เป้าหมายสำคัญของชีวิตเราในด้านการเงินก็คือ เกษียณแล้วมีความสุข มีเงินพอกินพอใช้ และถ้าจะให้ดีก็คือ ต้องเหลือกินเหลือใช้

หลายคนที่ยังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองรัก ยังไม่เจอสิ่งที่ตัวเองถนัด ก็เอาสติปัญญา และแรงกายของตัวเองไปแลกเป็นค่าตอบแทน ค่าจ้างแรงงาน  แล้วพยายามเก็บหอมรอมริบ ทำให้เงินก้อนนี้งอกเงย โดยมีความหวังว่า ฉันจะเกษียณให้เร็ว ฉันจะออกจากที่ที่ฉันอยู่ตรงนี้ให้ได้โดยเร็ว จะได้ออกไปตามหาฝันของตัวเองเสียที

ใครที่คิดอยากเกษียณเร็ว โดยไม่คิดรอบด้าน บทความนี้ขอทำหน้าที่ดึงสติของทุกท่านให้กลับมามองให้รอบ และตามความเป็นจริงกันซักหน่อยว่า การรีบวางแผนเกษียณเร็วเกินไป ไม่ใช่เรื่องดีต่อชีวิตทุกคนเสมอไปนะครับ

ข้อแรก : ยิ่งเกษียณเร็ว แปลว่า กระแสเงินสดรับ ก็หมดเร็วกว่าคนอื่น

สมมตินะครับ คุณตัดสินใจจะเกษียณตัวเองตอนอายุ 45 ปี ขณะที่เพื่อนของคุณอีกคน อายุเท่ากัน และยังทำงานต่อ สมมติให้อีกว่า เขามีรายได้เท่าคุณ ที่เดือนละ 100,000 บาท

แปลว่า เพื่อนคุณมีเวลาอีก 15 ปี (จนถึงอายุ 60 ปี) ที่จะสร้างกระแสเงินสดอีก 100,000 บาท ไปทุกเดือนหลังจากนั้น บนสมมติฐานว่า เงินเดือนไม่ขึ้นเลยนะ คิดเป้นเงินเท่าไหร่ล่ะ? 18 ล้านบาท ครับ และย้ำอีกทีว่า นี่คือ ขั้นต่ำ สมมติว่า เพื่อนคุณเงินเดือนไม่ขึ้นเลย และไม่ได้โบนัสอะไรหลังจากนั้นอีก 15 ปี

ดังนั้นก็ต้องคิดดีๆครับ อาชีพที่คุณทำอยู่ มันถึงขั้นทนไม่ได้แล้ว ไม่มีความสุขมากขนาดนั้น?

ออฟชั่นมันไม่ได้มีแค่กระโดดออกจากงานมาเลยครับ มันมีตัวเลือกคือ ไปหาอย่างอื่นที่เราทำได้ ถึงไม่สุขมาก แต่อาจมีความทุกข์ที่พอทนได้มากกว่าที่ทำงานเก่า ก็ยังดีกว่า กระโดดออกมา แล้วหากระแสเงินสดรับไม่เจอ ใช้เงินก้อนให้หมดไปเรื่อยๆ

ข้อสอง : ยิ่งเกษียณเร็ว แปลว่า แบกค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนอื่น

ตอนคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน คุณมีประกันสังคม คุณมีสวัสดิการบริษัท ประกันสุขภาพต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน และตามความใจดีของนายจ้าง ถ้คุณรีบเกษียณ ออกจากงานมาทันที แปลว่า สิทธิเหล่านี้ ก็หมดไปทันทีนะครับ ได้คิดมุมนี้กันหรือเปล่า

พอเจ็บป่วยขึ้นมา ก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง แถมยิ่งอายุเยอะ โรคภัยมีแต่จะรุมเร้ามากขึ้น และถึงจะทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง เบี้ยประกันที่จ่ายไป ก็เงินเรานะครับ ไม่ใช่สวัสดิการพนักงาน

อีกมุมหนึ่งคือ การเป็นผู้ใช้แรงงานรับรายได้จากบริษัทที่จดทะเบียนในไทย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆ เพื่อทำให้ต้นทุนการเงินของเราต่ำลง ไม่ว่าจะเป็น LTF & RMF , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , เบี้ยประกันภัย ฯลฯ

สุดท้ายที่ต้องคิดอีกอย่างคือ คุณต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณยาวกว่าคนอื่นนะครับ

สมมติ อายุ 50 ปี คิดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 90 ปี

รีบเกษียณก่อน ก็ต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือ 90 ปี – 50 ปี เท่ากับ 40 ปีทีเดียว

แต่ถ้าเกษียณตอนอายุ 60 ปี จะมีชีวิตหลังเกษียณ คือ 90 ปี – 60 ปี เท่ากับ 30 ปี น้อยกว่ารบเกษียณถึง 10 ปีนะ

สมมติมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่อเดือน ซักเดือนละ 30,000 บาท

10 ปี ก็เท่ากับ การรีบเกษียณ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เกษียณปกติถึง 3,600,000 บาท

