Brexit ยุค ‘บอริส จอห์นสัน’ จะจบอย่างไร?

อย่างที่ผมได้เคยเขียนไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ท่านนี้ไม่ธรรมดา สามารถมีความพลิ้วที่หลายท่านคาดไม่ถึง

แล้วนายจอห์นสันก็แสดงอิทธิฤทธิ์แรก ด้วยการเสนอให้มีชะลอการกล่าวเปิดสภาของพระราชินีอลิซาเบธ ออกไป 3 สัปดาห์ จากกลางเดือนก.ย.นี้ไปเป็น วันที่ 14 ต.ค.และได้รับการอนุญาตลงมาจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าหากพ้นสัปดาห์หน้าไป สภาของอังกฤษจะมีเวลาราว 2 สัปดาห์ในการยับยั้งการออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่มีเส้นตายภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้

บทความนี้ จะขอโฟกัสไปที่คำถามเดียว คือ บอริส จอห์นสัน ต้องการอะไร? และจะทำให้เบรกซิทจบแบบไหนได้บ้าง

สำหรับคำตอบของคำถามแรก คือ นายจอห์นสันต้องการให้เกิดการเลือกตั้งใหญ่ขึ้นให้เร็วที่สุด โดยการที่เขาทำการยืดเวลาการเปิดสภาออกไปนั้น เนื่องจากรู้ว่าจะมีเหตุการณ์อยู่ 2 ประการที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ

หนึ่ง จากวันนี้จนถึงกลางเดือน ก.ย.นี้ นายเจอโรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้าน จะต้องเสนอวาระในการโหวตไม่ไว้วางใจก่อนที่สภาจะปิดชั่วคราวในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากเขาและพรรครัฐบาลเกิดพลาดท่า พ่ายแพ้การโหวตมากเกินไป แรงกดดันที่จะให้มีการเลือกตั้งใหญ่จะอุบัติขึ้นในทันที โดยที่ Brexit ต้องเลื่อนจากวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยปริยาย นั่นคือสิ่งที่นายจอห์นสันต้องการอยู่แล้ว ซึ่งคือการเลือกตั้งใหญ่ที่เขาเองมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะนายคอร์บินได้ไม่ยาก

สอง หากนายคอร์บินทำไม่สำเร็จภายในสัปดาห์หน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการอภิปรายวาระ Brexit ในวันที่ 16 ตุลาคม เป็นต้นไป จนถึงเกือบสิ้นเดือนตุลาคม จะเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นหลักเดิมตั้งแต่สมัยนางเทเรซิน เมย์ คือ การผูกเงื่อนไขการออกจากยุโรปของอังกฤษกับจุดผ่านแดนของไอร์แลนด์ หรือ Irish Backstop ที่ยุโรปบังคับให้อังกฤษต้องเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเช่นเดียวกับไอร์แลนด์หากยังหาจุดลงตัวของข้อตกลงระหว่างกันไม่ได้ใน 2 ปีถัดจากนี้ ซึ่งสภาอังกฤษไม่ยอม และอียูก็ไม่ยอมเจรจาเพื่อผ่อนปรนในประเด็นนี้กับอังกฤษเช่นกัน

ทีนี้ นายจอห์นสันคงต้องปล่อยของกับทั้งสภาอังกฤษและอียูว่า ให้เกิดการเลือกตั้งใหญ่ที่จะจัดขึ้นใหม่ นั่นคือ ให้ประชาชนเป็นตัวตัดสินสำหรับทางตันดังกล่าวน่าจะดีที่สุด ตรงกับสิ่งที่นายจอห์นสันต้องการเช่นกัน

อาจจะมีบางท่านสงสัยว่าแล้วพรรค Brexit ของนายไนเจล ฟาราจ ที่ล่าสุด มีคะแนนเสียงดีวันดีคืน จะไม่เป็นอุปสรรคต่อนายจอห์นสันหรือ ผมมีคำตอบอยู่ 2 ประการ คือ เอาเข้าจริง หากมีประเด็น No deal เป็นประเด็นหลักของการเลือกตั้งใหญ่ พรรค Brexit ถือว่าเสียเปรียบมาก และ นายฟาราจเองก็มีแนวโน้มจะร่วมเป็นพรรครัฐบาลกับนายจอห์นสันอยู่แล้วหลังการเลือกตั้งใหญ่

