โลกยุคใหม่หลัง Covid-19 จะลงทุนอย่างไรดี – Alpha Pro EP.7

แค่เพียงเวลาไม่ถึงเดือน สถานการณ์ของโลกเราในตอนนี้ ก็ค่อย ๆ ทำให้ภาพของอนาคตอันสดใสที่แต่ละคนต่างเคยวางไว้ กลับจางหายไปในอากาศ ทิ้งไว้แต่ความไม่แน่นอน ความสับสน และความท้าทาย ที่เราไม่รู้ว่า อะไรที่รอเราอยู่ข้างหน้า

Technology Disruption แค่เพียงสิ่งนี้อย่างเดียว เราก็ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่หมุนเร็วมากๆอยู่ก่อนหน้านี้มาแล้ว ไหนจะเรื่องโครงสร้างประชากรที่หลายประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยที่เดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) การบริโภคที่จะหดหายไปจากกลุ่มคนที่มีรายได้ และเงินออมมากที่สุดในระบบ เพราะต้องเก็บรักษาความมั่งคั่งของตัวเองไว้ใช้ในยามเกษียณอีก 20-30 ปีข้างหน้า

เมื่อรวมกับการที่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงกว่า มีความมั่นคงทางการเงินมากกว่า ในมุมมองของธนาคาร หรือ นักลงทุนผู้ให้กู้ ก็ยอมมั่นใจและสบายใจในการให้หยิบยืมเงินมากกว่า

การมาของวิกฤตการณ์ Covid-19 นี้ จะเปลี่ยนบริบทของสังคมนี้ไปอย่างไรบ้าง? หลายคนก็คงอยากจะรู้

ในความเห็นของผม วิกฤต Covid-19 ไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงปัจจัยหลัก ๆ ที่กล่าวมานั้น แต่คือ “บททดสอบ” โลกในยุคถัดไป ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรหลังจากนี้

มองทีละด้านนะครับ

ด้านเทคโนโลยี – เห็นชัดเจนว่าเหตุการณ์คราวนี้ การใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่าน Smart Device มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน เพราะการทำ Social Distancing ทำให้เราออกจากบ้านไปไหนไม่ได้ แต่เรายังคงต้องทำงาน และติดตามข่าวสารทุกย่างก้าว ทำให้เราเห็นความจำเป็นของการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปให้ดีกว่าวันนี้

ด้านสังคมผู้สูงอายุ – ที่เราพอจะเดาได้ว่า จะเกิดการหดตัวของอุปสงค์ จากความต้องการใช้เงินในภาพรวมที่ลดลง กลับมายังเหตุการณ์ที่เราเจอในตอนนี้ ปัญหา Demand Shock หรือ วิกฤตอุปสงค์หายเฉียบพลัน มันทำให้เรารู้ว่า ธุรกิจไหน มีความสามารถในการอยู่รอดเป็นอย่างไร ใครมีปัญหาสภาพคล่อง ใครไม่มีเงินออมฉุกเฉิน ก็จะเข้าใจสถานการณ์ตัวเองได้ดีขึ้นมาก ๆ จากเหตุการณ์วิกฤตในครั้งนี้

ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน – เรากำลังเข้าสู่ยุคดอกเบี้ย 0% อย่างแท้จริงหลังจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลทั่วทั้งโลก ต้องการลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ อย่างน้อย ๆ ก็เพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงที่มีการ Lockdown อยู่ให้ผ่านไปให้ได้ แต่ความท้าทายคือ นโยบายโปรยเงินแบบ Helicopter Money นั้น เป็นการทำให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนถูก ทั้งบริษัทดี ๆ ที่มีปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น และบริษัทที่ประสบปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงมาอยู่เดิมอยู่แล้ว

แล้วรัฐบาลจะรู้ได้อย่างไร ใครคือผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ใครคือผู้ที่ควรปรับตัวเองให้รอดก่อน?

เมื่อรู้ได้ยาก บริษัทที่มีปัญหา แต่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ ก็ถูกต่อลมหายใจให้พอที่จะสามารถยื้อชีวิตต่อไปได้ กลายเป็นบริษัทซอมบี้ (Zombie Company) คือ จะโตก็โตได้ไม่เยอะ แต่ก็ไม่ล้มหายตายจากไป

ดังนั้น เมื่อมองโลกของการลงทุนในยุคหลังวิกฤต Covid-19 เราก็จะพบว่า นักลงทุนควรมุ่งเน้นการคัดสรรที่คุณภาพของบริษัทที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการ โดยพิจารณาที่กระแสเงินสดของบริษัท มีหนี้สินในระดับที่ต่ำ มีเทคโนโลยีในมือที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และพร้อมกับยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่สูง

