สารจากเซียนวัฎจักร ธนาคารกลางทำถูกไหม ในช่วงวิกฤติ

เคยสงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมบางทีมาตรการกระตุ้นจากธนาคารกลางถึงไม่เป็นผล? ทำไมบางทีภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงเกิดขึ้นบ่อยกว่าปกติ หรือ บางทีตลาดก็เติบโตได้เป็นสิบๆ ปี โดยไม่มีการถดถอยเกิดขึ้นเลย แล้วเราต้องทำยังไงถึงจะให้ตลาดอยู่ยงคงกระพันและเกิดภาวะถดถอยเพียงช่วงสั้นๆได้

วันนี้ผม Mr. Serotonin จะพาทุกคนมาเจาะลึกมันสมองของธนาคารกลางผ่านของชายผู้มีนามว่า “Howard Mark” กันครับ โดย Howard Mark มีชื่อเสียงเรียงนามมาจาก สไตล์การลงทุนไปกับรอบวัฎจักร โดยเขามักจะมองหาจุดสูงสุดและจุดตํ่าสุดของตลาดเสมอๆ 

และการที่เขาทำเช่นนั้นได้ ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าเขาต้องเข้าใจภาวะตลาดระดับนึง และหนึ่งในผู้กุมบังเหียนทิศทางตลาดที่สำคัญก็คือ ธนาคารกลาง (Central Bank) นั่นเองครับ

โดยบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ โดยทางผมจะมีการเอามาย่อยลงเพิ่มเติมในอนาคต (คิดว่าหากก๊อปมาลงทั้งยวง มันจะยาวมากกเกินไป) ติดตามกันได้เลยครับ 

แต่ถ้าใครอยากได้บทสัมภาษณ์ตัวต้นฉบับก็คอมเม้นต์มากันได้ครับ หากมีคนต้องการติดตามตัวเต็ม เดี๋ยวผมจะเอามาลงให้ ถึงจุดนี้ถ้าทุกคนพร้อมแล้วก็อ่านไปพร้อมๆกันได้เลยครับ

การดำเนินนโยบายของ Fed ทำให้เกิด Moral Hazard หรือเปล่า?

อธิบายเพิ่มเติมสักนิด Moral Hazard คืออะไร?

Moral Hazard คือ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนกำหนดความเสี่ยง แต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดหากเกิดข้อผิดพลาด หากอธิบายง่ายๆก็เหมือนกับที่เวลา Fed ส่งสัญญาณกระตุ้นอย่างการลดดอกเบี้ยเรื่อยๆ อาจทำให้คนคิดว่าการกู้ยืมนี่มันถูกลงเรื่อยๆเลยนะ จนกู้เกินตัว จนคนลืมไปว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะไม่จ่ายไม่ไหว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็จะเป็นสถาบันปล่อยกู้ ส่วนคนกำหนดความเสี่ยงก็คือผู้กู้นั่นเอง

บทสัมภาษณ์จาก Howard Mark….

หน้าที่หลักของธนาคารกลาง (ในที่นี่ Howard Mark ยกตัวอย่างเป็น Fed)

  • Fed มีหน้าที่หลักๆ 3 อย่าง 
    • สร้างอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ในระดับที่เหมาะสม
    • สร้างอัตราการจ้างงานให้เหมาะสม 
    • ทำให้แน่ใจว่าตลาดหุ้นขึ้นต่อไปได้

ความเห็นจาก Mr. Serotonin….

อธิบายเพิ่มเติมสักนิด อัตราการจ้างงานทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะ เมื่อคนมีรายได้มากขึ้นก็จะใช้จ่ายมากขึ้น และหากใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ขายก็จะรู้สึกว่าสินค้าตนมีคนต้องการที่จะซื้อ ทำให้ขึ้นราคาได้ (เกิดเงินเฟ้อ)

ดังนั้นหากอัตราการจ้างงานสูง อัตราเงินเฟ้อ (ราคาสินค้า) ก็จะสูงตามไปด้วย

ส่วนในเรื่องของการทำให้ตลาดหุ้นดำเนินต่อไปได้ ทาง Fed ก็มีเครื่องมืออย่าง การทำ QE (อัดฉีดเงินเข้าระบบ) รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และการร่วมมือในการใช้งบประมาณของรัฐบาลอย่าง “การใช้จ่ายจากการคลัง” (Fiscal Spending)

บทสัมภาษณ์จาก Howard Mark….

