เมื่อโลกแห่งธนาคารกลาง… กำลังแบ่งเป็น 2 ขั้ว

สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์เดียวในรอบปีนี้ ที่ธนาคารกลางหลักของโลก 4 แห่ง ประกอบด้วย สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษ มีการประชุมนโยบายการเงินในรอบที่มีการประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจแบบจัดเต็ม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดโอไมครอนในขณะนี้

จะว่าไปแล้ว หลังจากที่สถานการณ์โควิดได้เกิดขึ้นมาในโลกเกือบ 2 ปี ธนาคารกลางหลักทั่วโลกได้มีบทบาทเป็นอย่างสูงในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ในยามที่ผู้คนไม่สามารถเดินทางออกมาใช้จ่ายหรือเดินทางไปไหนมาไหนได้ อย่างไรก็ดี มา ณ วันนี้ โลกแห่งธนาคารกลาง กำลังถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว นั่นคือ ขั้วที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปหรือมากขึ้นอีก กับ ขั้วที่ได้เปลี่ยนหรือเตรียมจะเปลี่ยนเข้าสู่โหมดการทำให้นโยบายการเงินตึงตัว บทความนี้ จะลองมาไล่เลียงกันใน 5 ธนาคารกลางหลักของโลก ตามขนาดของเศรษฐกิจ ดังนี้

  1. ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ซึ่งในขณะนี้ ได้เปลี่ยนเข้าสู่โหมดการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในการประชุมเฟดครั้งล่าสุดเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา เจย์ พาวเวล ประธานเฟด ได้ประกาศเพิ่มความเร็วในการลด QE ให้เร็วขึ้น มาสิ้นสุดการซื้อพันธบัตรในเดือนมีนาคม ปี 2022

รวมถึง Dot plot หรือความเห็นของสมาชิกเฟดต่ออัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจในอนาคต ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ของผู้ว่าเฟดในรัฐต่างๆประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ในปีหน้า โดยที่ยังมองว่าเงินเฟ้อที่ขึ้นมาจากการที่อุปทานเกิดติดขัด (Supply Disruption) ซึ่งจะจบลงได้เองในที่สุด โดยมองอัตราเงินเฟ้อรวมในปีนี้ เพิ่มจากร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 5.3 และ อัตราเงินเฟ้อรวมที่ไม่รวมอาหารและพลังงานในปีนี้ เพิ่มจากร้อยละ 3.7 เป็นร้อยละ 4.4 ส่วนในปีหน้า มองไว้ที่ร้อยละ 2.6 และ 2.7 ตามลำดับ

  1. ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ซึ่งอยู่ในขั้วที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินต่อไปหรือมากขึ้นอีกนั้น คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี มองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในฟากของยุโรปนั้น มีความแตกต่างจากฝั่งสหรัฐ โดยอีซีบีมองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยุโรปมีลักษณะที่เป็นแบบที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยคาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงกลางปีหน้า ดังนั้นอีซีบีจึงประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของยุโรปจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอย่างน้อยจนถึงต้นปี 2023 เป็นอย่างเร็วสุด รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่าจะยังคงนโยบายการเงินที่ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ต่อไปอีกในปีหน้า

อย่างไรก็ดี จากการที่เฟดซึ่งเป็นธนาคารกลางที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกได้เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นแล้วนั้น จึงจำเป็นที่การสื่อสารในส่วนของนโยบายการเงินของตนเองต้องทำในรูปแบบที่ไม่แสดงถึงความแตกต่างกับโทนของเฟดให้มากเกินไป ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นความท้าทายที่คริสติน ลาการ์ด ต้องยืนอยู่ที่จุดกึ่งกลางของแนวทางทั้งสองประการให้พอดี ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไรนัก

  1. ธนาคารกลางญี่ปุ่น จากการที่  ฟูมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ของญี่ปุ่น มีนโยบายเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงิน ซึ่งจะยังคงอัตราภาษีการบริโภคและนโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เอาไว้ รวมถึงขยายขอบเขตของนโยบายอะเบโนมิคส์ให้หมายรวมถึงการช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กและการเพิ่มระดับค่าจ้างนั้น

นั่นมีนัยยะว่าได้ไฟเขียวให้ ฮารูอิโกะ คูโรดา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ดำเนินนโยบายการเงินแบบที่ผ่อนคลายให้เต็มที่ ซึ่งจากการที่ญี่ปุ่นเองไม่มีปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเหมือนประเทศอื่น ๆ จึงทำให้คูโรดาสามารถใส่เกียร์กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อได้ แบบไม่มีอะไรจะกังวลมากนักในช่วงระยะสั้น

  1. ธนาคารกลางอังกฤษ ต้องถือว่าเป็นแบงก์ชาติเดียว ในตอนนี้ ที่มีความกดดันจากปัจจัย 2 ประการที่มีความขัดแย้งกัน โดยในทางหนึ่ง เศรษฐกิจอังกฤษ ล่าสุด ตัวเลขจีดีพีเดือนตุลาคม ออกมาเติบโตเพียงร้อยละ 1 โดยขนาดเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ร้อยละ 0.5 โดยขนาดจีดีพีสหรัฐได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิดไปตั้งแต่กลางปีแล้ว ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ เดือนพฤศจิกายน ออกมาเติบโต 5.1% เทียบกับปีที่แล้ว (Core CPI ซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานออกมาเติบโต 4%) ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี

ตรงนี้ จึงทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะเปลี่ยนมาขั้วที่ทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซึ่งตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ในช่วงเวลาใดในระยะเวลาอันใกล้นี้ ถึงจะมีความเหมาะสมที่สุด

  1. ธนาคารกลางอินเดีย อยู่ในสถานการณ์ที่มีความกึ่งกลางระหว่าง 2 ขั้ว ว่าจะไปทางไหนต่อดี โดยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนมาขั้วที่ทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ในระยะเวลาต่อไปมากกว่า

โดยโจทย์ของธนาคารกลางอินเดีย คือ ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบระหว่างร้อยละ 2-6 ให้ได้ โดยที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

หากพิจารณาจากคาดการณ์เงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางอินเดีย จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงอีก 1 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ดังรูป ในขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะอยู่ที่เกือบร้อยละ 7 โดยมองว่าอาจจะขึ้นไปได้มากกว่านี้ได้เล็กน้อยนั้น อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางอินเดียอาจจะขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 ในช่วงปลายไตรมาสแรกจนถึงกลางปีหน้า

สำหรับแบงก์ชาติบ้านเรา แน่นอนว่าอยู่ในขั้วที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปหรือมากขึ้นอีก โดยผู้ว่าแบงก์ชาติบ้านเราเพิ่งจะประกาศคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันร้อยละ 0.5 ไปอีกอย่างน้อยตลอดปี 2022

MacroView

ที่มาบทความ: http://www.macroviewblog.com/blog/economics/cbstwocamp/