พอสรุปได้แบบนี้ ก็จะเห็นว่า มันคือ หลักการลงทุนเดิม ๆ ที่เราควรรู้ก่อนที่จะเกิดการระบาดของ Covid-19 เสียด้วยซ้ำ

เพียงแต่เหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ จะทำให้อัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านหมุนเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ Alpha Investor ทุกคนที่ต้องปรับตัวตามให้ทัน

แล้วธุรกิจไหนจะร่วง

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการทำ Social Distancing หรือ Lockdown เมือง ก็คือ คมนาคม ธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร สถานบันเทิง ค้าปลีก กีฬา และ การศึกษา

โดยธุรกิจที่หลีกเลี่ยงการทำ Social Distancing ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ในการที่จะทำให้ผู้ใช้บริการมีความสบายใจและมั่นใจสูงสุดในการเข้าใช้บริการว่า ตนเองจะไม่กลายเป็นพาหะ หรือ เข้าไปรับเชื้อโรคใด ๆ หลังเข้าใช้บริการแล้ว ดังนั้นแนวคิดที่จะมีการติดตามข้อมูลส่วนบุคคล หรือ การพัฒนาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นกว่า ณ ปัจจุบัน ที่ใช้ในการตรวจสอบและคัดกรองผู้มีความเสี่ยง ให้มีความแม่นยำ จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้ แม้ Covid-19 จะหยุดการแพร่ระบาดได้แล้ว

หรือ การเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปเลยอย่างสิ้นเชิง ก็เป็นตัวเลือกที่เชื่อว่า บางธุรกิจเริ่มเห็นโอกาสแล้ว ยกตัวอย่าง การศึกษาผ่านทางออนไลน์ที่มีการเติบโตชัดเจนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

รัฐบาล จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ กลุ่มประเทศในยุโรป และสหรัฐฯ นั้น พบกับความท้าทายในการขอความร่วมมือกับคนในชาติมากกว่าประเทศทางฝั่งเอเชีย

และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ โครงสร้างของระบบประกันสุขภาพที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีที่ ปธน.ทรัมป์ ยกเลิกสวัสดิการประกันสุขภาพ ที่ถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “Obamacare” (ไม่รู้ เพราะทรัมป์ไม่ได้เห็นชื่อโอบาม่าด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเปล่า)

เมื่อยกเลิกไป ก็ทำให้มีชาวอเมริกัน ที่ไม่มีประกันสุขภาพราว 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด คราวนี้ ค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐฯ ถือว่าไม่น้อย พอใครมีอาการป่วยนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่อยากเข้าโรงพยาบาล เพราะค่ารักษาแพงเกินไป

เลยรักษาตามอาการและอยู่บ้าน จนอาการทรุดหนัก และเสี่ยงเข้ารักษาไม่ทัน เสียชีวิตในเวลาต่อมา

นี่คือ ตัวอย่างให้เห็นช่องโหว่ของนโยบายบางอย่างที่ต้องแก้ไขในสหรัฐฯ แน่นอนว่า ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน

โอกาสที่อยู่ข้างหน้า

อ่านมาจนถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านคงพอเห็นบ้างว่าในฐานะนักลงทุน เราควรมองหาอะไร

ผมมองว่า Covid-19 ถูกส่งลงมาเพื่อเป็นเครื่องช่วยเตือนมนุษย์ และให้เราพร้อมจะแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่า ซึ่งกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า

ปัญหาที่เราไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงถึงกันของคนทั้งโลกต่อสิ่งที่เราตัดสินใจที่จะทำในวันนี้

ปัญหาที่เรามีความเป็นวัตถุนิยมเกินไป ทั้ง ๆ ที่สิ่งจำเป็นในชีวิตมันมีไม่กี่อย่าง เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัววางแผนเกษียณได้อย่างทันการณ์

ปัญหาที่เราละเลยไม่ใส่ใจคนข้างๆ ครอบครัวของเรา ไม่เห็นว่าเขาเหล่านั้นสำคัญมากเพียงใด

นักลงทุนแบบ Alpha Investors ในยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ดูผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่เราต้องใส่ใจสังคม และมีความสุขกับคนข้าง ๆ มากขึ้นกว่าที่เราเคยเป็นด้วยหลังจากนี้

Mr.Messenger
Alpha Pro EP.7

ที่มาบทความ: https://adaybulletin.com/know-alpha-pro-alpha-investor-covid-19/

อ่านบทความอื่น ๆ จากคอลัมน์ Alpha Pro ได้ที่ https://www.finnomena.com/alphapro/