หาหุ้นโตเร็ว สิบเท่าในสิบปี

อยากลงทุนหุ้นสิบเด้งต้องทำยังไง?

ผมเป็นคนที่มีความฝันอยากลงทุนในหุ้นสิบเด้ง และอยากทำได้อย่างสบายๆ ด้วยการซื้อหุ้นที่คิดว่ามันจะกลายเป็นหุ้นสิบเด้ง และถือทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร … แต่ความเป็นจริงนั้น การหาหุ้นสิบเด้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือ การถือหุ้นไว้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า แล้วแบบนี้เราจะเจอหุ้นสิบเด้งได้อย่างไร และเราจะใช้กลยุทธ์อะไรจัดการกับการลงทุนในรูปแบบนี้?

สิ่งที่อาจจะทำให้เป้าหมายของเราไปถึงได้เร็วกว่า แทนที่เราจะคาดหวังจากหุ้นสิบเด้ง นักลงทุนหุ้นโตเร็วอาจมาทำพอร์ตหุ้นของเขาให้กลายเป็น “พอร์ตหุ้นสิบเด้ง” แทน ซึ่งต้องมีการ Roll Over หรือ “หมุนหุ้น” โดยความคาดหวังหุ้นเพียง 1 เด้ง หรือ 2 เด้ง หรือแม้แต่การเติบโตของพอร์ตเพียง 25% ต่อปี ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้ระยะยาวๆ พอร์ตการลงทุนของเราจะกลายเป็นพอร์ตสิบเด้งได้ไม่ยาก

หากพอร์ตเราเติบโต 25% ต่อปี ภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี พอร์ตเราจะโตเท่าตัว หรือ 1 เด้ง และภายในเวลา 10-20 ปี พอร์ตการลงทุนของเราจะสามารถเติบโตได้เกิน 10 เด้ง ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดโดยรวม หรือถ้าหากเราทำผลตอบแทนได้มากกว่า 25% ต่อปี พอร์ตเราก็จะโตเร็วขึ้นไปอีก

คุณสมบัติของนักลงทุนที่จะมีพอร์ตหุ้นสิบเด้ง

สำหรับพอร์ตหุ้นสิบเด้งนั้น คุณสมบัติของพอร์ตคือการเติบโตให้ได้อย่างน้อย 25% ต่อปี เจ้าของพอร์ตหุ้นสิบเด้งก็ควรมีคุณสมบัติที่ดี และเริ่มต้นหาหุ้นหลายเด้ง หรือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีมาประดับพอร์ตดังต่อไปนี้

1) การเลือกหุ้นต้องเป็นหุ้นนอกสายตา

สำหรับหุ้นนอกสายตานั้น คือ หุ้นที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ บางครั้งเราบอกชื่อหุ้นไป คนอาจไม่รู้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ทำอะไร แต่นักลงทุนหุ้นโตเร็วจะเข้าไปเจาะดูในรายละเอียด ดูงบการเงิน ดูความสามารถในการเติบโตของกิจการ ในขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ขยับปรับตัวขึ้น การที่เราจะมองเห็นหุ้นนอกสายตาก่อนใครๆ เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องมีภาพใหญ่ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่คนยังไม่ตระหนักว่ามันกำลังจะดี แล้วจึงเจาะเข้าไปเลือกตัวหุ้นที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบในทางที่ดี

2) ควรเลือกหุ้นที่คิดว่าจะโตเร็วอย่างน้อยที่สุด 3 ตัว

ในฐานะนักลงทุนหุ้นโตเร็ว คงไม่มีใครมั่นใจเต็มร้อยกับหุ้นที่เราคิดว่าใช่ เพราะถ้ามันไม่ใช่เราอาจเสียหายอย่างหนัก เพื่อปกป้องความเสียหายที่คาดไม่ถึง ควรเลือกหุ้นที่คิดว่าจะโตเร็วติดพอร์ตเอาไว้อย่างน้อยสามตัว สำหรับบางคนอาจมีการกระจายการลงทุนในแต่ละตัวไม่เท่ากัน แต่ในเชิงทฤษฏี การกระจายแบบเท่าๆ กันจะเหมือนเก้าอี้สามขา แม้ไม่ครบสี่แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ หรือถ้ามั่นใจจริงๆ จะซื้อหุ้นเพียงตัวเดียวทั้งพอร์ตก็ได้นะครับ

