เมื่อสถิติบอกว่า PMI จีนเป็นแบบนี้ กระตุ้นเศรษฐกิจซักทีดีไหม

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาจากทางจีน นั่นก็คือ Manufacturing PMI ของเดือน พ.ค. ซึ่งประกาศออกมาอยู่ที่ 49.4 น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 50.1 และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 49.9

การอ่านค่า PMI แบบง่ายๆ เลยก็คือ หากดัชนีมีค่าสูงกว่า 50 ขึ้นไป แสดงว่า ภาคการผลิตยังมีการขยายตัวอยู่ และในทางตรงกันข้าม ถ้าต่ำกว่า 50 ลงมา ก็แปลว่า ภาคการผลิตอยู่ในทิศทางหดตัว ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเดือนพ.ค. ก็แปลได้ตรงๆว่า สงครามการค้ากระทบกับภาคการผลิตของจีนแล้วเต็มๆ

แต่หากไปดูตัวเลข Non-Manufacturing PMI จะพบว่า ภาพเป็นไปในทิศทางกลับกัน เพราะตัวเลขเดือนพ.ค. ออกมาอยู่ที่ 54.3 เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการและเท่ากับที่ประกาศของเดือนเมษายน.ย.ก่อนหน้า ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่า เศรษฐกิจของจีน แบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจนมากขึ้นคือ การบริโภคขยายตัวได้ดี ขณะที่ภาคการผลิตรวมไปถึงการส่งออกเริ่มชะลอ

คราวนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เราก็ควรเข้าไปดูในรายละเอียดเพื่อคาดการณ์ว่า เราจะเจอกับสิ่งใดต่อจากนี้และไปวางแผนการลงทุนกันต่อ ซึ่งตัวเลขอีกตัวที่ควรไปดูก็คือ New Orders หรือ ยอดการสั่งซื้อใหม่ ทั้งภาคการผลิต และนอกภาคการผลิต (Manufacturing & Non-Manufacturing) พบว่า ตัวเลขนี้ ย่อตัวลงมาแตะจุดเดิมตอนเดือนธ.ค. ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานในจีน ร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 2009 ทีเดียว

ก็ทำให้เกิดคำถามว่า แล้ว Non-Manufacturing PMI ในเดือนพ.ค. ยังขยายตัวได้อย่างไร ในขณะที่ New Orders และ Employment ชะลอตัวลง ซึ่งคำตอบก็คือ เป็นการขยายตัวจากภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะตัวเลข Chinatown Property Prices ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องมากกว่า 7% ในเดือนพ.ค. รวมถึง Consumer Confidence หรือความเชื่อมั่นผู้บริโภค พุ่งขึ้นมาทำจุดสุงสุดใหม่

ด้วยชุดข้อมูล PMI ที่เราทราบกันครั้งนี้ ผมได้มุมมองต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของจีนตามนี้

1. Trade Wars กระทบกับภาคการผลิตและการส่งออกในจีนจริง และดูมีความน่ากังวลว่าจะยังไม่ฟื้นหากผู้นำทั้งสองฝ่ายเจรจาสงบศึกกันไม่ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

2. แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า บรรยายการลงทุนในภาพรวมของจีนจะไม่ดี เพราะ ฝั่งการบริโภคภายในประเทศ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

3. แต่ทั้งนี้ตัวเลขการจ้างงานที่ลดลงจากการชะลอตัวของภาคการผลิต ผมเชื่อเหลือเกินว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลจีนเองติดตามอย่างใกล้ชิด และอาจจะมีนโยบายกระตุ้นออกมาก็เป็นไปได้

Trade Wars หรือ สงครามการค้า ทำให้ Sentiment ของตลาดเสียไป ระดับราคาของสินทรัพย์เสี่ยงก็ปรับฐานลงมา ทั้งหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์

แต่เราก็เห็นมาตลอดว่า จีนมีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายอยู่ในมือ รอก็เพียงจังหวะที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การลด Reserve Requirement Ratio อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ หรือ มาตรการทางการคลัง ซึ่งไม่ว่า จะกระตุ้นด้วยวิธีการใดบ้าง สิ่งที่ทางการจีนต้องการเห็นแน่ๆ ก็คือ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต และนอกภาคการผลิต

ถ้าการจ้างงานยังเพิ่มขึ้น การบริโภคภายในจีนก็จะยังคงแข็งแกร่ง ตลาดอสังหาฯ ก็เชื่อได้ว่า ราคายังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง ถึงตรงนี้ ก็จะเห็นแล้วว่า ภาคการบริโภคในจีนจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่สำคัญต่อไป และยิ่งภาคการผลิตมีการชะลอ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ที่จะมีในอนาคต จะส่งผลดีต่อการบริโภคภายในจีนตามไปด้วย

แล้วเมื่อไหร่จีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม?

ตรงนี้ละครับที่ท้าทาย เพราะช่วงเดือนเม.ย. เป็นทางการจีนเองทื่เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำมาตั้งแต่ต้นปีอาจไม่มีความจำเป็น ดังนั้น ผ่านไปแค่เดือนเดียว จะกลับลำทันทีผมเห็นว่า โอกาสค่อนข้างต่ำ ก็ก็ต้องยอมรับอีกอย่างนะครับว่า มุมมองในตอนนั้นอาจจะเปลี่ยนไป เพราะหลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 5 พ.ค. ปธน.ทรัมป์ ก็ทวิตเริ่มต้นสงครามการค้ากับจีนอีกรอบ เราคงต้องรอให้ผู้นำทั้งสองพบกันในการประชุม G20 วันที่ 27-28 มิ.ย. ที่จะถึง เพื่อดูว่า 2 มหาอำนาจจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ หากไม่ได้ และตัวเลขเศรษฐกิจยังทรุดต่อในเดือนมิ.ย. เชื่อว่า เดือนก.ค. จีนก็จะกลับมาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ และตรงนั้น ก็จะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนที่ดีอีกครั้งสำหรับนักลงทุนผู้มีความอดทนครับ

ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647400

PMI คืออะไร? อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/crisisman/pmi/