สอนลูกอย่างไรให้ลงทุนเป็น

หนึ่งในเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนที่มีครอบครัวแล้ว ก็คือ วางแผนลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกๆเรา วิธีก็คือ ไปดูสิว่า ค่าเทอมของโรงเรียนที่เราอยากให้ลูกเข้าเรียน มันเทอมละเท่าไหร่ คูณจำนวนปีไป และบวกกับค่าใช้จ่ายในอนาคต

ง่ายกว่านั้น สำหรับพ่อแม่บางคน ก็ใช้วิธีการแบ่งเงินออมบางส่วนมาออมเพื่อลูกไปเลย เช่น 30% หรือ 50% ของเงินออม กันไว้ให้ลูกเราใช้ในอนาคต ยังไม่ต้องไปคิดถึงเป้าหมายว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่จริงๆ

ถามว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำเพื่อลูกแบบนี้ ทำถูกต้องแล้วหรือเปล่า?

แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่ลูก คือ หน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่อยู่แล้วครับ

แต่ถามว่า นี่คือ ครบทุกอย่างที่พ่อแม่จะให้ได้เกี่ยวกับการศึกษาหรือไม่

คำตอบ ในความเห็นของผมคือ “ไม่ใช่”

เพราะจากประสบกาณณ์ของคนรอบข้าง และการเข้าไปตามอ่านปัญหาการเงินในห้องสินธร หลายๆกรณี พบว่า ปัญหาการเงิน เกิดจาก การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านการเงิน

ดังนั้น อีกหน้าที่หนึ่งที่เราควรทำ ก็คือ การให้ความรู้ด้านการเงินอย่างถูกต้อง และต้องไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียน หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย มันคือ หน้าที่ของเรา คนที่รักลูกของเรามากที่สุดนั่นเอง

แล้วจะสอนลูกอย่างไรให้ลงทุนเป็น?

บทความนี้ ขอเสนอวิธี โดยแบ่งเป็นระยะ ตามระดับการศึกษาของลูกๆของเรานะครับ

ก่อนเข้าโรงเรียน จนถึงอนุบาล – หว่านเมล็ดแห่งองค์ความรู้

แน่นอนว่า เด็กๆคงยังไม่เข้าใจว่า ในแต่ละวันๆ เด็กๆโตขึ้น สูงขึ้น เรียนรู้อะไรได้มากขึ้น ว่ามันเป็นเพราะอะไร คำตอบที่พอจะทำให้เขาเข้าใจได้ก็คือ “เวลา”

เมื่อเวลาผ่านไป เราจะโตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น มีประสบการณ์สูงขึ้น ดังนั้น การให้เขาเรียนรู้เรื่อง “เวลา กับ การลงทุน” ในวัยนี้ เราสามารถปลูกฝังได้ทันที โดยยกตัวอย่างเช่น ไปหาเมล็ดต้นไม้ที่ดูแลง่ายๆอย่างถั่วงอก มาให้เขาลองปลูก ดูแล และรดน้ำต้นไม้ทุกๆวัน ให้เขาเฝ้าดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ไปเรื่อยๆ เขาจะเข้าใจว่า หลายสิ่งในโลกนี้ จำเป็นต้องให้เวลา ก่อนจะเก็บเกี่ยวจากมันได้

การลงทุนก็เช่นกัน มันคือการจ่ายเงินในวันนี้ เพื่อให้ออกดอกผลในอนาคตที่คุ้มค่า

เมื่อเขาโตขึ้นมา เขาจะเห็นคุณค่ากับการให้เวลาสิ่งต่างๆ และรู้จักการรอคอย

ประถมวัย – เข้าใจที่มาของรายได้ และผลลัพธ์ของการรอคอย

เด็กในวัยนี้ เขาซึมซับข้อมูลได้มากกว่าที่เราคิดนะครับ เขาสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆรอบตัวได้ และเป็นช่วงที่สนใจโลกในมุมที่กว้างออกไปกว่าเดิมมากๆ

