เบรกซิท (Brexit): จบแต่เจ็บ ไหม?

แม้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เทเรซา เมย์ ชนะการโหวตไม่ไว้วางใจในสภาแบบเฉียดฉิว 325-306 ด้วยเสียงของพรรค UDP ของไอร์แลนด์ 10 เสียง

โดยเธอเรียกร้องให้สภาคุยต่อในส่วนทางเลือกอื่นๆ ต่อสำหรับ Brexit ทว่าผู้นำฝ่ายค้าน เจโรมี คอร์บิน ล่าสุดก็ยังไม่ยอมเจรจาเรื่องนี้ต่อ

โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวัน Brexit ถูกโหวตคว่ำด้วยคะแนนเสียง 432-202 โดยนางเมย์พ่ายแบบถล่มทลายด้วยคะแนนจากพรรครัฐบาลเกิน1 18 เสียง หันมาโหวตค้าน Brexit ถือว่าเป็นการพ่ายแพ้แบบเยอะกว่าคาดที่ประมาณว่าจะแพัราว 150 เสียง และนับเป็นการพ่ายคะแนนโหวตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐบาลอังกฤษ

บทความนี้ จะขอตอบคำถามว่า ทำไมนางเมย์ จึงไม่ได้รับการสนับสนุนในประเด็น Brexit ถึงขนาดว่าแม้แต่พรรคของเธอเองยังโหวตค้าน และ ต่อจากนี้ Brexit กับเศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษ จะไปต่อในทิศทางใด

ก่อนอื่นขอพูดถึง ร่างเอกสาร Brexit ของนายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ จำนวน 585 หน้า ที่นำเข้ามาโหวตในสภาเมื่อ 2 วันก่อน มีประเด็นหลัก คือ ค่าใช้จ่ายในการแยกจากยูโรที่ 4 หมื่นล้านปอนด์ และมีช่วงเปลี่ยนผ่านหรือ transition period จนถึง 31 ธ.ค. 2020 ให้มีช่วงที่ยืดเวลาออกไปได้ช้าสุด คือ 31 ธ.ค. 2022 เป็นอย่างช้าสุด ก่อนที่การเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการระหว่างอังกฤษกับยุโรปจะสิ้นสุดการมีอิสระลง

ถามว่าทำไม ส.ส.จากพรรครัฐบาล 118 เสียง หันมาโหวตค้าน Brexit?

คำตอบคือ สาเหตุที่แม้แต่ส.ส.พรรครัฐบาลของนางเมย์ ยังไม่โหวตให้หัวหน้าพรรคของตนเองใน Brexit เนื่องมาจาก สิ่งที่เรียกว่า “Backstop” สำหรับชายแดนของไอร์แลนด์เหนือ

โดยเจ้า Backstop นี้ จะเริ่มมีผลในทางกฎหมายเมื่อ transition period ในช่วงสิ้นปี 2020 สิ้นสุดลง หากไม่มีทางออกอื่นในการจัดการเกี่ยวกับชายแดนระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือ

จากปัจจัยดังกล่าว จะทำให้ไอร์แลนด์เหนือยังคงดำรงเป็นหนึ่งเดียวกับยูโรในตลาดสินค้า ซึ่งจะทำให้อียูยังคงมีอำนาจครอบงำไอร์แลนด์เหนือ นั่นก็รวมถึงสหราชอาณาจักรทั้งหมดที่รวมอังกฤษเป็นหนึ่งในนั้นต่อยูโร

ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษ ได้พยายามที่จะให้ Brexit ในอังกฤษมีความแตกต่างกับไอร์แลนด์เหนือให้น้อยที่สุด ด้วยการประกาศว่าหาก Backstop เกิดขึ้น อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งเครือสหราชอาณาจักรก็จะทำตามเกณฑ์ Backstops ของไอร์แลนด์เหนือที่ใช้ระเบียบของอียูในส่วนของตลาดสินค้า ซี่งมีการออกกฎหมายใหม่มารองรับ

