ศิลปะแห่งการลงทุนแบบ “ไม่รู้” I Alpha Pro EP.16

ผิดมากไหม? ถ้า “ไม่รู้” แล้วลงทุน คงเป็นคำถามที่ใครหลาย ๆ คนที่เพิ่งเริ่มศึกษาการลงทุน ต้องประสบพบเจอกันเป็นแน่

เราไม่ได้รู้เรื่องเศรษฐกิจเท่าผู้จัดการกองทุนหรือนักวิเคราะห์เก่ง ๆ หลาย ๆ ท่าน เราคงสร้างเงินจากสิ่งนี้ไม่ได้หรอก

จริง ๆ แล้วมันก็มีส่วนถูกอยู่นะที่จะคิดแบบนั้น เราอาจจะไปทำอะไรที่ใช่สำหรับเราและเราทำได้ดีคงจะดีกว่า

แต่ความเป็นจริงแล้วคนที่ “ไม่รู้” เรื่องการเงิน เศรษฐศาสตร์หรือมึนงงกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจติดตามตัวเลขมากที่สุด แท้จริงแล้วนั้นอาจมีความสามารถไม่แพ้กันกับนักวิเคราะห์หลาย ๆ ท่านเลยก็ว่าได้

หรืออาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซํ้า…

ฟังดูแล้วหลายคนอาจจะมองว่าดูแปลก ๆ ผมจึงอยากลองหยิบยกตัวอย่างง่าย ๆ มาให้ทุกคนได้ดูละกัน

ลองหลับตาในที่เงียบ ๆ สัก 5 นาที นึกถึงสิ่งที่คุณชอบทำมากที่สุด แล้วคุณเห็นอะไร?

ผมเชื่อได้ว่าหลาย ๆ คนคงจะเห็นหนังที่ชอบดู น้ำหอมที่ชอบดม ร้านอาหารที่ชอบกินหรือของสะสมแปลก ๆ ต่าง ๆ และหากมีใครสักคนมาขอความเห็นคุณเรื่องเหล่านี้ คุณก็คงจะอยากคุย อธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเขามาก ๆ

ซึ่งนี่แหละคุณ…จุดแข็งของการลงทุนที่หาใครมาเปรียบไม่ได้ มีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมากมาย ที่ไม่ได้เข้าใจ ชอบและคลั่งไคล้ในธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้มากไปกว่าคุณ

สิ่ง ๆ นี้จะทำให้คุณหาหุ้นขั้นสุดยอดนอกสายตา ที่ทุกคนมองข้ามมันไป และหุ้นนอกสายตาคือสิ่งที่พิเศษที่สุดสำหรับนักลงทุนคนหนึ่งที่พึงจะหาได้ เพราะว่าอะไร?…

เพราะ สิ่งที่คุณเข้าใจเป็นอย่างดีว่ามันโดดเด่นกว่าคู่แข่ง โดยยังไม่มีคนเข้าไปจับจองและมองเห็นศักยภาพการเติบโตในอนาคต มันหมายถึงว่าธุรกิจนั้น ๆ มีศักยภาพการเติบโตที่สูงกว่าราคาที่มันเป็นอยู่

ซึ่งหมายความว่าคุณพบดีลที่ยอดเยี่ยม (Good Deal) ในราคาที่ถูก ความเสี่ยงที่มันจะร่วงลงไปกว่านี้ก็แทบไม่มี (เพราะราคามันต่ำมาก ๆ ลงมาอีกได้ไม่เยอะ) และที่สำคัญที่สุด คุณได้ตั๋วเชิญไปงานปาร์ตี้ผลตอบแทนก่อนที่ใครคนอื่นจะได้รับเชิญเสียอีก

“หากคุณใช้สีเทียน วาดผังธุรกิจของบริษัทที่คุณลงทุนไม่ได้ คุณอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจนั้นอย่างแท้จริง” – Peter Lynch

และหากคุณอยากหาตัวอย่างมาพิสูจน์ ว่าวิธีการที่ว่าใช้ได้จริง ๆ หรือ? ลองศึกษาโมเดลของกองทุน ONE-UGG-RA กันครับ

เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องเพื่อที่จะลงทุน

เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องติดภาพนักลงทุนใส่สูทผูกไทด์เข้าใจการวิเคราะห์ต่าง ๆ ใช้ตัวเลข ตรรกะซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วโลกของการลงทุนมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากมาย และพวกเขาเหล่านั้นก็อาจจะ “ไม่รู้” ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ไม่เคยลงทุนนั่นแหละ

หากจะยกตัวอย่างให้ลึกสักหน่อย ผมขอยกตัวอย่างเป็นในเรื่องของอัตราปันผล (Dividends) ที่แปลง่าย ๆ ว่า “ผลตอบแทน”

โดยปกติแล้วคนที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผลก็คงจะเข้าซื้อหุ้นหากอัตราผลตอบแทนมีการเติบโต ดังนั้นราคาหุ้นที่แท้จริงก็ควรสะท้อนตามอัตราปันผลที่เติบโตถูกไหมครับ?

