3 ลูกศรการเงินของ Xi-nomics

เรียกว่าไม่ยอมน้อยหน้า Abenomics ของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อทางการจีนก็มีการออกลูกศร 3 ดอกทางเศรษฐกิจในเวอร์ชั่นจีนเช่นกัน

ทั้งนี้ ทั้ง 3 ลูกศรนั้น ตั้งเป้าไปที่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับแหล่งเงินทุนต่อภาคเอกชน ใน 3 ช่องทางหลัก ดังนี้

เริ่มจากลูกศรแรก ได้แก่ การให้ความสนับสนุนด้านสินเชื่อต่อภาคเอกชน 

โดยธนาคารกลางจีนให้ความช่วยเหลือต่อธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยกู้ต่อธุรกิจในส่วนของ SME ด้วยการเพิ่มโควต้าให้กับปริมาณการปล่อยกู้จากธนาคารกลาง รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยแบบ discount ต่อสถาบันการเงินให้ อีกทั้งพร้อมจะปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้ผ่อนคลายลง หากจำเป็นในเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ

ลูกศรที่สอง ได้แก่ การช่วยเหลือให้ภาคเอกชนของจีนสามารถออกหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ทางการจีน ในช่วงเวลานี้ ค่อนข้างให้ความสำคัญต่อช่องทางการออกหุ้นกู้ เนื่องจากธนาคารกลางจีนมองว่าสำหรับตลาดเงินของจีน ณ เวลานี้ ช่องทางของแหล่งเงินหลักที่มีอิทธิพลต่อแหล่งเงินประเภทอื่น คือ การออกหุ้นกู้ ทั้งนี้ หากสังเกตให้ดี นโยบายความโปร่งใสของตลาดหุ้นกู้จีน คือ การเปิดเผยข้อมูลแบบทันทีทันใด หากว่าผู้ออกหุ้นกู้รายใดเกิดไม่สามารถจ่ายคืนดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้กับนักลงทุน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีการไม่จ่ายหรือ default ต่อผู้ลงทุนหุ้นกู้เกิดขึ้น บริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น แน่นอนว่าจะไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ในช่วงนั้น แบงก์ที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ก็ลังเลที่จะซื้อหุ้นกู้หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อีกทั้งหลักประกันของบริษัทดังกล่าวก็จะไม่สามารถจะใช้ได้แบบมีความน่าเชื่อถือได้ดังเดิม และก็จะไม่สามารถกู้เงินจากแบงก์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ได้ง่ายเหมือนเดิม รวมถึงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็จะลดฮวบลงมาด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทดังกล่าวมีปัญหาทางการเงิน แล้วอีกไม่นานนัก อุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นทำธุรกิจอยู่ ก็จะเริ่มหาแหล่งเงินได้ยากขึ้น จากการที่นักวิเคราะห์มักจะมองว่าความเปราะบางทางการเงินของบริษัทดังกล่าวจะเริ่มแพร่กระจายไปในบริษัทอื่นๆในภาคอุตสาหกรรมนั้น

ในทางกลับกัน ช่องทางที่เป็นแหล่งเงินในการปล่อยกู้ ข้อมูลที่แพร่กระจายไปยังสาธารณชนมักจะน้อยกว่า เนื่องจากข้อมูลการปล่อยกู้เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทกับแบงก์มักจะเป็นลักษณะที่ Private กว่า หากว่าเกิดการ default ขึ้น หากไม่ใช่เป็นการไม่จ่ายคืนแบบมูลค่าเยอะๆ ตลาดมักจะไม่สามารถรับรู้การ default ดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นผลดีต่อทั้งผู้กู้และแบงก์ดังกล่าวแต่อย่างใด

ดังนั้น ลูกศรลูกที่สอง ที่คือการสนับสนุนตลาดหุ้นกู้ จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้การลดความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk Mitigation หรือ CRM) ของบริษัทในภาคเอกชน หรือแบงก์ชาติจีนกำลังช่วยเสริมเครดิตให้กับภาคเอกชนขนาดกลางและเล็ก คล้ายกับว่า ช่วยเป็นผู้ค้ำประกันอย่างในสัญญา CDS (Credit Default Swap) ที่คุ้นเคยกันในวงการการลงทุน