ไม่น้อยนะครับ

ข้อสาม : ค่าใช้จ่ายแฝงที่มองไม่เห็นก็เยอะ

ผมยกตัวอย่าง พี่ที่ผมรู้จักคนหนึ่ง แต่งงานกับภรรยามา 20 ปี วางแผนเกษียณเร็วกับภรรยาพร้อมๆกันตอนอายุ 48 ปี (เมื่อ 5 ปีก่อน) ตอนนั่งคุยกัน พี่ผู้ชายบอกผมว่า ต้องเกษียณตอนมีแรงเที่ยวนี่ละ แก่ตัวไป เดี๋ยวจะกลายเป็นเอาเงินไปใช้กับค่ารักษาพยาบาลหมด พี่สองท่านนี้ ดูแลสุขภาพดีมากนะครับ ออกกำลังกายอย่างดี  ลงวิ่งมาราธอนกับเขาด้วย และคุมอาหารด้วยการกินอาหารคลีน อาหารเพื่อสุขภาพ

มาวันนี้ พี่ทั้งสองก็ยังแข็งแรงดีครับ มีชีวิตที่ผมก็อาจฉานะ เพราะไปไหนมาไหนกับภรรยา 2 คนก็ได้ ไม่มีภาระอะไร แต่พอได้คุยกับพี่ผู้ชายเพิ่มเติม ก็พบว่า ภายใต้ความสุข มีความกังวลซ่อนอยู่

ความกังวลที่เกิดขึ้น มาจาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินเก็บลดลงมากกว่าที่ตัวเองคิดพอสมควร พอไปไล่รายการดูว่าเกิดจากรายการที่ไม่คาดคิด เช่น อาหารคลีนที่ทานทุกวัน มันแพงกว่าอาหารปกติ จะปลูกผักออแกนนิคก็ทำไม่ได้ เพราะ ทั้งสองคนอยู่คอนโดฯ อีกเรื่องคือ พี่ผู้ชายเป็นลูกชายคนกลางของบ้าน ที่มีลูก 3 คน แต่พี่สาว และน้องชาย ยังมีงานประจำทำอยู่ และมีลูกๆที่ต้องดูแล กลายเป็นว่า ตัวเองและภรรยา มีเวลาว่างมากที่สุด ก็รับหน้าที่ดูแลบุพการี ซึ่งอายุ 70 กว่า จะ 80 แล้ว

แต่จริงๆ แกก็ทำด้วยความเต็มใจนะครับ ไม่ได้เกี่ยงงอนอะไร แต่เพราะต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ และมีเวลาอยู่กับท่านมากที่สุด ไปเที่ยวไหน ก็ออกค่าใช้จ่ายให้ด้วย เพราะตัวเองก็ไม่ได้มีลูกหลายอะไร

สิ่งที่พี่เขาทำตอบแทนคุณพ่อคุณแม่ สำหรับผม เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่แสดงให้เห็นว่า มันอยู่นอกแผนที่วางเอาไว้ตอนแรก

แน่นอนว่า เคสของแต่ละคน ก็อาจจะเจอที่แตกต่างกันไป คงไม่เหมือนกันทุกเคส แต่มันก็พอจะบอกได้ครับว่า มันมักจะมีต้นทุนที่เรามองไม่เห็นอยู่เสมอ ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ

ข้อสี่ : ขาดเป้าหมายในการเดินหน้า

ข้อนี้ชัดมากครับ เพราะคนที่อยากรีบเกษียณส่วนใหญ่ มักอยากจะหยุดทำงานไปเลย จะด้วยเพราะเบื่อ เพราะเครียด หรืออยากใช้ชีวิตตามใจตัวเองก็เถอะ

จะบอกว่า ถ้าคุณหยุดทำงานตอนอายุ 40 ขึ้น หรือไป Early Retire ตอนแถวๆ 50 ปีเนี่ย หางานทำยากมากนะครับ เพราะฐานเงินเดือนเราสูงมากแล้ว และเราก็ไม่ค่อยยากจะลดราคาตัวเอง รวมถึงบางคน ไม่คุ้นกับการเป็นลูกน้องเด็กที่มีอายุน้อยกว่าตัวเอง มันไม่เหมือนกับตอนเราลาออกจากงานตอนอายุ 20 ปลายๆ พักซัก 2-3 เดือน กลับมาหางาน ก็ยังมีคนเรียกไปสัมภาษณ์เรื่อยๆ

พอรีบเกษียณเพื่อออกมาเที่ยว ผมคิดว่า มนุษย์เรา ไม่ได้อยากจะเที่ยวบ่อยขนาดนั้นหรอกครับ ยังไงมันก็มีวันเบื่อ ถ้าไม่อยากเที่ยวให้เบื่อ ก็ต้องอัพเกรดแพคเกจเที่ยวให้สนุกขึ้น หรูขึ้น มันก็ไปกระทบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีก

ดังนั้น คงจะดีกว่านี้เยอะเลยครับ ถ้าเรามีแผนหลังเกษียณจริงๆจัง ไม่ใช่แค่เที่ยว หรือ ใช้ชีวิตไปวันๆ

เชื่อผมครับ คนเราเกิดมาเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและคนรอบๆตัวเรา

สรุปจากบทความนี้

ไม่ได้จะยับยั้งความคิดเกษียณเร็วของทุกคนนะครับ

ผมแค่จะชวนคิดให้รอบก้านอีกซักหลายๆรอบหน่อยว่าเราพร้อมกับการเกษียณเร็วแล้วจริงหรือไม่?

เราจะเลี้ยงตัวเองหลังจากนั้นด้วยเงินจากไหน?

เรามีค่าใช้จ่ายใดๆในอนาคตที่ลืมคิดถึงไปหรือเปล่า?

เรามีเป้าชัดว่า หลังเกษียณไปจะทำอะไรให้ตัวเองมีความสุขอย่างยั่งยืนแน่ๆใช่ไหม?

ถ้าทบทวนแล้ว มั่นใจ ก็ลุยครับ !!

iran-israel-war