สงคราม AI ระหว่าง จีน กับ สหรัฐ

ณ ช่วงที่การเจรจาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้าย ท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตรเทคโนโลยี 5G จากหัวเว่ย ที่นำโดยสหรัฐ โดยอ้างปัญหาการเข้าถึงข้อมูลลับจากรัฐบาลจีน แม้จะรู้ดีกันในวงการกันว่าหัวเว่ยมีความล้ำหน้าทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวมากกว่าคู่แข่งอย่างสหรัฐเป็นอันมาก

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง รวมถึงข้อได้และเสียเปรียบระหว่างจีนกับสหรัฐ ทางด้านเทคโนโลยี ผมจึงขอนำมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน อย่าง ไค ฟู ลี อดีตประธาน Google China ที่ออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า AI Super-Powers โดยผมขอนำเนื้อหาหลักจากหนังสือมาอธิบายความแตกต่างระหว่างจีนกับสหรัฐ สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ดังนี้

ลี ได้เริ่มต้นให้เห็นศึก AI ระหว่าง จีน กับ สหรัฐ นี้ จากสิ่งที่เรียกว่า ช่วงเวลาแห่ง Sputnik ที่จีนเองเริ่มตระหนัก เมื่อโปรแกรม AlphaGo ของ Google DeepMind สามารถเอาชนะแชมป์เปี้ยนเกมโก๊ะชาวจีน นั่นแสดงถึงศักยภาพของ AI ในยุคใหม่ ทว่านั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่สหรัฐเองเริ่มที่จะเรียนรู้ว่า สหรัฐเองมิได้เป็นผู้นำของเทคโนโลยีด้านประยุกต์ของ AI ในโลกอีกต่อไป เปรียบได้กับเมื่อสหรัฐพบว่ายานอวกาศแรกที่ออกสู่วงโคจรคือยาน Sputnik ของสหภาพโซเวียตในปี 1957 จากนั้นจึงนำไปสู่สงครามการเข่งขันด้านอวกาศ ซึ่งอย่างที่ทราบกันคือสหรัฐมีชัยในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ลีไม่ได้ปฏิเสธว่าหากเปรียบเทียบด้านนวัตกรรมที่เป็นความรู้พื้นฐานของ AI จีนไม่อาจเทียบกับสหรัฐได้ อย่างไรก็ดี เขามองว่านั่นไม่ใช่ประเด็นเนื่องจากระดับความรู้พื้นฐานดังกล่าวได้อิ่มตัวไปเรียบร้อยแล้ว

จุดที่ตัดสินว่าใครจะเผด็จศึกในสงคราม AI ครั้งนี้ คือการนำไปใช้ในโลกแห่งความจริงที่ชาวโลกจะอยู่กับมันในชีวิตประจำวันต่างหาก

ซึ่งตรงจุดนี้ จีนได้เปรียบสหรัฐอยู่ในหลายจุด ดังนี้

1. ด้วยจิตวิญญาณที่ต้องแข่งขันกันตั้งแต่เกิดมา และสัญชาตญาณความเป็นเถ้าแก่ อย่างที่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ได้เคยให้นิยามไว้ว่า เคลื่อนทัพให้ไวและถล่มจนกระเจิง หรือ “move fast and break things” โดยลีได้อธิบายว่าภาคเอกชนของจีนดำเนินธุรกิจแบบถึงลูกถึงคนและเลียนแบบอย่างทันควัน ส่งผลให้ธุรกิจของจีนสามารถเอาชนะคู่แข่งจากตะวันตกในตลาดเมืองจีนเอง

นอกจากนี้ แบบจำลองธุรกิจของจีน ที่ถือคติลองผิดลองถูกแบบไม่ยั้งมือจนชนะได้ ดูจะเหมาะกับตลาดในเมืองจีนมากกว่าสไตล์การทำธุรกิจของตะวันตกที่เน้นทำธุรกิจแบบเน้นปลอดภัยไว้ก่อน กล่าวโดยย่อ คือ สไตล์ธุรกิจของจีนอาจจะดูไม่มีประสิทธิภาพที่ต้องใช้ input ในการลองผิดลองถูกมาก ทว่ามีประสิทธิผล เนื่องจากท้ายสุดแล้วสามารถมีชัยในธุรกิจได้

2. โครงสร้างการอยู่อาศัยของชาวจีนที่อยู่กันแบบกระจุกตัว ส่งผลให้เกิดอุปสงค์อย่างมหึมาสำหรับธุรกิจ Delivery และบริการอื่นๆ ในขณะที่สตาร์ตอัพของสหรัฐเน้นที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรู้ดีอยู่แล้ว นั่นคือสร้างแพลตฟอร์มแนวดิจิทัลเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ด้วยการที่จีนลงมือทำธุรกิจแบบขลุกกับลูกค้าจริงๆ จึงสามารถผสมระหว่างโลก Online กับ Offline ได้