ตัวอย่างของผู้ดำเนินนโยบายที่ดีก็คือ “Alan Greenspan”

    • มีบางช่วงเวลาที่ Alan Greenspan ช่วยตลาดหุ้นไว้ จนคนเริ่มคิดว่าลงๆเงินไปก็ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยว Greenspan ก็ช่วยพวกเขาเองแหละ ด้วยเหตุนี้เองจนทำให้ผู้คนลืมนึกถึงความเสี่ยง และลงเงินไปเรื่อยๆจนทำให้เกิด Moral Hazard

ความเห็นจาก Mr. Serotonin….

ในช่วงการดำเนินงานของ Alan Greenspan (ช่วงปี 1987-2006) ช่วงนั้นตลาดเป็นช่วงขาขึ้นมาโดยตลอดจนถึงช่วงวิกฤติ Subprime (2007) ซึ่งเรียกได้ว่าในยุคของเขาตลาดกระทิง อยู่ยืนยาวถึง 19 ปีเลยทีเดียว ซึ่งในมุมมองของผมมันจะเป็นไปไม่ได้เลยหากทาง Fed ไม่ดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม

ลองนึกภาพง่ายๆเช่น หากช่วงที่ตลาดร้อนแรงแล้ว Fed ไปลดดอกเบี้ยหรือทำ QE เพิ่มเติม (ทำให้มันร้อนแรงขึ้นไปอีก) ราคาหุ้นก็จะผันผวนตามไปด้วย ความร้อนแรงอาจทำให้เงินเฟ้อที่เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจผันผวนไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเมื่อเงินเฟ้อร้อนแรงเกินไป จุดจบสุดท้ายที่ธนาคารกลางจะทำก็คือการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความร้อนแรงของตลาด และการที่ต้องขึ้นอย่างต่อเนื่องนี่เองก็อาจทำให้ Correction หรือการพักฐานของตลาดลงรุนแรงเข้าไปอีก

สารจากเซียนวัฎจักร ธนาคารกลางทำถูกไหม ในช่วงวิกฤติ

ภาพแสดงราคาดัชนี Dow Jones ช่วงปี 1987-2006 ภายใต้การบริหารของ Alan Greenspan

จากภาพจะสังเกตุได้ว่าในช่วงการบริหารของ Alan Greenspan ตลาดมีการเติบโตต่อเนื่องถึง 19 ปี ถึงแม้จะมีจังหวะพักฐานในช่วงวิกฤติดอทคอมช่วงปี 2000-2002 แต่ก็เป็นระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นที่ตลาดเกิดการถดถอย

นอกจากนั้นในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ Subprime ปี 2007 ทาง Fed นั้นเหลืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ราวๆ 5% ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยหากเทียบกับปัจจุบันที่ Jerome Powell เหลือดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1.25% เท่านั้น 

นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Howard Mark ถึงกล่าวชมเชย Alan Greenspan ว่าเขาได้เข้าไปช่วยชีวิตตลาดหุ้นไว้ในบางครั้ง…

บทสัมภาษณ์จาก Howard Mark….

แล้วประธาน Fed คนปัจจุบันอย่าง Jerome Powell เป็นอย่างไรบ้าง?

  • Jerome Powell เหมือนกับจะดันตลาดขึ้นไปอย่างเดียว เพื่อสนับสนุน “นักพนัน” มากกว่า “นักลงทุน” พูดง่ายๆเขาทำให้ตลาดทุนไม่ใช่เกมที่เล่นกันอย่างแฟร์ๆ

ความเห็นจาก Mr. Serotonin….