ทั้งนี้ หากจะพิจารณาความแตกต่างระหว่างจุดยืนของอังกฤษกับสหภาพยุโรป(อียู) ในสมัยของนายจอห์นสันและเทเรซ่า เมย์ จะพบว่านายจอห์นสันกล้าแลกหมัดกับอียูมากกว่า ด้วยไพ่ที่เหนือกว่าสมัยนางเมย์อยู่ 2 ประการ ได้แก่

หนึ่ง หากนายคอร์บินไม่สามารถโหวตไม่ไว้วางใจนายจอห์นสันในสภาได้สำเร็จดังที่กล่าวข้างต้น นายจอห์นสันก็จะมีเส้นตายของจริงในมุมของอังกฤษที่ 31 ต.ค. เนื่องจากนายจอห์นสันเองไม่แคร์ต่อการที่อังกฤษต้องออกจากยุโรปแบบ No deal เท่านางเมย์ เนื่องจากมีโดนัลด์ ทรัมป์ มารออยู่หน้าบ้านให้เซ็นข้อตกลงการค้าระหว่างกันอยู่แล้ว ไม่ว่าท้ายสุดแล้ว อังกฤษจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบสหรัฐก็ตาม

สอง นายจอห์นสันมีแผนสำรองที่จะตกลงกับอียู หากกระแสชาวอังกฤษออกมาประท้วงแบบรุนแรงจริงๆ นั่นคือขอเลื่อนเส้นตายออกไปเป็นเวลา 2-3 เดือน โดยใช้ผลการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศอังกฤษ เป็นตัวตัดสินว่าจะจบกับอียูด้วยสถานะภาพใด ซึ่งนางเมย์นั่น เลี่ยงการเลือกตั้งใหญ่เพราะไม่ใช่ทางของเธอ ทว่าสำหรับนายจอห์นสัน การเลือกตั้งใหญ่คือสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมในสภามีมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 2 เสียง และเขาเองก็ไม่ได้มีสถานะในพรรคที่ดีมากในตอนนี้

โดยหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปีนี้ นายจอห์นสันเชื่อว่ากลุ่มของเขาจะสามารถได้รับคะแนนเสียงที่มากกว่าในปัจจุบัน ทำให้เขาสามารถที่จะกลับขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยต้นทุนทางการเมืองที่สูงกว่าในขณะนี้

มาถึงคำถามที่สอง เบรกซิทจะจบอย่างไร คำตอบมี 2 ประการ คือ หนึ่ง หลังการเลือกตั้งใหญ่ หากนายจอห์นสันชนะการเลือกตั้ง อังกฤษออกจากยุโรปแบบที่มีข้อตกลงกับอียูแบบหลวมๆหรือ Hard Brexit หรือ โอกาสน้อยหน่อย ที่นายคอร์บินชนะการเลือกตั้ง อังกฤษยังอยู่กับยุโรปทว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะกลับมาเป็นรัฐสว้สดิการอีกครั้ง และ สอง อังกฤษออกจากยุโรปแบบ No deal ซึ่งต้องถือว่ามีโอกาสไม่มาก ด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองที่นายจอห์นสันเล่นการเมืองแบบที่เสี่ยงมากๆกับอียู จนสถานการณ์ต่างๆพาไปในทางนั้น

ทั้งนี้ นายจอห์นสันเองก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก เนื่องจากเขามีสัมพันธ์ที่ดีกับนายทรัมป์ หรือแม้กระทั่งกับทางจีนด้วยในการรองรับสถานภาพ No deal ของอังกฤษ ทว่าคนที่จะเดือดร้อนในระยะยาวคือชาวอังกฤษ ที่ท้ายสุดแล้ว คงจะไม่ได้ดีลการค้าที่ดีมากนักจากนายทรัมป์และเศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโตช้าลงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆหลัง No deal ครับ

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648157