3. ด้วยการที่จีนยังล้าหลังสหรัฐในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่งผลให้จีนสามารถกระโดดข้ามเทคโนโลยีช่วงกึ่งกลางที่ไม่จำเป็น หรือที่เรียกว่า Leapfrog อาทิ ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลข้ามโลก ที่จีนใช้เทคโนโลยีแบบใหม่เอี่ยม ขณะที่สหรัฐยังคงใช้เทคโนโลยีเดิมอยู่

4. จีนมีขนาดของลูกค้าที่ใหญ่มาก โดยจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของจีนยังมากกว่าเมื่อรวมผู้ใช้ของสหรัฐกับยุโรปเข้าด้วยกันเสียอีก หากข้อมูลถือเป็นเชื้อเพลิงที่จะส่งผลต่อการเกิดการปฏิวัติด้าน AI ให้เร็วขึ้น จีนจึงถือว่าได้เปรียบกว่าคู่แข่งอื่นหลายขุม

5. จีนยังมีบทบาทของรัฐบาลที่คอยให้ช่วยเหลือธุรกิจของระเทศตนเองเป็นอย่างดี ลีได้อ้างสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี หลี เค่อ เฉียง ในปี 2014 ที่ World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ว่านายกฯ หลีได้เรียกร้องให้เกิด การสร้างธุรกิจใหม่และนวัตกรรมในระดับ มวลชนหรือ “mass entrepreneurship and mass innovation” โดยจากรายงานของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ของรัฐบาลจีนที่มีเป้าหมายที่ทะเยอทยานและเต็มใจที่จะเสี่ยงเพื่อให้การพัฒนาด้าน AI ของจีนสามารถไปสู่ในจุดสุดยอดของโลก ส่งผลให้การสร้าง infrastructure ด้าน AI ของจีนสามารถทำได้ง่ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ท้ายสุด ลีได้ให้ความเห็นว่าชาวจีนไม่ค่อยซีเรียสกับข้อมูลส่วนตัว ว่าจะนำไปใช้อย่างไรโดยทางการจีน ซึ่งผิดกับชาวตะวันตกที่ห่วงแหนความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตนเองมากกว่าเยอะ

หากพิจารณาลงไปในสมรภูมิของ AI ในสาขาต่างๆ จะพบว่า มีอยู่ 4 สาขาหลัก ได้แก่ 

1. Internet AI ซึ่งหมายถึง AI ที่คอยตรวจสอบและสังเกตว่าคุณกำลังทำอยู่ในอินเตอร์เน็ต ตรงนี้ หากท่านผู้อ่านเล่นเฟซบุ๊คหรือหาข้อมูลในกูเกิลน่าจะพบเจอสิ่งนี้อยู่บ่อยๆ สำหรับสมรภูมินี้ ในตอนนี้ทั้งจีนและสหรัฐถือว่าสูสีกัน โดยในอนาคตอันใกล้ จีนน่าจะเหนือกว่านิดๆ

2. Business AI นั่นคือ AI ที่เน้นให้ธุรกิจนำข้อมูลไปใช้งานเพื่อกำไรที่สูงขึ้น สหรัฐถือว่าเหนือกว่าจีนเยอะ โดยในอนาคตอันใกล้ สหรัฐน่าจะเหนือกว่านิดๆ

3. Perception AI หมายถึง AI ที่เฝ้ามองโลกภายนอก โดยในตอนนี้ทั้งจีนเหนือกว่าสหรัฐนิดๆ โดยในอนาคตอันใกล้ จีนน่าจะเหนือกว่ามากขึ้น ท้ายสุด autonomous AI หรือ AI ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์เราได้ ในสมรภูมินี้ สหรัฐถือว่าเหนือกว่าจีนเยอะ โดยในอนาคตอันใกล้ สหรัฐน่าจะเท่าเทียมกับจีน โดยลีมองไม่เห็นคู่แข่งอื่นที่ใกล้เคียงกับทั้งคู่ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ดี หากมองภาพ AI ให้ใหญ่กว่าที่ลีมองเฉพาะมิติการประยุกต์ใช้ AI โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จะพบว่าสหรัฐนำหน้าในด้านการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ และมีผู้เชี่ยวชาญและบริษัทด้าน AI เยอะกว่าจีนราวสองเท่า แม้จีนจะมีจำนวนผู้ใช้ AI ทั้งในตอนนี้และในอนาคตอันใกล้มากกว่าสหรัฐ หากจะกล่าวโดยย่อคือ หากมอง AI แบบองค์รวมในปัจจุบัน สหรัฐมีศักยภาพมากกว่าจีนราวสองเท่า 

กระนั้นก็ดี แอปเปิ้ล ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่สำคัญว่าไอบีเอ็มจะเป็นผู้นำทางด้านคอมพิวเตอร์มาก่อน จุดสำคัญอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้นำมาประยุกต์และผู้ใช้งานทั่วโลกติดใจและตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์นั้นมากกว่า หากมองในมุมนี้ จะพบว่า จีนดูจะได้เปรียบสหรัฐเนื่องจากไม่เป็นรองแต่อย่างใด และดูยังมีโอกาสก้าวเร็วกว่าในอนาคตทางด้านการประยุกต์นำ AI ไปใช้ในภาคธุรกิจในมิติต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647115