Fed อาจจะดำเนินนโยบายไม่สอดคล้องกับภาวะตลาด ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น การลดดอกเบี้ยในช่วงที่ตลาดร้อนแรง หรือ การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ตลาดฝืดเคือง

บทสัมภาษณ์จาก Howard Mark…

จำเป็นไหม? ที่เราต้องพยายามทำให้การถดถอยนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

  • ความผันผวนในเศรษฐกิจเป็นเรื่องธรรมชาติ และต้องปล่อยให้เกิดขึ้น มันไม่มีอะไรยืนหยัดได้ตลอดไปหรอก และหากเราพยายามให้เศรษฐกิจมันยืนหยัดได้ตลอดไป ตอนมันพังมันจะยิ่งหนักกว่าเดิม และการพยายามยึดยื้อนี่แหละ ทำให้เกิด Moral hazard หรือการจัดการความเสี่ยงที่ไม่สมดุล

แล้ว Fed สูญเสียเอกภาพในการดำเนินนโยบายไปเมื่อไร?

  • จริงๆแล้วผู้คนเริ่มระวังมากขึ้นหลังจากวิกฤติ Subprime ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างช้าๆ และการที่เป็นเช่นนี้จะทำให้การถดถอยอยู่ในระดับกลางๆ แต่สิ่งที่ Powell ทำอาจทำให้เกิด correction ที่รุนแรงแทน

ความเห็นจาก Mr. Serotonin….

Howard Mark อาจมองว่าหากเราปล่อยให้ตลาดเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น โดยมีการช่วยเหลือจากทางธนาคารให้ตลาดเกิดความสมดุลมากกว่าความร้อนแรง น่าจะดีกว่า และสิ่งที่ Jerome Powell ทำนั้นอาจเป็นการสร้างความร้อนแรงมากกว่าสร้างสมดุลให้กับตลาด

บทสัมภาษณ์จาก Howard Mark…

ความผันผวนทางการเมืองและการปกครอง

  • ผู้คนเริ่มศรัทธาในระบบทุนนิยมน้อยลงและอาจหันไปสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมมากขึ้น
  • ความเหลื่อมลํ้าทางต้นทุนชีวิต รวมถึงการศึกษา ทำให้ผู้ที่ต้นทุนชีวิตดีก็ยิ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นไปกว่าเดิม ในขณะที่คนที่ต้นทุนน้อยก็ยิ่งแย่ไปกว่าเดิมเช่นกัน
  • เทคโนโลยีอาจทำให้ผู้คนตกงานมากขึ้น
  • เขาแนะนำระบบ Bipartisan หรือการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองที่มีแนวคิดต่างกัน (ซ้ายจัดกับขวาจัดร่วมมือกัน)
  • ระบบประกันสังคม (social security) กำลังจะจบลง หากเรายังคงต้องการให้มันคงอยู่เราต้องใส่ใจกับมันมากขึ้น แต่มันก็ทำได้ยาก เพราะ สิ่งที่ทำให้มันคงอยู่อาจทำให้ผู้คนไม่พอใจ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มภาษี ลดสิทธิประโยชน์ลง และลดช่วงอายุในการรับสิทธิลง แต่มันน่าเศร้าที่ไม่มีใครใส่ใจเรื่องพวกนี้เลย

ความเห็นจาก Mr. Serotonin….

ด้วยความเหลื่อมลํ้าที่มากขึ้นอาจทำให้ผู้คนที่ขาดโอกาส เริ่มสนับสนุนแนวคิดแบบสังคมนิยมมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม โดย Howard Mark แนะนำให้มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองที่มีแนวคิดที่แตกต่างกันมากขึ้น (อาจเพื่อให้เกิดการบริหารที่สมดุล ตลาดจะได้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น)

สรุปส่งท้าย…

หากจะพูดว่าธนาคารกลางเป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศก็คงจะไม่ผิดนัก ดังนั้นหากเราขุดลึกลงไปในมันสมองของฟันเฟืองหลักได้ เราก็อาจจะสามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีโอกาสถูกต้องที่สูง

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะได้ให้มุมมองที่ทุกคนสามารถไปต่อยอด และนำไปสู่การลงทุนที่น่าทึ่ง ในช่วงการกลับตัวจากวิกฤติเช่นนี้…

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