จุดสูงสุดใหม่ ทำได้ไหมในครึ่งปีหลัง 2018?

ผ่านไปแล้วในครึ่งปีแรกของปี 2018 ถือว่าเป็นครึ่งปีที่ความผันผวนกลับมาอยู่คู่กับนักลงทุนอีกครั้งแบบไม่ทันตั้งตัวนะครับ จบครึ่งปีแรกไป

กลายเป็นว่า ตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวลงแรงมากที่สุดอยู่ที่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) โดยตลาดหุ้นเกิดใหม่ถึง 4 ตลาด ที่ปรับฐานลงไปมากกว่า -20% ในครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นระดับที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคมองว่า ตลาดเข้าสู่ภาวะหมี หรือ Bear Market นั่นก็คือ ตลาดหุ้นตุรกี -29%, ตลาดหุ้นแอฟริกาใต้ -22%, ตลาดหุ้นอาร์เจนติน่า -22% และ ตลาดหุ้นบราซิล -21% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเราติดลบ -9% และลงมาปิดต่ำกว่า 1,600 จุด เมื่อจบไตรมาส 2/2561

ตอนนี้เริ่มมีคำถามที่นักลงทุนในตลาดหุ้นถามกันหนาหูมากขึ้นว่า “เป็นไปได้ไหมที่ตลาดหุ้นไทยจะสร้างจุดสูงสุดใหม่ในครึ่งปีหลัง”

ดัชนี SET Index ทำราคาปิดสูงสุดตลอดกาลใหม่ไว้ในไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ระดับ 1,838.96 จุด แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index ปิดที่ 1,595.58 จุด คิดเป็นการปรับฐานจากจุดสุงสุดมาแล้วลึกถึง -13% ทีเดียวนะครับ ยิ่งนานไป ดูเหมือน SET Index จะยิ่งห่างไกลจากจุดสูงสุดเมื่อต้นปีมากขึ้นเรื่อยๆ

และนี่คือเงื่อนไข ในมุมมองของผมว่า ถ้าหากเกิดขึ้นจริง ในครึ่งปีหลังนักลงทุนก็ยังคงสามารถลุ้นดัชนีตลาดหุ้นไทยสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งครับ

นักลงทุนต่างชาติ ต้องกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิ

อ่านเหตุผลแรกปั๊บ นักลงทุนก็คงบอกว่า ใช่สิ พูดนะง่าย แต่เรื่องจริงถือว่ายากมาก เพราะในครึ่งปีแรก นักลงทุนต่างชาติขายออกจากตลาดหุ้นไทยไปมากถึง -180,076.55 ล้านบาท ซึ่งได้รับแรงกดดันมาจาก การที่สภาพคล่องของโลกกำลังลดลง จากการทยอยลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการทยอยลดขนาดวงเงิน QE และจะนำไปสู่การยุติโครงการ QE ภายในสิ้นปีนี้ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นี่คือปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ซึ่งผมได้เขียนถึงในบทความฉบับก่อนหน้านี้ไปแล้ว

สงครามการค้า ต้องหาข้อสรุปให้เจอโดยเร็ว

การขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ มีอีกหนึ่งปัจจัยเร่งก็คือ มาจากกลิ่นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าหลักที่สหรัฐฯ เสียดุลให้เป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน, แคนาดา, ยุโรป และ เม็กซิโก ในมุมหนึ่ง ผมเชื่อว่า วิธีการที่ปธน.ทรัมป์ใช้อยู่ ณ ตอนนี้ ก็คือ สร้างอำนาจการต่อรอง ดึงทุกฝ่ายเข้ามาตั้งโต๊ะเจรจากันเป็นรายๆ ประเทศ เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ เสียดุลการค้า ก็เพราะ การร่วมกลุ่มกันของประเทศอื่นๆ สร้างอำนาจการต่อรองกับสหรัฐฯ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องแตกกลุ่มก้อนเหล่านี้ออก และเจรจาเป็นรายๆ ประเทศไป ถึงจะได้ประโยชน์กับตนเองมากที่สุด ทั้งนี้ เชื่อว่า เมื่อมีการตั้งโต๊ะเจรจาเกิดขึ้น เงื่อนไขต่างๆ จะลดหย่อนลง และไม่รุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์อยู่ ณ ตอนนี้

แต่คำถามก็คือ เมื่อไหร่จะมีการเจรจากันอย่างจริงจัง? คำตอบก็คือ อาจจะต้องผ่าน Midterm election ออกไปก่อน ซึ่งคือประมาณกลางเดือนพ.ย. ปีนี้เลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ง่ายเลยครับสำหรับประเด็นนี้

เศรษฐกิจไทย ต้องขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมา จีดีพีไทย โตในระดับ 4.80% YOY ซึ่งถือว่าขยายตัวดีที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส ซึ่งสัญญาณฟื้นตัวก็มาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งขยายตัวได้ 3.6% และ 3.1% ตามลำดับ ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์มีการประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ ในแง่ของรายได้เกษตรกร ก็ขยายตัวสูงถึง 9% ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดในรอบ 13 เดือน สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น แต่จากประมาณการของสศค.จะพบว่า มีการคาดการว่าจีดีพีไทยทั้งปี 2561 จะอยู่ที่ 4.4-4.5% จุดนี้เองก็เป็นจุดที่ผมมองเห็นว่า การเติบโตได้ดีในตอนนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุน มีความคาดหวังต่อเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าอยู่มากแล้ว การที่จะเร่งการขยายตัวให้มากขึ้นกว่านี้ ก็อาจจะจำเป็นต้องเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่มากขึ้น ถามว่ามีหวังไหม ผมว่านักลงทุนหลายคนก็หวังอยู่นะครับ

เมื่อดูจาก 3 เหตุผลที่จะทำให้หุ้นไทยกลับขึ้นมา

จะเห็นว่า ข้อที่มีโอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างยากเลยก็คือ การจะให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในยามที่สภาพคล่องในระบบมันลดลงเรื่อยๆ และอาจเร่งตัวมากขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยที่กระทบกับ Fund Flow ทั้งตลาดเกิดใหม่มากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่อง Trade Wars เชื่อว่าระยะยาวก็จะค่อยๆ คลี่คลาย ด้านเศรษฐกิจไทยก็มั่นใจว่ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องนะครับ แต่อาจสู้แรงเงินทุนไหลออกไม่ไหว ดังนั้น ผมมีมุมมองว่า จุดสูงสุดใหม่ ตลาดหุ้นไทยอาจทำได้ครับ แต่คงไม่ใช่ในครึ่งปีหลัง อาจเป็นปี 2019 มากกว่า

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645006