เราสามารถให้เขาเรียนรู้ และเข้าใจข้อเท็จจริงของโลกใบนี้ในมุมธุรกิจแบบง่ายๆก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เราพาเขาเข้าไปทานอาหารที่ร้าน McDonald ก็ลองถามเขาดูครับว่า ถ้าร้านอาหารขายแต่ เบอร์เกอร์หมู อย่างเดียว ไม่ขายเบอร์เกอร์ประเภทอื่น ไม่ขายน้ำ ไม่ขายไก่ทอด คิดว่า ร้าน McDonald จะเป็นอย่างไร

เชื่อผมเถอะครับว่า คำตอบที่คุณได้รับ อาจจะทำให้คุณตกใจว่า เด็กตัวเล็กๆแค่นี้ ก็เข้าใจหลักการทำธุรกิจ และการกระจายความเสี่ยงแล้วว่า ต้องขายหลายอย่าง ลูกค้าแต่ละคนชอบอาหารแตกต่างกัน อันนี้คือมุมหนึ่งที่คุณปลูกฝังลูกไว้แต่เนิ่นๆ โดยเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา

อีกมุมหนึ่งที่ควร Input ใส่เข้าไปในสมองเขา ก็คือ การรอคอยบางอย่าง ไม่ได้ในผลตอบแทนที่คุ้มค่าเสมอไป

ผมเป็นคุณพ่อคนหนึ่งที่ลูกชายชอบคะยั้นคะยอให้ซื้อเจ้าสิ่งที่เรียกว่า Surprise Egg ซึ่งคือ ขนมรูปไข่ ที่เราไม่รู้ว่าข้างใน มีของเล่นอะไรอยู่

เด็กๆทุกคนชอบการ Surprise ครับ อันนี้เป็นธรรมชาติของเขา

แต่ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่เจออย่างผม ก็จะพบว่า ของเล่นใน Surprise Egg พวกนี้ ดูจะไม่ค่อยคุ้มราคาที่เราจ่ายไปซักเท่าไหร่ ออกจะแพงจนน่าเกลียดเสียด้วยซ้ำ

คำแนะนำของผมก็คือ ลองซื้อพวกล๊อตเตอรี่ให้เขาถือ อธิบายการได้รางวัล ให้พวกเขาฟังอย่างน่าจูงใจว่า มีโอกาสได้เงินจำนวนมากจากรางวัลที่หนึ่งขนาดไหน

พอถึงวันประกาศผล (ภาวนาให้ไม่ถูกซักตัวนะครับ จะได้สอนต่อได้ 5555) ก็อธิบายให้เขาฟังถึงโอกาสถูกรางวัลว่ามันโอกาสน้อยแค่ไหน และใส่ความคิดเข้าไปเลยว่า สิ่งนี้ไม่ใช่การลงทุน มันไม่คุ้มค่า และการรอคอย หรือการให้เวลากับสิ่งที่ไม่คุ้มค่า ก็เสียเลาเราครับ

จากนั้น ลองขยายขอบเขตของตัวอย่างดูครับว่า เจ้า Surprise Egg ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน และหลายๆอย่างในโลก ก็ไม่คุ้มค่าการรอคอยเหมือนกับเจ้าล๊อตเตอรี่นี้

มัธยมต้น – ความสวยงามของดอกเบี้ยทบต้น และ เงินเฟ้อ

ดอกเบี้ยทบต้น ไม่ใช่คณิตศาสตร์ที่ยากเกินไป เด็กในวัยนี้สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถคำนวนผลตอบแทนให้ลูกๆของคุณเห็นได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ระหว่างสิ่งที่เขาอยากได้ กับ การเอาเงินไปลงทุน ผลลัพธ์ทางด้านตัวเลขจะแตกต่างกันอย่างไร

