รู้ให้ลึก ตอน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งปลายปี

เหลืออีกเพียงแค่ 3 เดือน หรือ เอาแบบเป๊ะ ๆ ก็คือ วันที่ 3 พ.ย. ปีนี้ ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปที่สหรัฐฯ (US Election) และนี่คือ เหตุการณ์อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าจะมีความสำคัญที่สุดในช่วงครึ่งปีหลังที่จะมีผลต่อภาพการลงทุน และทำให้เราต้องเฝ้าติดตามเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์

วันนี้เลยขอพาไปดูในหลาย ๆ มุมว่า ในเชิงนโยบาย ๆ แล้ว ระหว่าง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ คนปัจจุบัน จากพรรครีพลับรีกัน และ นายโจ ไบแดน ตัวแทนจากพรรคเดโมเครต ต่างกันอย่างไร และสุดท้าย ลองไปเดากันว่า ทิศทางตลาดหุ้น จะไปในทางไหน ไม่ว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเช่นนี้

ในแง่นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน – นายทรัมป์ ประกาศโครงการมูลค่าราว ๆ 2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายใต้ชื่อโครงการ “Very Big and Bold” ขณะที่นายไบเดน มองว่า ถ้าเขาได้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ นโยบายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เนื่องจากปริมาณหนี้มหาศาลที่มีอยู่เดิม โดยวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และเป็นแผนการลงทุนระยะเวลา 10 ปี

นโยบายภาษี – นายทรัมป์ ยืนยันจะคงมาตรการปฏิรูปภาษีที่ลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลงมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อนไว้ที่ระดับเดิมเหมือนปัจจุบัน ขณะที่นายไบเดน บอกว่า เขาจะปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% ขึ้นเป็น 28% เก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงสนับสนุนการใช้ภาษีคาร์บอนเพื่อชะลอภาวะโลกร้อน

นโยบายสาธารณสุข – นายทรัมป์ มีเพียงคำสัญญาว่าจะทำให้ราคายาในภาพรวมลดลง ส่วนนายไบเดน นอกจากมองว่าราคายาควรลดลงแล้ว ยังสนับสนุนการควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ และต้องการกลับมาใช้ Obamacare ที่นายทรัมป์ยกเลิกตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

นโยบายการค้า – นายทรัมป์ยังยืนยันใช้แนวทางกีดกันทางการค้าภายใต้คอนเซ็ปต์ American First ต่อไปค่อนข้างแน่นอน โดยศัตรูอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ก็คือ ประเทศจีน ขณะที่นายไบเดน มีนโยบายสนับสนุนให้สหรัฐฯกลับเข้าสู่การเจรจาแบบพหุภาคี และชูสโลแกน America Must Lead Again

สุดท้าย ในแง่นโยบายต่อต้านการผูกขาด – นายทรัมป์ ยังไม่มีทีท่าชัดเจนต่อเรื่องนี้โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ จะมีก็บริษัทสัญชาติจีน แต่เป็นการกีดกันในเชิงนโยบายการค้ามากกว้าการผูกขาด ขณะที่นายไบเดนนั้น สนับสนุนเต็มที่ในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดกับบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่

เราเห็นด้านนโยบายของแต่ละฝั่งไปแล้ว คราวนี้สำนักโพลต่าง ๆ ให้ใครคะแนนนำและมีโอกาสคว้าชัยมากกว่า ก็พบว่าร้อยทั้งร้อย หรือ ทุกสำนักเลยก็ว่าได้ คะแนนของนายโจ ไบเดน นำ นายโดนัลด์ ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนจะมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยซ้ำ และมันยิ่งห่างขึ้นไปอีก เมื่อสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก จนต้องมีการ Lockdown และทำให้ GDP ในไตรมาส 2/20 ที่ผ่านมา หดตัวไปถึง 32.9% ติดลบหนักสุดในรอบ 70 ปี

ในสายตาของชาวอเมริกัน ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนหนึ่งก็คือ รัฐบาลภายใต้การบริหารของนายทรัมป์ และยิ่งการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ที่จุดกระแสการประท้วงเดือดลามทั่วโลก ก็สะท้อนถึงการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐฯ เลยทำให้คะแนนจากโพลสำรวจของ Financial Times นั้น นายโจ ไบเดน มีคะแนนนำอยู่ที่ 50% ต่อ 41% ซึ่งแปลว่า ต่อให้คนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในวันนี้ 9% เทคะแนนเลือกให้นายทรัมป์ทุกคน คะแนนก็ยังไม่สามารถแซงนายไบเดนได้

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ นายไบเดน จะชนะตามโพลสำรวจจริง ๆ หรือ?

สิ่งนี้คือ สิ่งที่นายไบเดน และพรรคเดโมเครตต้องไม่ประมาทเหมือนการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่นางฮิลลารี คลินตัน พลาดท่าให้กับนายทรัมป์ในโค้งสุดท้าย ดังนั้น ผมเชื่อว่า ช่วง 3 เดือนข้างหน้า การหาเสียงจะทำให้อุณหภูมิการเมืองสหรัฐฯ ร้อนระอุ และอาจทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่อนข้างแน่นอน

แล้วตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร?

ถ้าย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 1928 มีการเลือกตั้งมาแล้ว 23 ครั้ง น่าสนใจว่า มี 20 ครั้งที่ตลาดหุ้นทายถูกว่า ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยต่อไป โดยหากผลตอบแทนของ S&P 500 เป็นบวกได้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง 3 เดือน จะแปลว่า พรรคที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งอยู่ จะได้เสียงข้างมากเข้ามาอีกครั้ง (ซึ่งมีทั้งหมด 12 ครั้ง) ขณะที่ หากผลตอบแทนของ S&P 500 ติดลบในช่วงก่อนเลือกตั้ง 3 เดือน จะแปลว่า จะมีการย้ายฝั่งจากขั้วปัจจุบัน ไปอีกขั้ว (ซึ่งมีทั้งหมด 8 ครั้ง)

ใครที่มีคำถามว่า ก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ เราควรทำอย่างไรกับพอร์ต คำตอบที่ได้ ก็คือ ผลตอบแทน 3 เดือนนี้เป็นอย่างไร มันถึงค่อยตัดสินได้นะครับว่า ใครจะเป็นประธานาธิบดี และหลังจากนั้นอีก 1 ปี หุ้นจะบวกหรือลบ ดังนั้น 3 เดือนนี้ เราควรไปดูปัจจัยอื่น ๆ มากกว่าจะไปเดาว่า เราจะเห็นผู้นำคนเก่า หรือผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ กันแน่

Mr.Messenger