ด้วยนโยบายดังกล่าว เท่ากับว่าแบงก์ชาติจีนช่วยลดต้นทุนของธุรกิจขนาดกลางและเล็กของภาคเอกชนจากการลดค่าพรีเมียมที่สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตลงมา โดยทางการจีนเคยให้ตัวเลขไว้คร่าวๆว่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 อย่างไรก็ดี กลไกของการได้มาของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินจีนก็ยังได้รับการกำหนดจากกลไกตลาดใกล้เคียงกับของตะวันตก

สำหรับลูกศรที่สาม ได้แก่ การสนับสนุนทางการเงินจากการแหล่งเงินในตลาดทุนของธุรกิจภาคเอกชน 

โดยทางรัฐบาลจีนคาดหวังจากช่องทางนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากพื้นฐานของระบบการเงินในมุมของธุรกิจขนาดกลางและเล็กของจีน ถือว่าอ่อนแอกว่าสหรัฐและญี่ปุ่น ดังนี้

ด้วยประชากรของจีนทั้งหมดในปัจจันมีอยู่ราว 1.6 พันล้านคน ในขณะที่มีบริษัทที่จดทะเบียนกับทางการจีนอยู่ 100 ล้านแห่ง คงไม่ต้องพูดถึง Start-up ว่าแหล่งเงินหลัก จะต้องเป็นเครือญาติเท่านั้น แน่นอนว่าแบงก์คงไม่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเหล่านี้ง่ายๆ ณ ปัจจุบัน มี SME ในจีนที่ได้รับสินเชื่อประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ 1.35 ล้านบริษัท และมีธุรกิจที่ใช้เงินของเจ้าของเปิดกิจการเองได้รับสินเชื่อในการทำธุรกิจอยู่ 11.03 ล้านแห่ง จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กของจีนเสียเปรียบในการเข้าถึงแหล่งเงินเป็นอย่างมาก

คราวนี้ ลองหันมาพิจารณาค่าเฉลี่ยของอายุธุรกิจ SME ที่อยู่รอดได้ของจีน เท่ากับ 3 ปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอายุธุรกิจ SME ของสหรัฐและญี่ปุ่น เท่ากับ 8 และ 12 ปีตามลำดับ นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยของอายุธุรกิจ SME จีนที่กว่าจะได้เม็ดเงินจากแบงก์ครั้งแรก เท่ากับ 4.5 ปี ซึ่งหมายความว่าธุรกิจ SME ของจีนต้องโกงความตายใน 3 ปีแรกก่อนจะได้รับสินเชื่อจากแบงก์เป็นก้อนแรก

ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงคาดหวังจากช่องทางการสนับสนุนทางการเงินจากการแหล่งเงินในตลาดทุนของธุรกิจภาคเอกชนในการกำจัดจุดอ่อนนี้ โดยจะเห็นได้ว่าทาง MSCI เริ่มที่จะเพิ่มน้ำหนักให้กับตลาดหุ้นจีนเป็นระยะๆในอีก 1 ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนวางแผนมาเป็นอย่างดี

อีกเหตุผลหนึ่งที่นโยบายความช่วยเหลือต่อ SME ของจีนมีความสำคัญ ก็เพราะว่า หากพิจารณาตัวเลขการปล่อยกู้ต่อธุรกิจแบบที่เป็นสไตล์เถ้าแก่ เปรียบเทียบกับ ธุรกิจแบบ SME จะพบว่า ปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยกับเถ้าแก่เยอะกว่าธุรกิจ SME อยู่หลายสิบเท่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เพราะความเสี่ยงของเจ้าของธุรกิจนั้นต่ำกว่าตัวธุรกิจเอง เนื่องจากแบงก์สามารถยึดหลักประกันกลับมาหากเกิดเป็นหนี้เสียขึ้นมา

อย่างไรก็ดี การที่แบงก์มุ่งจะปล่อยกู้แต่เจ้าของไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อภาพเศรษฐกิจจีนเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจโดยรวม ทางการจีน จึงอยากจะให้แบงก์ปล่อยกู้กับธุรกิจขนาดเล็กด้วยการสร้างนโยบายใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการให้แหล่งเงินกับธุรกิจดังกล่าว ซึ่งที่เร็วที่สุดคือการหนุนให้ตลาดทุนช่วยธุรกิจเหล่านี้

นี่คือลูกศรทางการเงินทั้ง 3 ดอกของจีนที่มุ่งสร้างระบบการเงิน ที่ต้องการให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ เพราะอย่างที่เติ้ง เสี่ยว ผิงกล่าวไว้ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ก็สามารถจับหนูได้ไม่ต่างกัน’ ครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646913