4 ข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค

การวิเคราะห์ทางเทคนิคหรือการใช้กราฟ เป็นแนวทางที่นักลงทุนหรือเทรดเดอร์รุ่นใหม่นิยมใช้มาเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นหลักสูตรการสอน หนังสือ ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการใช้กราฟจำนวนมาก แต่ยังมีผู้ที่เข้าใจคลาดเคลื่อนถึงหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ทางเทคนิคอยู่ค่อนข้างมาก ไปดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างและความจริงคืออะไร

หนึ่ง..กราฟเทคนิคเป็นเพียงตัวช่วยวางแผนการเทรด ไม่การันตีความเป๊ะ

ผู้ที่ใช้กราฟในการเทรด หลายคนคิดไปว่าเป็นเครื่องมือที่มีความแม่นยำ 100% แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องมือต่างๆที่นำมาใช้เป็นเพียงสิ่งที่นำมาใช้ในการวางแผนเท่านั้น พูดง่ายๆคือเป็นเพียงการคาดการณ์ “ความน่าจะเป็น” เช่น ช่วยกำหนดจุดซื้อ จุดขายและจุดตัดขาดทุน ไม่ได้หมายความว่าราคาจะเป็นตามที่เครื่องมือบอกเสมอไป

ตัวอย่างเช่น เครื่องมือเทคนิคที่เราใช้ประจำอาจบอกว่าราคาเป้าหมายของหุ้นตัวหนึ่งอยู่ที่ 20 บาท ปรากฎว่าราคาไปไม่ถึงเป้าหมายก็เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลงไปเสียก่อน แต่เรายังยึดติดว่ามันจะต้องถึงเพราะเครื่องมือบอกเช่นนั้น ในความเป็นจริงคือในตลาดหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เทรดเดอร์จึงต้องวางแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยการกำหนดจุดตัดขาดทุนไว้ทุกครั้งหากผิดแผน

สอง..ใช้เครื่องมือให้มากที่สุดยิ่งมีความชัวร์มากเท่านั้น 

เทรดเดอร์มือใหม่หลายคนที่เรียนการใช้เครื่องมือหรือ Indicator มา จะรู้สึกร้อนวิชาอยากใช้ประกอบการวิเคราะห์ไปหมด เรียกได้ว่าบางทีเปิดหน้าจอมามีเครื่องมือเต็มไปหมดจนรกจอ เพราะคิดว่าไปหากยิ่งมีตัวช่วยเยอะเท่าไรก็ยิ่งชัวร์เท่านั้น

ความจริงแล้ว เราควรเลือกเครื่องมือเทคนิคเพียงแค่ไม่กี่ชิ้นก็เพียงพอแล้ว เพราะยิ่งใช้มากเท่าไรจะยิ่งสับสนมากเท่านั้น เพราะเครื่องมือแต่ละชิ้นจะมีการใช้งานที่ต่างกัน เช่น บางตัวใช้เพื่อคอนเฟิร์มทิศทางระยะสั้นบางตัวคอนเฟิร์มระยะยาว ถ้าเอามาใช้พร้อมกันจะตีกันเอง (ยกตัวอย่าง เราไม่เคยเห็นใครใช้ทั้งดาบและหอกในเวลาเดียวกัน เพราะหน้าที่มันต่างกัน) เราจึงควรศึกษาการใช้เครื่องมือให้ครบและเลือกใช้ให้ตรงกับจริตของเราดีกว่า

สาม..มี Trade Setup ที่สมบูรณ์แบบบนโลกนี้ 

เทรดเดอร์หลายคนที่ได้ไปเรียนกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จซึ่งแต่ละคนจะมีหน้าเทรด หรือที่เรียกว่า Trade Setup ของตัวเองที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ผู้ไปเรียนกลับมั่นใจในวิชานั้นๆเต็มที่และคิดว่าเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ

แต่ในความเป็นจริง ไม่มี Trade Setup ของใครที่สมบูรณ์แบบที่สุด อาจจะดีที่สุดในบางช่วงเวลาที่ต่างกัน ดังนั้นอย่าไปยึดติดกับวิชา เพราะอาจารย์ที่ไปเรียนมา ล้วนแล้วแต่มีทั้งประสบการณ์ที่ดีและแย่ด้วยกันทั้งสิ้น

สี่..เป็นนักลงทุนปัจจัยพื้นฐานห้ามนำปัจจัยเทคนิคมาใช้ 

จริงอยู่ว่าเราควรเลือกใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะสับสนในแนวทางการลงทุน อย่างที่มีคำพูดว่า วีไอจำเป็น (ตอนซื้อใช้ปัจจัยเทคนิคแต่พอติดหุ้นไปอ้างว่าดูปัจจัยพื้นฐาน) แท้จริงแล้วนักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐาน (ยกเว้นวีไอสายฮาร์ดคอร์) ก็สามารถนำกราฟเทคนิคไปใช้ได้เช่นกัน แต่อาจมีสัดส่วนเพียง 20% และใช้ให้เหมาะสม เช่น ใช้ไทม์เฟรมระดับเดือนเพื่อยืนยันแนวโน้ม ส่วนเทรดเดอร์สายกราฟ ก็สามารถใช้ปัจจัยพื้นฐานมาประกอบได้เช่นกัน เช่น เลือกหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี แนวโน้มที่หุ้นจะขึ้นย่อมมีสูงกว่าหุ้นพื้นฐานแย่ เป็นต้น

และนี่คือ 4 ข้อที่คนใช้กราฟเทคนิคมือใหม่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ สรุปก็คือเทรดเดอร์ควรที่จะเข้าใจ “หลักปรัชญา” หรือหัวใจสำคัญของการใช้เครื่องมือทางเทคนิคให้เข้าใจ มากกว่าไปให้ความสำคัญกับการนำเครื่องมือไปใช้ทำกำไรให้ได้เท่านั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่เราเรียนวิชาป้องกันตัวอย่าง ยูโด คาราเต้ เทควันโด คลาสแรกคือการเรียนหลักปรัชญาของวิชาเสียก่อน ไม่ใช่ไปเรียนกระบวนท่า ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนครับ

โดย Monkey Money