สถิติบอกว่า ... จีนไม่น่าเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ

ตั้งแต่ย่างเข้าเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา กลิ่นของสงครามการค้าก็เริ่มรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตเมื่อคืนวันที่ 5 พ.ค. ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอัตราเดิม 10% เป็น 25% ผลที่ตามมาก็คือ เราเห็นการปรับฐานแรงในตลาดหุ้นรอบโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นจีนซึ่งเป็นคู่กรณี

จริงๆ สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะสามารถเจรจากับจีนและตกลงกันได้อย่างราบรื่นนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมากๆ สาเหตุหลักๆ คือ ตัวของประธานาธิบดีทรัมป์เอง อาจมีความต้องการให้เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุผลคือ เขาเชื่อว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจของอเมริกาดีขึ้นได้ และผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ การได้รับกลับมาเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2

แล้วสงครามการค้าจะช่วยให้เศรษฐกิจของอเมริกาดีขึ้นจริงหรือ?

เป็นที่ชัดเจนมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่ประธานาธิบดีทรัมป์เอง พยายามกดดันนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สาเหตุเพราะ ขณะที่กำลังพยายามขึ้นภาษีกับจีนอยู่ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในทิศทางแข็งค่า ทำให้ผลจากการตั้งกำแพงภาษีกับจีนลดลง เพราะสินค้าจากจีน ที่เข้ามาขายในสหรัฐฯ จะโดนภาษี แต่เพราะค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ก็เลยทำให้ราคาไม่ได้แพงขึ้นอย่างเต็มที่ และไม่รู้ว่าเพราะกดดันสำเร็จ หรือเพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวรออยู่ตรงหน้า เลยทำให้เฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยทันทีในการประชุมครั้งแรกของปี 2019 ซึ่งก็แปลว่า ปัจจัยกดดันให้ดอลลาร์แข็งค่าปัจจัยใหญ่ๆ หายไปหนึ่งอย่างทันที

ถ้าดูจากช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตว่าจะปรับขึ้นภาษีกับจีน จะพบว่า เป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีการประกาศ GDP ไตรมาส 1/2019 ซึ่งออกมาที่ 3.2% ถือว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ซึ่งแน่นอนว่า มาจากผลบวกที่ได้ดุลการค้าจากการส่งออกเพิ่มขึ้น และนำเข้าลดลงหลังจากทำสงครามการค้ามาตลอดปี 2018 เชื่อว่า ข้อมูลนี้อาจเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่า สหรัฐฯ ควรดำเนินนโยบายปกป้องการค้าต่อไปในขณะที่ยังมีอำนาจการต่อรองที่สูงอยู่

จีนจะตอบโต้การขึ้นภาษีด้วยวิธีการใด?

แน่นอนว่า การขึ้นกำแพงภาษีเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ทำ เกมส์นี้จีนเสียเปรียบเต็มๆ สาเหตุเป็นเพราะข้อมูลจากในปี 2018 บอกว่า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 5 แสน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมทุกรายการเพียงแค่ 1 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างกันเกือบ 5 เท่าตัวทีเดียว

สิ่งที่จีนทำได้อีกวิธีหนึ่ง คือสิ่งที่เหมือนจะทำมาตลอดปี 2018 ก็คือ พยายามทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า

แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายเหมือนเดิม เพราะ จีนเริ่มเปิดประเทศ เปิดตลาดหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุน ตัวดัชนี MSCI Emerging Markets Index เอง ก็นำเอาตลาดหุ้นจีน A-Share เข้าไปคำนวณ รวมถึงการพยายามผลักดัน Petroyuan ซื้อขายน้ำมันเป็นสกุลหยวนแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นการเข้าแทรกแซงค่าเงินแบบโจ่งแจ้งเกินไป มีแต่จะทำให้ความน่าเชื่อถือของค่าเงินหยวนเองลดลง

นี่จึงเป็นสาเหตุที่นักวิเคราะห์หันไปมองอาวุธอย่างที่ 3 ที่จีน

ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กระทรวงการคลังของจีนเป็นเจ้าหนี้อยู่สูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นเจ้าหนี้รายประเทศที่ถือพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว

หากจีนเกิดสู้กับสหรัฐฯ ด้วยการขายพันธบัตรสหรัฐฯ ออกจากพอร์ต นักวิเคราะห์จาก Citi Research ได้มีการคำนวณโดยตั้งสมมติฐานว่า ทุกๆ การเทขายพันธบัตรฯ 1% ของ GDP ของสหรัฐฯ จะมีโอกาสทำให้ US Treasury 10 Year Yield (หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี) เพิ่มขึ้น 0.15-0.35% พอมองออกใช่ไหมครับว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงละก็ ถึงเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้วในปีนี้ แต่ Bond Yield ก็วิ่งขึ้นสูงต่อได้อีกถ้ามีแรงเทขายในตลาดพันธบัตรในปริมาณที่มากพอ

ปี 2018 สหรัฐฯ มี GDP อยู่ที่ 20.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ 1% ของ GDP เท่ากับ 2 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แสดงว่า ถ้าจีนจะใช้กลยุทธ์ที่สร้างผลกระทบกับสหรัฐฯ ได้จริง ต้องขายพันธบัตรออกจากเงินทุนสำรองอย่างน้อยๆ ก็ต้องมี 6 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อให้ Bond Yield ดีดขึ้น 0.60-1.40% จนมีผลให้ดอลลาร์แข็งค่าอีกรอบ ดังนั้นการขายพันธบัตรสหรัฐฯ ของจีน ที่ออกข่าวมาว่า มีมูลค่า 10,400 ล้านดอลลาร์ ยังถือว่าไกลจากสิ่งที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯได้ ณ ชั่วโมงนี้ครับ อีกทั้ง หากจีนขายในปริมาณมากๆ สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือ จะขายไปถือสินทรัพย์ไหนแทนดอลล่าร์ ด้วยปริมาณเงินมหาศาลขนาดนี้ ถ้าไม่มีที่ไป ยังไงจีนก็คงไม่เร่งขายจนทำให้ราคาพันธบัตรร่วงหนัก ณ ชั่วโมงนี้แน่นอนครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647287