ส่องหุ้นต่างประเทศปันผลสูง หลบโควิด-19

มาถึงวันนี้ ตลาดหุ้นไทยมาถึงจุดที่ถูกกระทบค่อนข้างหนักจากปัจจัยลบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง งบประมาณภาครัฐที่ออกมาช้ากว่ากำหนดเดิม

ล่าสุด ได้แก่ โควิด-19 ซึ่งการที่มีข่าวเกี่ยวกับชาวไทยที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วอาจจะแพร่กระจายไปยังผู้ที่อยู่ข้างเคียง บทความนี้ จะพาท่านผู้อ่านมาลองสำรวจตลาดหุ้นต่างประเทศกันบ้าง โดยจะเน้นไปที่หลักทรัพย์และตลาดหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง ดังนี้

หากพิจารณาไปที่อัตราการจ่ายเงินปันผล แยกตามภูมิภาคต่างๆ ในปีที่แล้ว จะพบว่า ตลาดหุ้นยุโรป (ไม่รวมอังกฤษ) จ่ายเงินปันผลประมาณ 20% ของเงินปันผลทั้งหมดในโลก ในขณะที่ตลาดหุ้นอเมริกาเหนือ จ่ายเงินปันผลประมาณ 42.3% ของเงินปันผลทั้งหมด ด้านตลาดหุ้นเอเชีย นอกญี่ปุ่นและตลาดเกิดใหม่ จ่ายเงินปันผลใกล้เคียงกัน ประมาณ 11% ของเงินปันผลทั้งหมด ส่วนตลาดหุ้นอังกฤษ จ่ายเงินปันผลประมาณ 8% ของเงินปันผลทั้งหมด

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าว ถือว่าตลาดหุ้นยุโรปและอังกฤษ จ่ายเงินปันผลค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับมูลค่ารวมตามราคาตลาดของตลาดหุ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะชอบซื้อหุ้นคืนมากกว่าจ่ายเงินปันผล โดยสังเกตได้ จากข้อมูลของ J O Hambro Capital Management ว่าจากดัชนี MSCI WORLD INDEX บรรดาบริษัทสหรัฐฯ 615 แห่ง มีเพียง 20% ที่มีอัตราเงินปันผลมากกว่า 3% ในขณะที่ หากพิจารณานอกสหรัฐฯ 1,031 แห่ง มีถึง 40% ที่มีอัตราเงินปันผลมากกว่า 3%

โดยดัชนีตลาดหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง ได้แก่ ดัชนีตลาดหุ้นอังกฤษ หรือ FTSE100 ที่มีอัตราเงินปันผล 4.6% ดัชนี DAX ของเยอรมนีที่มีอัตราเงินปันผล 2.9% และดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่นที่ยิลด์เงินปันผลเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการทุ่มเทเงินเข้าสู่ในรูปแบบเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนมากขึ้นกว่าเดิม (ตลาดญี่ปุ่นซื้อหุ้นคืนมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว) จากนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประโยชน์ทางภาษีหากไม่เก็บเงินสดไว้กับตัวบริษัทเอง ที่มีอัตราเงินปันผล 2.3% และดัชนี Ibovespa ของบราซิล ที่มีอัตราเงินปันผล 2.9%

จึงทำให้หากจะพิจารณาลงทุนในหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง หุ้นที่น่าสนใจตามคำแนะนำของนิตยสารด้านการเงินในเครือของดาวน์โจนส์ได้แนะนำไว้ มีดังนี้

ตลาดอังกฤษและยุโรป

1. หุ้นอังกฤษที่ครึ่งหนึ่งของรายได้รวมมาจากฝั่งอเมริกา ที่ชื่อ Compass Group ซึ่งทำธุรกิจอาหารและบริการจัดส่ง โดยเมื่อปีที่แล้ว จ่ายเงินปันผล 40 เพนนี ที่สูงขึ้น 6% จากปีที่แล้ว หรืออัตราเงินปันผลราว 2% โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 เมื่อปีที่แล้ว จ่ายเงินปันผลรวม 800 ล้านดอลลาร์ โดยที่มีกระแสเงินสดปฏิบัติการทั้งสิ้น 1.7 พันล้านดอลลาร์

2. หุ้นบริษัทยาของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ชื่อว่า Novartis ที่มีอัตราเงินปันผลราว 3% ที่มียารักษาโรคที่ติด Best-selling อย่าง Tasigna สำหรับรักษามะเร็งและ Cosentyx สำหรับรักษาภูมิแพ้ โดยเมื่อปีที่แล้ว จ่ายเงินปันผล 2.95 ฟรังก์สวิส หรือ เพิ่มขึ้น 4% จากปีที่แล้ว โดยมีอัตราการจ่ายปันผลต่อ Free Cash flow ที่ 50%

3. หุ้นโทรคมนาคมฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Orange ซึ่งหากใครไปเที่ยวฝรั่งเศส น่าจะได้ใช้บริการ Roaming ของค่ายมือถือเจ้านี้ โดยครั้งหนึ่งเมื่อในอดีต เคยมาเป็น Partner กับบริษัทโทรคมนาคมเจ้าใหญ่แห่งหนึ่งของไทย มีอัตราเงินปันผลที่ร้อยละ 5.4 และราคาซื้อขายที่ 13 เท่าของกำไรสุทธิในปีนี้ที่คาดการณ์โดยนักวิเคราะห์

อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนท่านไหนไม่ชอบซื้อหุ้นรายตัว จะขอแนะนำตราสาร ETF ที่ชื่อว่า Vanguard International High Dividend Yield Index ซึ่งเน้นถือหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว ที่ล่าสุดมีอัตราเงินปันผลที่ 4.12% ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์

ตลาดญี่ปุ่นและไต้หวัน

คราวนี้ หันมาตลาดญี่ปุ่นกันบ้าง ลองพิจารณาหุ้น Takeda Pharmaceutical โดยข้อดี คือเป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นหากนับจากยอดขายเป็นตัวชี้วัด ที่มีอัตราเงินปันผลราว 4.2% โดยเมื่อมานานมานี้ ได้ซื้อกิจการบริษัทมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ชื่อว่า Shire ซึ่งเชี่ยวชาญการรักษาด้านภูมิคุ้มกันและโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม โดย Takeda ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจ่ายเงินปันผลปีละ 180 เยนต่อหุ้น กระนั้นก็ดี หุ้น Takeda ในช่วงหลังๆ มีจุดด้อย คือนักลงทุนหลายท่านกังวลว่าจะต้องใช้เงินค่อนข้างมากในการจ่ายบริษัทที่ตนเองซื้อกิจการเข้ามา

ท้ายสุด หุ้น Taiwan Semiconductor Manufacturing บริษัทผลิตชิพที่ใช้ในอุตสาหกรรมด้านไฮเทค ที่มีรายได้ราว 2 ใน 3 จากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความเป็นบริษัทที่โปรไฟล์ออกมามีความเป็นตลาดพัฒนาแล้วมากกว่า ที่ให้อัตราเงินปันผลราว 3% โดยหลายฝ่ายมองว่าบริษัทมีการใช้เงินลงทุนอย่างค่อนข้างมีวินัย

อย่างไรก็ดี ต้องขอย้ำว่า การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจก่อนการลงทุนครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649582