3) ถ้ามองเป็นภาพใหญ่ของพอร์ตเราไม่ควรรักหุ้นจนเกินไป

เมื่อเราคิดถึงผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าคิดว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการไปตลอด เราจะไม่รักหุ้นมากจนเกินไป ในฐานะนักลงทุน ถ้าเราเห็นว่ากิจการไหนดี เราสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจการด้วยการซื้อหุ้นเก็บไว้ และถ้ากิจการเริ่มแย่ลง ข้อได้เปรียบของการเป็นนักลงทุนก็คือสามารถขายออกได้ ไม่เหมือนเจ้าของกิจการตัวจริงที่ต้องทนทำกิจการแม้พื้นฐานกิจการจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม สำหรับนักลงทุนถ้าหุ้นขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ก็ควรขายออกมา เพื่อให้มีกระสุนพร้อมสำหรับลงทุนในหุ้นตัวใหม่ที่ราคายังไม่ขึ้น แต่กำลังจะขึ้นในอนาคต

4) ควรติดตามผลตอบแทนจากการลงทุน ประเมินผลอย่างน้อยปีละครั้ง

เมื่อเราตัดสินใจจะทำพอร์ตของเราให้กลายเป็นพอร์ตสิบเด้ง การประเมินผลการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ การจดบันทึกการลงทุนจะช่วยทำให้เราสามารถปกป้องความผิดพลาดไม่ให้เกิดซ้ำสอง สำหรับตัวผมทุกๆ สิ้นปี ผมจะประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนทุกครั้ง หากผลตอบแทนจากการลงทุนในสิ้นปีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นั่นหมายความว่าพอร์ตหุ้นสิบเด้งของเราจะต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นไปอีก เมื่อใดที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าเราควรย้อนกลับไปมองว่าเราทำอะไรลงไปบ้าง และอะไรที่เราทำสำเร็จ อะไรที่เราทำผิดพลาด

5) ต้องมีความอดทนรอคอยความสำเร็จ

นักลงทุนหุ้นโตเร็วส่วนใหญ่อย่างเร่งความสำเร็จ แต่ที่จริงแล้วเราต้องทำตรงกันข้าม คือ เราต้องใจเย็นเป็นน้ำแข็ง ถ้าหุ้นที่เราเลือกมาอย่างดียังไม่ขึ้นไปตามเป้าหมาย แต่เรามั่นใจในสิ่งที่เราวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว… กลยุทธ์ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จก็คือ “การอดทนรอคอย” บางคนอดทนไม่มากพอ เมื่อเห็นหุ้นขึ้นไปเพียงเล็กน้อยก็รีบขายทำกำไร แต่หุ้นกลับขึ้นต่อ สิ่งเหล่านี้ทุกคนล้วนเคยเป็นกันมาแล้ว แต่ถ้าเราไม่ฝึกฝนใจตนให้เข้มแข็งเราก็จะผิดพลาดซ้ำๆ เรื่อยไป

อย่างไรก็ตามการลงทุนหุ้นโตเร็ว การทำพอร์ตหุ้นให้กลายเป็นหุ้นสิบเด้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางปีเราต้องประสบพบเจอกับอุปสรรคใหญ่ สภาพตลาดไม่เอื้ออำนวย บางปีเราอาจพบกับปีที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับเส้นทางของนักลงทุนหุ้นโตเร็วคือ… การหมั่นตรวจสอบตนเอง มองหาข้อผิดพลาด และพยายามไม่ให้เกิดซ้ำอีก ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่มันจะมีประโยชน์เมื่อเรานำมาทบทวน และทำให้เราเก่งขึ้นไปได้อีกในอนาคตนะครับ