แต่แท้จริงแล้วมีหุ้นมากมายหลายตัว ที่ราคาวิ่งนำและล่วงเกินอัตราผลตอบแทนไปมาก หรือสื่ออีกนัยหนึ่งว่ามีคนจำนวนมากมายเข้าไปซื้อหุ้น โดยไม่ได้สนความเป็นจริงจนทำให้ราคามันบิดเบือนออกไป มากกว่าที่มันควรจะเป็น

ศิลปะแห่งการลงทุนแบบ “ไม่รู้” I Alpha Pro EP.16

ภาพแสดงราคาดัชนี S&P 500 (เส้นสีส้ม) กับ อัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) แบบกลับข้าง (เส้นสีฟ้า)

หรือจะเรียกได้ว่า ความไม่สมเหตุสมผลของคนอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ราคาเดินหน้าต่อไป

ความไม่สมเหตุสมผลของตลาดหุ้นมีอะไรบ้าง?

จริง ๆ แล้วหากจะพูดเปิดเชิงทฤษฎี เขาก็คงจะเรียกสิ่ง ๆ นี้ว่า Behavioural Finance หรือ พฤติกรรมมนุษย์กับการเงิน ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใช้มาอธิบายว่าทำไมคนถึงไม่ซื้อหุ้นตามเหตุและผลที่แท้จริง

และในส่วนถัดไปผมก็จะมายกตัวอย่างปัจจัยความไม่สมเหตุสมผลของคนกับตลาดหุ้นให้ทุกคนดูกัน

1. ร้านนี้คนนั่งเต็มเลย ต้องอร่อยแน่ ๆ

จะว่าไปอันนี้เป็นความอึดอัดส่วนตัวเหมือนกัน บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนพูดบ่อย ๆ ว่า “ลองร้านนี้สิ คนกินเยอะอร่อยแน่ ๆ ” ตอนที่โตและรู้เรื่องประมาณนึง เราก็มักจะหงุดหงิดเสมอ ๆ ด้วยความเป็นคนที่มีความขบถในตัวเองจึงไม่ค่อยเชื่อไอเดียนี้เท่าไร และมักจะชอบร้านแปลก ๆ ที่มักจะไม่ค่อยมีคนไป

มากลับเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ แล้วมันจะนำมาปรับใช้กับการเล่นหุ้นได้อย่างไร คุณเคยเห็นหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มที่คนต่างยกย่องเชิดชูความสุดยอดของมันและคุณก็เชื่อหมดใจจนลืมนึกถึงข้อเสียหรือเปล่าล่ะ? ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เชื่อโดยไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเติบโต ความสมเหตุสมผล ของหุ้นกลุ่มนั้น ๆ มันสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่? และก็ลงทุนไปกับมันเพียงเพราะว่าคนอื่นเขาบอกว่ามันดี

มันก็คล้าย ๆ กับการที่เราเลือกร้านอาหารที่คนเยอะ ๆ เพราะ คิดว่ามันอร่อย  แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถตัดสินคุณภาพอาหารจากการมองผ่านกระจกของร้านได้ เราควรเข้าไปนั่งและลองทาน จึงจะเป็นกระบวนการตัดสินที่ถูกต้องต่างหาก

2. ทฤษฎีเสียงเชียร์ ปรบมือและกู่ร้อง

ถ้าเป็นคนที่ติดตามเรื่องการลงทุนมานานพอสมควร ตัวอย่างที่ถ้าหากหยิบยกขึ้นมาแล้ว หลาย ๆ คนคงจะเห็นภาพมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น “บิทคอยน์” ในยุคเฟื่องฟูของมันผู้คนก็ต่างกู่ร้องถึงความสุดยอดของมัน ว่าเป็นสินทรัพย์แห่งอนาคตและลํ้าค่าเหนือสิ่งอื่นได้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วพื้นฐานของมันคือ Demand และ Supply ของคนล้วน ๆ

แต่หลังทุกคนกู่ร้องและปรบมือจนสุดเสียง ไม่นานนักมูลค่าของมันก็ลดลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและเสียงเชียร์ต่าง ๆ ที่ว่าก็ค่อยเงียบลงไป คล้าย ๆ กับเวลาคนปรบมือในที่ประชุม ที่ท้ายที่สุดแล้วเสียงเหล่านั้นก็ต้องค่อย ๆ แผ่วเบาลงไป

