เศรษฐกิจยุโรปน่าจะเสี่ยงสุด จาก Covid-19

ถึงตรงนี้ ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมากน้อยแค่ไหน ทั้งจากความล่าช้าในงบภาครัฐ ปัญหาภัยแล้ง และผลจากไวรัส Covid-19

บทความนี้จะขอประเมินว่าภูมิภาคใดที่น่าจะรับผลเชิงลบจาก Covid-19 ในรอบนี้มากที่สุด และจากสาเหตุใด

ผมมองว่าภูมิภาคยุโรปน่าจะมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2020 โดยจะพบว่าค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์ Covid-19 รุนแรงขึ้นในตอนต้นปีนี้ โดยอยู่ในระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2017 ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. ในแง่ของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ นั้น ภูมิภาคยุโรปถือว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกับจีนที่ค่อนข้างเหนียวแน่น โดยจะพบว่ามูลค่าการส่งออกของประเทศหลักๆ ในยุโรปไปสู่จีนในปี 2019 มีอยู่ถึงร้อยละ 2.8 ในเยอรมัน นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนทางตรงหรือ FDI จากจีนไปยังเยอรมันและอังกฤษถือว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศที่นำเงินไปลงทุนทางตรงไปยังประเทศทั้งสอง

แน่นอนว่าหากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ภูมิภาคยุโรปต้องได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ เป็นภูมิภาคแรกๆ เช่นกัน

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ พรรค Sinn Fein ภายใต้การนำทีมหาเสียงของหัวหน้าพรรคหญิงที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวไอริช นามว่า แมรี ลู แม็คโดนัลด์ ที่สามารถชนะการเลือกตั้งใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงมากที่สุด โดยมีแนวโน้มว่าไอร์แลนด์จะสามารถรวมเป็นประเทศเดียวได้ภายใต้พรรค Sinn Fein ซึ่งเมื่อกว่า 40 ปีก่อนมีความเกี่ยวพันกับขบวนการบ่งแยกดินแดนอย่าง IRA เป็นรัฐบาล นอกจากนี้ ยังเน้นรัฐสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยที่จะช่วยให้ชาวไอริชมีบ้านเป็นของตนเองมากขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่ของไอร์แลนด์จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ การเมืองเยอรมันยังออกจะดูยุ่งเหยิง จากการที่ มินิ (แองเจลล่า) แมร์เคิลหรือ นาง AKK ประกาศไม่รับตำแหน่งผู้นำพรรค CDU ของเยอรมัน ต่อจากแองเจลล่าแมร์เคิล ซึ่งมีแนวโน้มว่าการเมืองเยอรมันยังจะขาดเอกภาพไปอีกพักใหญ่ โดยทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้

3. ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรปลดลง 2.1% ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าผลผลิตในโรงงานของเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี ได้ลดลงอย่างรุนแรง โดยตัวเลขตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนธ.ค.2019 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรปได้ลดลง 4.1% ซึ่งถือว่าแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 โดยเหตุการณ์ Covid-19 ในจีนย่อมจะส่งผลต่อดัชนีดังกล่าวให้ลดลงไปอีก อย่างน้อยจนถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ แม้เหตุการณ์จะบรรเทาลงในเร็ววันก็ตาม โดยล่าสุด ตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจของยุโรปออกมาเติบโตในไตรมาสสุดท้ายปี 2019 เพียง 0.1% ถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2013

4. ในปีนี้ที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งใหญ่ มีแนวโน้มว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะหันมาเก็บภาษีนำเข้าต่อยุโรปในหมวดยานยนต์ (Us Auto tariff) ซึ่งถือว่ายิ่งจะส่งผลให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรปลดลงมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้อีก และจะส่งผลต่อ Supply Chain ปลายน้ำของอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปอีกด้วย

5. การที่ตัวเลขล่าสุด ณ 16 ก.พ. 2020 ที่มีผู้ติดเชื้อในยุโรปทั้งหมด 46 คน และมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าในฝรั่งเศสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ย่อมจะส่งผลให้ชาวยุโรประมัดระวังในการเดินทาง ซึ่งยิ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวในยุโรปและการบริโภคในร้านอาหารนอกบ้าน นั่นคือ กิจกรรมภาคบริการของเศรษฐกิจในภาพรวมให้ลดลงไปอีก

นอกจากนี้ การที่ยุโรปมีขนาดของภาคการเงินจากกลุ่มเศรษฐกิจจริงต่อขนาดเศรษฐกิจโดยรวมหรือจีดีพีในสัดส่วนที่มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งกลัวความเสี่ยงมากตอนเกิดวิกฤตมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการด้านกฎเกณฑ์ทางการเงินสูงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่รับและจ่ายของสถาบันการเงินมากขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ยิ่งไปกดให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้ต่ำลงไปอีก

ท้ายสุด การที่เศรษฐกิจยุโรปมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมากหรือเงินฝืด จะทำให้อัตราเงินดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น ซึ่งจะไปลดความต้องการลงทุนให้ลดลงไปอีก หนำซ้ำยังไปลดระดับผลผลิตที่อยู่ในจุดที่ใช้ศักยภาพสูงสุดของเศรษฐกิจ เนื่องจากสินค้าทุนและแรงงานที่ลดลงจากระดับการลงทุนที่ลดลง

อย่างไรก็ดี แม้บางท่านจะประเมินว่ายุโรปอาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “doom loop” ระหว่างสถาบันการเงินที่ถือครองหนี้ภาครัฐ กับรัฐบาล และเข้าสู่วิกฤตการเงินในที่สุด ตรงนี้ ผมยังมองว่าสถานการณ์สถาบันการเงินของยุโรปได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว ส่วนอังกฤษน่าจะพยายามที่จะเจรจากับยุโรปให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับยุโรปให้มากที่สุด

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649503