รู้ให้ลึก: กรณีศึกษา Tesla กับการหาโอกาสการลงทุนในอนาคต

ในปี 2020 ที่กำลังจะผ่านไป ผลตอบแทนของหุ้นเทสล่า (Tesla) บวกไปมากกว่า 700% ในขณะที่มีการรายงานว่า ในไตรมาส 3/2020 เทสล่ามียอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น 139,593 คัน เพิ่มขึ้น 54% จากไตรมาส 2/2020 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดย 9 เดือนที่ผ่านมาเทสล่ามียอดขายรวม 320,000 คัน (ตั้งเป้าว่าปีนี้จะทำยอดขายได้ถึง 500,000 คัน) จะเห็นว่า รายได้และกำไรเติบโตดีก็จริง แต่ราคาหุ้นของบริษัท ดูเหมือนจะเกินจริงไปมากกว่าเยอะถ้าเราใช้มุมมองของการประเมิณมูลค่าแบบเดิมที่เราใช้กันมา และอาจนึกไปได้เลยว่า เทสล่า โดนปั่นขึ้นมาและมีโอกาสมาก ๆ ว่า จะโดนแรงขายอย่างหนักในไม่ช้า

อะไรที่ทำให้นักลงทุนสนใจเทสล่ามากขนาดนี้?

นอกจากเรื่องความโดดเด่นที่เรารู้อยู่แล้ว ก็คือ การใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักโดยไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว เทคโนโลยี ที่คือ จุดที่เด่นมากที่สุดของของเทสล่า ก็คือ การมีระบบ Autopilot หรือระบบช่วยขับอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นจุดสร้างความแตกต่างในตลาดรถยนต์อย่างมาก

โดยระบบ Autopilot นี้จะใช้ AI ทำการประมวลผลวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการขับขี่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์และระบบต่าง ๆ ของตัวรถ นี่คือ สิ่งที่ทำให้นักลงทุนสนใจหุ้นอย่างเทสล่าอย่างที่สอง

อีกเรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงความสนใจของนักลงทุนได้มากในปีนี้ก็คือ เรื่องของ “แบตเตอรี่”

ทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่าแบตเตอรี่ที่ใช้กันอยู่ก่อนหน้านี้ โลกเราใช้ “โคบอลต์”

ซึ่งเจ้าโคบอลต์ นี้ ก็นำมาใช้ในการแบตเตอรี่รถยนต์ของเทสล่าด้วยในเฟสก่อนหน้านี้ สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของโคบอลต์ ก็คือ มันเป็นแร่ธาตุที่หายาก แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกาโน้นเลย

Supply น้อย แต่สวนทางกับความต้องการในตลาด จากเทรนด์การกักเก็บพลังงานจากพวก Renewable Energy ที่มีมากขึ้นเรื่อง ๆ มันเลยทำให้โคบอลต์ แร่ธาตุที่มีราคาค่อนข้างแพง ส่งผลโดยตรงต่อราคาแบตเตอรี่ ทำให้ราคารถที่เทสล่าผลิตออกมานั้น ยังเกินเอื้อม และไกลจากการเข้าถึงคนหมู่มาก

แต่ปี 2019 ก็มีจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบริษัทผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ที่ชื่อ CATL ได้ประกาศว่า จะผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ที่สามารถวิ่งได้มากกว่า 1.9 ล้านกิโลเมตร ในขณะที่อายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ในปัจจุบัน เพียงแค่ 320,000 กิโลเมตรเท่านั้น

ถ้าการวิจัยของบริษัท CATL สำเร็จ ก็แปลว่า โลกเรา จะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแร่โคบอลต์ แล้วเปลี่ยนมาเป็น “ลิเธียมไอออนฟอสเฟต” ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแทน

ซึ่งอีลอน มัสต์ ไม่รอผลวิจัยจาก CATL อีกต่อไปครับ ปัจจุบันเทสล่าพึ่งพาแบตเตอรี่จาก 3 ผู้ผลิตรายใหญ่คือ Panasonic ของญี่ปุ่น, LG Chem ของเกาหลีใต้ และ CATL ของจีนที่ผมบอกไป ถ้าดูจากฝันของเทสล่า และคาดการณ์ยอดขายในอนาคตที่บริษัททำ Projection เอาไว้

จุดเสี่ยงก็คือ ภายในปี 2022 ที่จะมาถึง ถึงเทสล่าจะสั่งแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตทั้ง 3 เจ้า ก็ยังไม่น่าจะพอกับความต้องการครับ

การประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา อีลอน มัสต์ เลยแจ้งกับผู้ถือหุ้นว่า มีแผนผลิตแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อลดการพึ่งพาบริษัทอื่น ที่โรงงานหลักในเมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่เกินปลายปีหน้า

แผนการผลิตแบตเตอรรี่เองแบบนี้ จะช่วยลดต้นทุนสำหรับการผลิตรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆให้ราคาเข้าถึงได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าราว 3 ปีจากนี้จะสามารถผลิตรถราคาคันละ $25,000 ( 750,000 บาท) ซึ่งถูกลงกว่าปัจจุบันถึง $10,000 หรือคิดเป็นราคาขายถูกลงถึง 28% ทีเดียว

เห็นแบบนี้ ภาพที่เราจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งเกลื่อนถนน ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุด เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา มีข่าวว่า เทสล่าจะเข้าไปลงทุนร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการผลิต “แร่นิกเกิล” วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งอินโดนีเซียมีแร่ชนิดนี้อยู่มากถึง 25% ของโลก

ส่วนโรงงานผลิตรถยนต์เลย ปัจจุบันเทสล่า ก็มีอยู่ 3 โรงงาน 1. Tesla Fremont Factory ในฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่บอกไป 2. โรงงาน Tesla Gigafactory 1 ในรีโน รัฐเนวาดา 3. โรงงาน Tesla Gigafactory 3 ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ โรงงาน Tesla Gigafactory 4 ในเบอร์ลิน เยอรมนี และ Tesla Gigafactory 5 ในออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งจะเห็นว่า กำลังการผลิตของเทสล่า จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่ ๆ ครับ

จนถึงตรงนี้ ไม่ว่าคุณจะมองหุ้นเทสล่าวันนี้ว่า น่าสนใจ หรือ ไม่น่าสนใจยังไง สิ่งที่สำคัญ ก็คือ เราจะหาหุ้นอย่างเทสล่าตัวต่อไปได้เจอ ก่อนมันที่จะกลายเป็น Super Stock ในพอร์ตได้ทันไหม หวังว่ากรณีของเทสล่า จะทำให้คุณเห็นโอกาสการลงทุนไม่มากก็น้อยนะครับ

Mr.Messenger