ยุโรป กับ มาริโอ ดรากิ นายกฯ ใหม่อิตาลี

สัปดาห์ที่แล้ว เหมือนมีข่าวดีจากทางการยุโรป ที่ประกาศคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจครั้งใหม่ โดยมองภาพอนาคตในแง่ที่ดีขึ้น

คาดว่ามูลค่าจีดีพีรวมของประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดราวกลางปีหน้า ในขณะที่ประเทศอิตาลีและสเปน จะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปีหน้า แม้จะถือว่าเป็นข่าวดี ทว่าหากพิจารณาให้ดีจะพบว่ายุโรปนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีเต็มหลังจากที่ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว หรือในกรณีอิตาลีและสเปนนั้น ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีครึ่งเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการด้านการคลังที่มีความเข้มข้นขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ในตอนนี้ โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนความช่วยเหลือด้านการคลังต่อจีดีพี จะพบว่ายุโรปยังมีน้อยกว่าสหรัฐหลายเท่าตัว

โดยจุดเปราะบางของมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจยุโรป ณ ตอนนี้ คือ ช่วงรอยต่อระหว่างการกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ของโควิดกับการถอนเม็ดเงินจากมาตรการด้านการคลังภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ น่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อุปสงค์ของสินค้าและบริการในภาคเอกชนซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นผ่านการกระจายของวัคซีน ยังจะไม่เพียงพอกับการลดลงของเม็ดเงินผ่านมาตรการด้านการคลังจากรัฐบาลที่จะหายไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจากการเปิดเผยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พบว่าเยอรมัน สเปน และเนเธอร์แลนด์จะกลับไปมีนโยบายการคลังที่ตึงตัวในปีนี้เสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนอีกเยอะมากในยุโรปที่ได้รับการอุ้มผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผนวกกับเงินให้เปล่าจากรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงการปลดคนงานในช่วงโควิด จะกลับกลายมาเป็นระลอกคลื่นแห่งการล้มละลายของบริษัทเอกชนในยุโรป หลังจากถอดสายน้ำเกลือของรัฐบาลออกไปในช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งยังอาจจะมีความเสี่ยงว่าด้วยประชาชนขาดความมั่นใจ โดยการมองโลกในแง่ดีทั่วยุโรปหลังจากโควิดดีขึ้นอาจจะไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยความกังวลต่อโควิดได้เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเหล่านั้นไปอย่างถาวร

ท้ายสุด การที่อุปทานที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ได้หยุดการทำงานในช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นด้านการบิน โรงแรม สถานบันเทิงและร้านอาหารยามค่ำคืน ได้ปิดตัวลงเป็นเวลานาน เมื่อจะกลับมาค่อย ๆ เปิดทำการตามปกติ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการด้านการคลังหรือเม็ดเงินที่จะสนับสนุนด้านรายได้เพิ่มเติมเพื่อจะให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้แบบปกติอีกครั้ง

ด้านสถานการณ์ฝั่งสหรัฐ แม้ว่าจะมีนักเศรษฐศาสตร์ระดับบิ๊กเนมบางท่านออกมาแสดงความกังวลต่องบประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐที่กำลังต่อรองกันในสภาคองเกรส ว่าถือเป็นการใช้งบที่มากกว่าความเสียหายจากโควิดที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นแบบคาดไม่ถึง ทว่าสำหรับยุโรปนั้น แตกต่างจากของสหรัฐทั้งในมิติของปริมาณเงินช่วยเหลือและอัตราเงินเฟ้อโดยสิ้นเชิง นั่นคือแม้จะกระตุ้นมากอย่างไร ณ ตอนนี้ ก็คงจะไม่สามารถกระตุ้นให้เงินเฟ้อขึ้นมาสู่อัตราเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วในช่วงนี้ รวมถึงความเสียหายจากโควิดก็บอบช้ำกว่าสหรัฐเสียอีก

คราวนี้ มาถึงนายกรัฐมนตรีอิตาลีท่านใหม่แบบถอดด้ามที่พวกเราคุ้นเคยเป็นอย่างดีอย่างมาริโอ ดรากิ อดีตประธานธนาคารกลางยุโรปที่จังหวะนี้ที่มารับไม้ต่อ ถือว่ามาตอบโจทย์ของสถานการณ์ในอิตาลี รวมถึงยุโรปที่กล่าวไว้ข้างต้นแบบลงตัวด้วยประสบการณ์ที่เคยพายุโรปออกจากวิกฤตครั้งก่อนเมื่อราว 10 ปีก่อน โดยมี 2 ขุนพล อย่าง รมต. คลัง อิตาลี นามว่า ดาเนียล ฟรังโก้ ที่คลุกคลีในวงการกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอิตาลีมาตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งน่าจะสามารถใช้ความสามารถของเขาในการบริหารงบลงทุน 2 แสนล้านยูโร จาก EU Recovery Fund ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอิตาลี ภายใต้อัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีของอิตาลีกว่าร้อยละ 120 โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการคลังให้มากกว่าในปัจจุบัน

อีกทั้ง ยังมี รมต. ที่จะจัดการกระตุ้นผ่านการลงทุนภาคธุรกิจ อย่าง วิโทริโอ โคลาโอ อดีตซีอีโอ ของโวดาโฟน ที่ว่ากันว่าเป็นนักธุรกิจที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในวงการโทรคมนาคมของยุโรป ซึ่งจะเป็นผู้นำงบ 2 แสนล้านยูโร จาก EU Recovery Fund  มาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอิตาลีให้มากที่สุด ท้ายสุด ดรากิยังต้องมีงานหนักที่ต้องทำระบบกฎหมายของอิตาลีให้สามารถเอื้อให้ต่างชาติสามารถมาลงทุนทำธุรกิจในอิตาลีได้ง่ายขึ้น โดยที่เกือบปราศจากปัญหาระบบราชการและคอร์รัปชั่นที่มีมาอย่างยาวนาน

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652025