จุดตรงนี้ ที่ทำให้ชาวอังกฤษที่อยากออกจากยุโรป หรือ Brexiteer โจมตีว่าช่องทาง Backstop เป็นเสมือนกับดักที่ยังผูกอังกฤษไว้กับยูโร โดยทั้งนายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์กับทางอียู ได้ออกโรงปฏิเสธ ทว่าหลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากกว่าที่จะเข้าสู่ช่วงการเจรจาในส่วนนี้ ก็ปาเข้าไปกลางปี 2020 แล้ว

แล้วต่อจากนี้ Brexit จะไปต่อในทิศทางใด และเศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษจะเป็นเช่นไร

ผมมองว่า ถึงตรงนี้ อียูคงต้องส่งสัญญาณว่า จะยอมเลื่อน deadline เนื่องจากนางเมย์เอง คงคุยกับสภาต่อเองยากขึ้น เพราะเสียงที่โหวตชนะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 19 เสียงเท่านั้น และที่สำคัญผมคาดว่า ทางอียูเองก็ไม่ได้เตรียมการณ์อย่างเต็มที่ในการรับมือกับสถานการณ์ที่เรียกว่า No deal หรืออังกฤษออกจากยูโร แบบกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ โดยไม่ได้เป็นสมาชิกใดๆ ในประชาคมเศรษฐกิจในโลก ซึ่งจะทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าในท่าเรือโดเวอร์ ในลอนดอน ต้องเสียเวลาในการตรวจตราเอกสาร ส่งผลให้เกิดความล่าช้าต่อการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศในยุโรป ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ ประเมินว่าปัจจัยนี้ จะส่งผลต่อจีดีพีของอังกฤษในระยะสั้น โดยจะทำให้ลดลงจากปัจจัยนี้ถึงกว่า 2.5%

เบรกซิท: จบแต่เจ็บ ไหม?

นอกจากนี้ หากจะให้ประเมินว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน ผมประเมินว่าน่าจะไม่เกิน 4% ดังรูป ที่เคยเกิดขึ้นช่วงวิกฤตยุโรปปี 2011 โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ค่าเงินปอนด์ที่จะอ่อนค่าลง จนยุโรปในช่วงแรกต้องเสียเปรียบในความสามารถทางการแข่งขันในเซกเตอร์นี้

ในมุมของบทสุดท้ายของ Brexit ยังมองว่าความเป็นไปได้ ที่ Brexit จะจบลง มีดังนี้

หนึ่ง โอกาสจะจบลงเป็น  ‘European Economic Agreement’ (EEA) 

คล้ายๆ กับนอร์เวย์ที่ทำอยู่กับยุโรป น่าจะสูงสุด โอกาสที่ราว 70% ซึ่งถือว่ายังสามารถค้าขายกับยูโรได้อย่างค่อนข้างเสรีและเกือบทุกฝ่ายพึงพอใจ ยกเว้นกลุ่ม Brexiteer ที่ชาตินิยม โดยนักวิชาการส่วนใหญ่จะชื่อชอบทางเลือกนี้ เนื่องจากยังสามารถค้าขายกับประเทศในยุโรปได้อย่างค่อนข้างเสรี ประเมินกันว่าจีดีพีอังกฤษ จะลดลง 2% ในระยะยาว

สอง มีโอกาสราว 30% ว่า จะเกิด ‘ไม่มีข้อตกลง Brexit ใดๆ เกิดขึ้น’

หรือ No Deal ที่เรียกกันว่า Loss of the passport เกิดการแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ตลาดEU 27 ประเทศ กับอีกฝั่งที่มีอังกฤษและอาจจะรวมถึงสวิสเซอร์แลนด์และ เชื่อว่ากระแส Second referendum แม้จะมีสูงขึ้น ทว่าจะไม่เกิดขึ้นในท้ายที่สุด

ท้ายสุด เราคงเห็นการเลือกตั้งใหญ่ในอังกฤษภายในปีนี้ เพราะดูแล้วนางเมย์คงจะไปต่อยากมาก แม้ว่าเธอเองอยากจะไปต่อก็ตามครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646380