เช่น เงินก้อนที่เราซื้อโทรศัพท์มือถือให้เขาเมื่อปีที่แล้ว ผ่านไปอีก 10 ปี มูลค่าจะเหลือเท่าไหร่ และเปรียบเทียบกับการนำเงินก้อนนี้ไปฝากธนาคาร หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม

ขั้นตอนสำคัญของเด็กวัยนี้ก็คือ อย่าชี้นำเขานะครับ ให้เขาคิดเอง เพราะเขาเริ่มคิดว่า เขาสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว เขาโตแล้ว เราก็ต้องคอยมองอยู่ห่างๆ แลพให้ความเห็นให้ถูกที่ถูกทาง ณ จังหวะที่เหมาะสม

อีกตัวหนึ่งคือ ลองให้เขาสังเกตราคาสินค้าที่เราซื้อมาใช้ทุกๆปีนะครับ ว่ามันเปลี่นแปลงอย่างไร ซึ่งจริงๆสิ่งนี้ คอยชี้ให้เขาเห็นตั้งแต่นับเลขเป็นแล้วก็ได้ ขาจะเริ่มสังเกตว่าราคาสินค้าต่างๆมันขยับขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว

นี่ละครับ มันคือ เงินเฟ้อ สิ่งที่ลูกของเราต้องต่อสู้ในการออมและการลงทุน เพื่อชนะมันให้ได้ในระยะยาว

มัธยมปลาย – เชื่อมโยงชีวิตประจำวัน กับ การลงทุน

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งนะครับ ว่าเราอยู่ในสังคมวัตถุนิยม หยิบจับอะไร ก็คิดเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด ดังนั้น นี่คือ โอกาสในการเรียนรู้เรื่องการลงทุนที่ดีเลย เพราะ สินค้าที่ขายดี สินค้าที่คนใช้เยอะ แปลว่า เจ้าของสินค้าก็มีกำไรเยอะมากขึ้น ตั้งคำถามสิครับ ถ้าเราเป็นเจ้าของสินค้าชนิดนั้นๆ คงดีไม่น้อยเลย

ลูกเรา พอได้เห็นภาพเบื้องหลังแบบนี้ เชื่อว่า ก็อาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไป ไม่ใช่แค่เป็นผู้บริโภคสินค้าเพียงอย่างเดียว

ลองภาพเขามองประเทศไทยในมุมกว้างขึ้นดูครับ ว่ามีแบรนด์สินค้าอะไรบ้างที่คนใช้เยอะๆ หรือ เอาที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้ รวมมาเป็นก้อนปั๊บ ก็บอกเขาครับ สินค้าเหล่านี้ บริษัทเหล่านี้ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ลูกๆสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของได้ ก็ด้วยคำว่า “ลงทุน”

เด็กสมัยนี้ มีสกิลในการหาข้อมูลสูงครับ ถ้าเขาสนใจ เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร เขาจะสามารถต่อยอดได้เองแน่นอน

สรุปแนวคิด

แนวทางที่ผมให้ไว้ในบทความนี้ มันตั้งอยู่บนแนวคิด และความเชื่อส่วนตัวของผมว่า การให้ใครสักคนรู้จักเรื่องการลงทุน มันไม่ใช่การโยนหนังสือให้เขาอ่านหลายๆเล่ม หรือการให้กระโดดลงไปสนามแล้วไปเรียนรู้เองโดยไม่เต็มใจ

แต่คือ การซึมซับวิธีคิดอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก การเรียนรู้ และเข้าใจการลงทุนอย่างถูกต้องในระยะเวลาที่มากพอครับ

ยิ่งเราเริ่มต้นได้เร็ว เขาซึมซับได้เร็ว ก็เท่ากับ เราให้ของขวัญที่มีค่ามากกว่าแค่ เก็บเงินให้เขา แล้วเอาไปใช้แบบผิดวิธีนะครับ

Mr.Messenger

iran-israel-war