ถ้ากล้า...ก็ทำดิครับ

บ่ายวันที่ 24 เม.ย. 62 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ไม่รับวินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้สิสต์ โดยระบุว่ายังไม่ปรากฎว่า กกต. ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อ ?

อย่างที่ศาลท่านระบุครับ คือ กกต. ยังไม่ได้ใช้อำนาจกำหนดสูตรคำนวณเลยว่าตกลงจะเอาแบบไหน ศาลท่านจึงรับพิจารณาไม่ได้ ก็ต้องกลับมาที่ กกต. ละว่าจะเอาสูตรไหน

1. ใจกล้าที่จะเอาสูตรที่ตั้งใจไว้เดิม ที่จะคิดทุกคะแนนของทุกพรรคไม่ให้ตกน้ำ ด้วยการยึด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 128 (1),(2),(3),(6),(7) ซึ่งจะทำให้มีพรรคที่ได้ สส. มีกว่า 26 พรรค

2. กลับใจและใช้สติมายึด รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 128 ตั้งแต่ (1),(2),(3),(4),(5),(6),(7) โดยเฉพาะ (5) ซึ่งจะทำให้พรรคที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไม่สามารถมี สส. ระบบบัญชีรายชื่อได้ กรณีนี้จะมีเพียง 14-16 พรรคเท่านั้นที่จะได้ สส. เข้าสภาฯ

ความต่างระหว่าง 2 สูตร อยู่ตรงที่สูตร 1 มองข้าม ในสิ่งที่สูตร 2 ยึดคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 128 (5) จะมีใจความสำคัญที่เหมือนกันคือ

1. ถ้าพรรคการเมืองได้ สส. เขต มากกว่า สส. ที่พึงได้ ให้พรรคนั้นได้จำนวน สส. ตาม สส. เขต และไม่มีสิทธิ์ได้รับ สส. บัญชีรายชื่อ

2. ให้นำ สส. บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคการเมืองที่มี สส. เขตน้อยกว่า สส. ที่พึงได้ ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดได้ สส. เกินกว่า สส. ที่พึงได้

ความสำคัญอยู่ที่ท่อนสุดท้าย “ต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดได้ สส. เกินกว่า สส. ที่พึงได้” ดังนั้นถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันชัด พรรคไหนได้คะแนนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็ไม่ควรได้ สส. บัญชีรายชื่อ

ถ้าถามผมว่าสูตรไหนจะถูกต้องมากกว่ากัน เอาตรงๆ จากความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งเคยเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเคยได้คะแนนคณิตศาสตร์ Top ของรุ่น และเคยเรียนคณะนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้วนั้น ก็ต้องยึดสูตร 2 เป็นหลัก แต่อย่างว่าผมไม่ใช่ กกต. ดังนั้นก็ต้องอยู่ที่ท่านจะว่าอย่างไรก็ต้องตามนั้น

สูตรในการคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อ จะมีผลโดยตรงต่อการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ถ้ายึดตามสูตร 1 ฝั่ง 7 พรรคการเมือง อันประกอบไปด้วย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย จะรวมเสียงได้ 246 เสียง เหลือ 254 เสียงให้พรรคพลังประชารัฐไปรวบรวม (ไม่นับกรณีการแจก ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง การนับคะแนนใหม่ การเลือกตั้งแต่ล่ะหน่วยหรือเขตใหม่)

แต่ถ้าไปเอาสูตร 2 ฝั่ง 7 พรรคจะรวมเสียงได้ถึง 252 เสียง เหลือให้พรรคพลังประชารัฐไปรวบรวมเพียง 248 เสียง

ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าสูตรไหนเอื้อประโยชน์ให้กับใคร

มาถึงบรรทัดนี้ต้องถามใจ กกต. ว่าจะกล้าใช้สูตร 1 ไหม จริงอยู่ว่าสามารถยืนยันเสียงแข็งว่าทำตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 128 แต่ขอโทษนะครับ อย่าลืมว่า พ.ร.ป. เป็นเพียงกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ ตามหลักกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด ซึ่งมันเห็นชัดๆอยู่แล้วว่า สูตร 1 มีโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 128 (5) หากดึงดันใช้สูตร 1 รับรองได้เลยว่าต้องมีการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการใช้อำนาจของ กกต. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ย้ำอีกครั้ง ถ้าคุณกล้า…ก็ทำดิครับ

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่จะมีผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร ผมคิดว่าไม่ว่าทางไหนก็เป็นปัจจัยลบทั้งนั้น

กรณีที่ 1 ถ้า กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.62 ด้วยการรับรอง สส.ระบบเขตเกิน 95% และรับรอง สส.บัญชีรายชื่อด้วยการเลือกสูตร 1 ตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกต่อความคาดหวังการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่จะตลาดจะสดใสได้ไม่นาน ก็ต้องมานั่งกังวลต่อการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการใช้สูตรดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องเตรียมยาวววว ตลาดเตรียมซีด เพราะกว่าจะรู้ว่าขัดหรือไม่ขัด ก็ต้องหลังจากมีการเปิดสภาฯและเลือกตัวนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งถ้าผลการวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตัวนายกรัฐมนตรีก็เตรียมเป็นโมฆะได้เลย

กรณีที่ 2 ถ้า กกต. ประกาศรับรอง สส. เขตเกิน 95% และรับรอง สส. บัญชีรายชื่อจากสูตร 2 ตลาดหุ้นอาจมึนๆและเคลื่อนไหวในทางลบ เพราะเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ตลาดอาจแกว่งตัวตามกระแสข่าวรายวันในการดูดงูเห่า แต่สุดท้ายก็เชื่อว่าหน้าตาการจัดตั้งรัฐบาลคงดูเละเทะและตลาดไม่น่าจะแฮบปี้แน่นอน

ผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวให้ย่ำแย่ลงไปอีก และแม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ หน้าตาและความเชื่อมั่นของรัฐบาลก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากปริ่มๆแบบผสมร้อยพ่อพันแม่ ก็รังแต่จะสร้างความหดหู่ ความน่าเชื่อถือในสายตาต่างชาติแทบไม่เหลือ เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ตลาดหุ้นจะยังดีอยู่ไหม เอาตรงๆ เบื่อที่จะคิด

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
นักกลยุทธ์การลงทุน