แนวคิดนี้จะนำมาปรับใช้กับการลงทุนได้อย่างไร? วิธีปรับใช้ที่ดีที่สุดก็คือ ตั้งคำถามกับสินทรัพย์ที่คนเริ่มคิดว่ามันดีและราคาของมันเติบโตอย่างรวดเร็ว ร้อนแรง จนคนหลาย ๆ คนเริ่มสนใจและอยากลงทุน เพื่อให้เราคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

แล้วตอนนี้คนเชียร์อะไรกัน? ผมมองว่า “ทองคำ” นี่แหละครับ…

3. พวกเราชอบยึดติด กับอะไรสักอย่างหนึ่ง

มีการทดลองของสองนักจิตวิทยาอย่างคุณ Amos Tversky และ Daniel Kahneman ที่พิสูจน์ออกมาว่าผู้คนมักยึดติดกับสิ่งที่เห็น โดยการทดลองดังกล่าวมีการใช้กงล้อตัวเลข (Wheel of Fortune) ที่มีเลข 1-100 เหมือนที่เราเห็นกันในรายการเกมโชว์ต่าง ๆ

หลังจากหมุนและได้ตัวเลขเสร็จเรียบร้อย ก็ได้มีการส่งแบบสอบถามหลังจากนั้น โดยให้โจทย์ว่า “สัดส่วนชาติแอฟริกันที่อยู่ในองค์การ UN มีอยู่เท่าไร” ผลที่ได้ก็คือผู้คนต่างให้คำตอบเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ได้หลังจากการหมุนกงล้อ

แล้วเรานำมาใช้กับการลงทุนได้อย่างไร? คงต้องย้อนไปถึงตอนที่ตลาดหุ้นถูกเทขายในปี 1987 ที่มีลักษณะการลดลงคล้ายช่วง 1929 หลังผู้คนต่างให้ความเห็นว่าการถูกเทขายในครั้งนั้น มีความคล้ายคลึงกับปี 1929 เราจึงอาจสรุปได้ว่า หากผู้คนอิงการปรับตัวของตลาดหุ้นกับช่วงไหนสักช่วง มันก็มีความเป็นไปได้ว่า การปรับตัวในช่วงนั้นจะคล้าย ๆ กับข้อมูลที่เราได้เห็นในช่วงนั้น ๆ เช่นกัน

สรุปแล้ว…

จริง ๆ แล้วมันไม่ผิดเลยที่เราจะ “ไม่รู้” แล้วลงทุน และความไม่รู้นี่แหละที่จะทำให้เรามีมุมมองที่แตกต่าง และถอยออกมาหนึ่งก้าว พร้อมทั้งใช้เวลาคิดมากกว่าคนอื่น ๆ เขา รวมถึงมองเห็นสิ่งที่คนอื่น ๆ เขาได้มองข้ามมันออกไป

แต่การไม่รู้นี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะไม่สนใจในอะไรสักอย่างเลยหลับตาจิ้มหุ้น และเดินแบบสุ่มไปในตลาดราวกับคนตาบอด จนรวยได้ทันตาเห็น พอคนเขาตกใจเราก็ตกใจตาม พอคนเขาดีใจเราก็ดีใจไปกับเขาด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักจากตลาดหุ้น

เพราะฉะนั้นแล้วเราควรที่จะลงทุนในสิ่งที่เรารัก รู้และเข้าใจมันมากที่สุด แยกเหตุผลกับอารมณ์ สืบหาความเป็นจริงเบื้องหลังข้อมูลต่าง ๆ มากมายที่ถูกปรุงแต่ง

แยกแยะระหว่าง “ผู้รู้ที่แท้จริง” กับ “ผู้ที่ไม่รู้แต่คิดว่าตัวเองรู้หมดแล้ว” ให้ออกซึ่งผมมองว่าเป็นปัญหาที่หนักหน่วงสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุนเลย เพราะคนเหล่านี้จะนำพาเราไปเรียนรู้แบบผิด ๆ  หรือหากเลวร้ายไปกว่านั้นเขาอาจจะหลอกเอาเงินเราไปหมดตัวเลยก็ได้ ดังที่เราเห็นกันตามหน้าหนังสือพิมพ์สัก 10 ปีที่แล้วหรือตามข่าวใน Facebook สมัยนี้

เพราะฉะนั้น ศิลปะแห่งการลงทุนแบบ “ไม่รู้” ที่แท้จริง อาจจะเป็นการที่เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง ก็เป็นได้

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

Mr. Serotonin

References

Shiller, Robert. Irrational Exuberance. Princeton, Princeton University Press, 2016.

อ่านบทความอื่น ๆ จากคอลัมน์ Alpha Pro ได้ที่ https://www.finnomena.com/alphapro/

ที่มาบทความ: https://adaybulletin.com/know-alpha-pro-rookie-investor/