รำลึกถึง “พอล โวลเกอร์” ตำนานประธานเฟด

เมื่อเดือนที่แล้ว เราได้สูญเสีย “พอล โวลเกอร์” อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่จากเราไปด้วยโรคชรา โดยเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีก่อน

ผมเคยไปที่ธนาคารกลางสหรัฐ เมืองชิคาโก และได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังปาฐกถาของพอล โวลเกอร์ ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในงานการประชุมธนาคารนานาชาติ แต่ก่อนที่ผมจะได้เล่าไอเดียต่างๆ จากโวลเกอร์ ผมขอเกริ่นถึงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ผมคิดว่านายโวลเกอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐปี 1979-1987 วัย 92 ปี ถือเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐระดับตำนาน ซึ่งน่าจะโดดเด่นกว่า ดร.อลัน กรีนสแปน และ ดร.เบน เบอร์นันเก้ เสียด้วยซ้ำ หากมองจากภายหลังวิกฤติการเงินปี 2008 ด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ “คนมากประสบการณ์ คนดี และคนเก่ง” ดังนี้

ข้อแรก ต้องยอมรับว่าทีมเศรษฐกิจของนายโอบามา ยังขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์จริงในแวดวงการเงินการธนาคาร

แม้จะมี ดร.ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส และนายเบน เบอร์นันเก้ ที่ดูจะผ่านงานมาเยอะ แต่ทั้ง 2 โตขึ้นมาในสายวิชาการ การปะทะหรือการต่อรองกับล็อบบี้ยิสต์จากวอลล์สตรีทย่อมไม่ใช่สิ่งที่บุคคลทั้ง 2 ทำได้ดี

ดังนั้น การเลือกโวลเกอร์เข้ามาในทีมดังกล่าวเท่ากับช่วยอุดช่องว่างนี้ ที่สำคัญโวลเกอร์ยังดูโดดเด่นในมุมที่มิได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการร่างกฎหมายการเงินฉบับใหม่ในตอนนี้ สังเกตได้จากหลังพ้นตำแหน่งประธานธนาคารกลาง เขาตัดสินใจทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเล็กๆ แทนที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ในวอลล์สตรีท ล่าสุด โวลเกอร์ดูจะมีบทบาทต่อทีมเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เมื่อ ดร.ออสแทน กูลสบี ลูกน้องเก่าได้รับตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายโอบามา แทน ดร.คริสตินา โรเมอร์ ที่ลาออกไป

ข้อ 2 หากเทียบกับประธานธนาคารกลางท่านอื่น ภาพลักษณ์ที่ดูสะดุดตาของโวลเกอร์คือความยุติธรรม

(ใกล้เคียงกับเปาบุ้นจิ้น หรือกวนอู ในภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ รวมถึงรูปร่างที่สูงใหญ่ถึง 6 ฟุต 8 นิ้ว) โดยผลงานเด่นๆ ในช่วงที่ทำหน้าที่พิพากษาคดีทุจริตต่างๆ มีดังนี้

1.คดีบัญชีธนาคารปริศนาของชาวยิว ในปี 1996

หน้าที่ของโวลเกอร์คือการให้ความกระจ่างต่อชาวโลกว่า ที่จริงแล้ว จำนวนบัญชีของชาวยิว ซึ่งเกรงว่านาซีจะยึดเงินของพวกตนจึงโยกเงินดังกล่าวมาฝากที่ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีจำนวนเท่าไรกันแน่ ทั้งนี้ ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว ทว่าธนาคารสวิสส่วนใหญ่ก็ยังเก็บเงินเหล่านี้ และกินดอกเบี้ยไว้ที่ธนาคารของตนเอง โดยที่ไม่พยายามจะเสาะหาทายาทของผู้ฝากเงินที่แท้จริงให้มารับเงินก้อนนี้

ในช่วงต้นของการสืบสวนดังกล่าว ธนาคารสวิสยืนยันว่าได้พยายามในการค้นหาทายาทของผู้ฝากเงินเหล่านี้ในปี 1962 และพบผู้สมควรได้รับเงินแค่ไม่กี่รายเท่านั้น รวมถึงได้ดำเนินการโอนเงินให้เรียบร้อยแล้ว ทว่าจากการพิจารณาของโวลเกอร์ กลับสืบทราบว่ายังมีบัญชีที่เหลืออีกนับพันบัญชีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ อีกทั้งหากสืบให้ลึกลงไปอีก ยังพบบัญชีที่มิได้แจ้งให้ทางการทราบอีกนับหมื่นบัญชี แม้จะเป็นการยากในมุมทางกฎหมายระหว่างประเทศในการดำเนินการ โวลเกอร์ก็สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

2. คดีคอร์รัปชันของโครงการน้ำมันและอาหาร ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในช่วงปี 1996-2003

หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกพากันคว่ำบาตรที่จะค้าขายกับอิรักของนายซัดดัม ฮุสเซ็น ส่งผลกระทบให้ชาวอิรักไม่มีอาหารเพียงพอ ทางยูเอ็นจึงออกมาตรการอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ค้าขายกับอิรักได้ โดยมีข้อจำกัดว่าต้องนำรายได้เหล่านี้ไปช่วยเหลือประชาชนอิรักที่กำลังยากไร้เท่านั้น

เนื่องจากจำนวนเงินของโครงการนี้ในช่วง 7 ปี มีมูลค่าสูงถึง 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงมีข้อครหาว่ามีการโกงกันแบบสารพัดตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อความเริ่มโยงไปถึงนายโคโจ อันนัน บุตรนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวน นำโดยประธานที่ชื่อพอล โวลเกอร์ ขึ้นในปี 2004 การสืบสวนพบการโกงกันแบบฝุ่นตลบ และมีการพาดพิงถึงนายโคโจ อันนันอยู่หลายส่วน หลังจากมีการสะสางคดีดังกล่าวความเป็นอยู่ของชาวอิรักก็ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

3. คดีอื้อฉาวของโครงการในธนาคารโลก

โดยการสืบสวนภายใต้การนำของนายโวลเกอร์นี้ทำได้ยากยิ่งขึ้น หลังจากนายพอล วูลฟ์โฟวิตซ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานธนาคารโลกระหว่างที่การสืบสวนยังไม่สิ้นสุด จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาของโลก โดยบทสรุปผลการสืบสวนจำนวน 7 หน้านั้น โวลเกอร์เป็นผู้เขียนด้วยตนเอง นับเป็นการบ่งบอกถึงความภูมิใจในผลงานดังกล่าว

ข้อสุดท้าย ต้องยอมรับว่าโวลเกอร์เป็นประธานธนาคารกลางที่เจอโจทย์หินกว่าคนอื่น แม้กระทั่งเบอร์นันเก้ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพราะจะเห็นได้จากช่วงปี 1980-1987 นั้น การเจริญเติบโตของปริมาณเงินในสหรัฐสูงขึ้นมาก แต่อัตราเงินเฟ้อกลับลดต่ำลง

ซึ่งความยากอยู่ที่เขาต้องทำงานในยุคที่วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคยังไม่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ หรือจะเป็นเรื่องวิกฤติหนี้ละตินอเมริกา ซึ่งเกิดจากธนาคารสหรัฐในช่วงเวลานั้น ไม่ยอมนำเงินดอลลาร์ที่ได้รับจากการทำธุรกิจกับประเทศที่ส่งออกน้ำมันกลับเข้าสหรัฐ เพื่อเลี่ยงกฎเกณฑ์การเก็บภาษีสินทรัพย์ที่จะส่งกลับเข้าประเทศ ทำให้ดอลลาร์ยังคงอยู่นอกสหรัฐ (ยูโรดอลลาร์) กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 1982 โดยเกิน 1 ใน 4 ของเงินทั้งหมด ได้ปล่อยกู้อย่างหละหลวมให้กับประเทศละตินอเมริกาจนเกิดการล้มละลายในที่สุด ทั้งหมดนับเป็นภารกิจที่แสนสาหัสสำหรับโวลเกอร์ในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย

นอกจากนั้น หลังจากที่สถาบันการเงินเริ่มไม่สามารถฟันกำไรงามๆ จากการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าดังเช่นละตินอเมริกา จึงเริ่มหาช่องทางทำเงินใหม่ หนึ่งในนั้นคือการยกเลิก Glass Steagall Act ในปี 1999 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งไม่อนุญาตให้ธนาคารสามารถประกอบธุรกรรมทางด้านวาณิชธนกิจ ทำให้สินเชื่อไม่ว่าจะดีหรือเสียของธนาคารสามารถนำมาแปลงเป็นตราสารทางการเงิน แถมแปะป้ายว่าคุณภาพเยี่ยมแล้วมาขายให้กับประชาชน จนเกิดปัญหาสินทรัพย์เป็นพิษอันนำมาซึ่งวิกฤติการเงินปี 2008 เรื่องนี้นายโวลเกอร์เองก็ได้คัดค้านการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขา

ภารกิจชิ้นสำคัญล่าสุด สำหรับที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา คือการผลักดันกฎหมายที่ห้ามมิให้ธนาคารซึ่งได้รับการค้ำประกันเงินฝากจากภาครัฐประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ อนุพันธ์ทางการเงินและเฮดจ์ฟันด์ จนคำว่า Volcker’s Rule ตอนนี้กลายเป็นวลีฮิตที่บ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจังในการขจัดความโลภของโลกทุนนิยม

ทว่า ปี 2019 เราก็สูญเสียอดีตประธานเฟดที่ดีที่สุดในสายตาของผมไปครับ

MacroView

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649183

iran-israel-war