นกันสู่ 55.0 จาก 56.2 ส่งผลให้ PMI แบบรวมลดลงสู่ 55.3 จาก 57.1 โดยเป็นการลดลงมากกว่าที่คาด

เอเชีย

  • ยอดส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่มขึ้น 12.3% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการที่ตัวเลขส่งออกลดลงอย่างมากจากเดือน ม.ค. เป็นผลมาจากวันตรุษจีน ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 16.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่มขึ้น 7.9% ในเดือนก่อนหน้า ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. เร่งตัวจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนก่อนหน้า สำหรับยอดส่งออกที่ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในเดือนก่อนหน้า
  • ธนาคารกลางจีนประกาศขึ้นดอกเบี้ย reverse repo อายุ 7 วัน 0.05% สู่ 2.55% หลังจากเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ได้ให้คำมั่นว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่รอบคอบและเป็นกลาง พร้อมทั้งเผยว่าจะมีการปฏิรูปและประกาศมาตรการเปิดเสรีในหลายๆด้านในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า

ที่มา: Bloomberg

ปัจจัยที่น่าติดตาม

  • สำหรับข้อมูลที่ต้องติดตามในรอบสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซน (อังคาร) จีดีพีไตรมาส 4/60 และยอดทำสัญญาบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐฯ (พุธ) ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น (พฤหัสบดี) รายได้ส่วนบุคคลและการใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (พฤหัสบดี) และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (ศุกร์)

ตลาดภายในประเทศ

  • ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่มขึ้น 17.6% ในเดือน ม.ค. ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกข้าว รถยนต์ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากพุ่งขึ้น 24.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของการนำเข้าเหล็ก ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าการเติบโตของการส่งออกของปีนี้ไว้ที่ 8%
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นดิ่งลงหลังการประกาศรายละเอียด bond switching โดยอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง 0.06% ถึงเพิ่มขึ้น 0.01%
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตามในรอบสัปดาห์ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. (พุธ) ดัชนีผลผลิตภาคการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิต (พฤหัสบดี) และรายงานเศรษฐกิจเดือน ก.พ. (ศุกร์)

ที่มา: Bloomberg

ตลาดตราสารทุน

ภาวะตลาดโลก

  • ดัชนีตลาดหุ้นหลักของสหรัฐดิ่งลง 3.7 – 4.2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากจีน ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้ตลาดกระทิงที่ดำเนินมา 9 ปีสิ้นสุดลง ทั้งนี้ จีนอยู่ระหว่างพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐฯ
  • เฟด ภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานคนใหม่ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยสู่ 1.5 – 1.75% และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นในปี 2562 และ 2563 เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยังคงคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยรวม 3 ครั้งในปีนี้
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 6.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมองว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯและมกุฏราชกุมารของซาอุดิอาระเบียอาจกำลังพิจารณาที่จะตอบโต้อิหร่าน
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมีมากขึ้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน ส่งผลให้จีนเตรียมตัวที่จะตอบโต้ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าโลก

ตลาดภายในประเทศ

  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดที่ 1,794.21 จุด ลดลง 0.97% จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยที่สินค้าอุตสาหกรรมยังคงเป็นตัวนำ ในขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวเล็กน้อย ถึงแม้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ตาม
  • ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของไทยเพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และการออกรถรุ่นใหม่  ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ภายในประเทศปีนี้จะอยู่ที่ 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อนหน้า

ทีมา: Bloomberg

ที่มาบทความ : https://www.krungsriasset.com/TH/Market-View/Weekly-Market-View/189.html

คำเตือน

การนำเสนอข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล อย่างไรก็ตามบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (“บริษัทจัดการ”)  ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดได้  โดยไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
 
การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ข้อมูลราคา/ผลตอบแทนในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงราคา/ผลตอบแทนในอนาคต เอกสารนี้มิใช่หนังสือชี้ชวนและจัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเป็นการทั่วไปเท่านั้น 
หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอดูหนังสือชี้ชวน โปรดติดต่อ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรีจำกัด โทร 0 2657 5757 หรืออีเมล krungsriasset.clientservice@krungsri.com