หุ้นไทยไร้เสน่ห์ SET จะแย่ไปอีกนาน การลงทุนต่างประเทศคือทางออก

แม้จะผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว แต่ตลาดยังคงมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนั้นตลาดหุ้นไทยยังเกิดปัญหาขาดความเชื่อมั่น หลังเกิดกรณีหุ้น MORE และ STARK โดยเฉพาะกรณีที่ STARK ที่สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนเป็นวงกว้าง ทั้งผู้ถือหุ้นสามัญ หุ้นกู้ และสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ รวมมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

SET Index ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี ม.ค.66 – 10 ก.ค.66 ติดลบ -9.9% เป็นการติดลบหนักที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลักอื่น ๆ ของเอเชีย ญี่ปุ่น +23.4% ไต้หวัน +18.2% เกาหลีใต้ +12.7% อินเดีย +6.9% จีน +4.2% อินโดนีเซีย -1.9% ฟิลิปปินส์ -2.8% สิงคโปร์ -3.1% ฮ่องกง -6.4% มาเลเซีย -7.3% และยิ่งแย่เมื่อไปเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป NASDAQ +37.4% S&P500 +14.5% DJIA +2.2% DAX เยอรมัน +11.4% CAC ฝรั่งเศส +8.7%

ปัญหาใหญ่ของตลาดหุ้นไทยคือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ โดย GDP Growth เฉลี่ยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ +2.2% ต่อปีเท่านั้น สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้น SET Index ให้ผลตอบแทนรวมตั้งแต่ปี 2555 จนถึง 10 ก.ค.66 เพียง +7.5% หรือให้ผลตอบแทนเฉลี่ย (แบบทบต้น) เพียง 0.73% ต่อปีเท่านั้น ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชียเช่น อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย จีน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ +12.9% +12.0% +8.0% +4.5% +3.7% +2.4% และ +1% ตามลำดับ โดยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีมากกว่า สิงคโปร์ -0.1% มาเลเซีย -1.9% และฮ่องกง -2.0%

ทั้งนี้หากเทียบผลตอบแทนกับตลาดหุ้นสหรัฐจะยิ่งเห็นถึงความแตกต่าง โดย NASDAQ ให้ผลตอบแทนรวมตั้งแต่ปี 2555 จนถึง 10 ก.ค.66 +477.3% คิดเป็น +19.2% ต่อปี S&P500 ให้ผลตอบแทนรวม +214.4% คิดเป็น +11.0% ต่อปี DJIA ให้ผลตอบแทนรวม +162.4% คิดเป็น +9.2% ต่อปี

ผลตอบแทน 10 ปีว่าย่ำแย่แล้ว ผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังกลับแย่ยิ่งกว่า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึง 10 ก.ค.66 SET Index ให้ผลตอบแทนรวมติดลบ -14.1% หรือติดลบ -1.5% ต่อปี แย่กว่าอินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +6.8% +4.6% +3.5% +0.6% และ +0.2% ต่อปีตามลำดับ และยิ่งเทียบกันไม่ได้กับตลาดหุ้นสหรัฐ NASDAQ ให้ผลตอบแทนรวม +133.6% หรือ +8.85% ต่อปี S&P500 +5.1% ต่อปี DJIA +3.17% ต่อปี

จะเห็นได้ว่าการลงทุนในตลาดต่างประเทศจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยทั้งในระยะสั้น กลางและยาว ซึ่งนักลงทุนสามารถที่จะลงทุนผ่านการลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นต่างประเทศได้ โดยเน้นไปที่กองทุนประเภท Passive Fund หรือผลตอบแทนใกล้เคียงตลาด กองทุนประเภทนี้จะคิดค่าธรรมเนียมต่ำ และหวังผลตอบแทนในระยะยาวได้ค่อนข้างดี

แต่หากนักลงทุนต้องการที่จะลงทุนในตัวหุ้น ลองมาดูผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดใน S&P500 10 ตัวแรก ซึ่งนักลงทุนไทยต่างก็รู้จักเป็นอย่างดีอย่าง AAPL (Apple Inc) ให้ผลตอบแทนในปี 2566 +45% (มากกว่าตลาดที่ให้ผลตอบแทน +15%) และให้ผลตอบแทนรวม 10 ปี 937% หรือ 24% ต่อปี รองลงมาเป็น Microsoft Alphabet Amazon NVIDIA Tesla META Bershire VISA ล้วนให้ผลตอบแทนในปีนี้ในระดับ 10 – 190% ให้ผลตอบแทนรวม 10 ปี สูงระดับ 200% – 13844% โดยเฉพาะ NVIDIA ให้ผลตอบแทน 13844% เฉลี่ยต่อปี 57%

เมื่อมาเทียบกับผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดใน SET Index 10 ตัวแรก DELTA ให้ผลตอบแทนในปี 2566 +22% ให้ผลตอบแทนรวม 10 ปี 3056% เฉลี่ย 37% ต่อปี รองลงมาเป็น AOT แม้ปีนี้จะให้ผลตอบแทนติดลบ -6% แต่ผลตอบแทน 10 ปียังสูงกว่า 627% หรือ 20% ต่อปี ส่วน PTT ADVANC CPALL BDMS SCC SCB CPAXT ล้วนให้ผลตอบแทนต่ำเตี้ยราดดิน -4% ถึง 8% ต่อปีเท่านั้น ยกเว้น GULF ที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2560 ให้ผลตอบแทนรวมตั้งแต่เข้าตลาด 328% หรือ 34% ต่อปี

จากข้อมูลข้างต้น ไม่ใช่ภาพตลาดที่ให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน หุ้น Blue Chip หรือหุ้นขนาดใหญ่ ก็ยังให้ตอบแทนห่างกันหลายขุม ตอกย้ำว่าการลงทุนหุ้นรายตัวในตลาดต่างประเทศเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งนี้แนวทางการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ปัจจุบันนักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศกับบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ได้ แต่มีข้อเสียคือ 1) ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำค่อนข้างมากเพราะราคาหุ้นต่อตัวสูงมาก 2) เสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเข้า-ออกจากประเทศอยู่บ่อย ๆ 3) ต้องยอมรับความเสี่ยงเมื่อค่าเงินผันผวน โดยนักลงทุนต้องทำการแลกเงินไว้ในพอร์ตก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อด้วย 4) ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายแพงกว่าโบรกเกอร์ต่างประเทศ และนักลงทุนจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง เพราะจะอยู่ภายใต้ชื่อของโบรกเกอร์ แต่ยังคงได้กำไรและเงินปันผลปกติ

ด้วยข้อเสียต่าง ๆ ของการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ ทำให้การลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่าน DR ดูจะเป็นคำตอบที่ดีกว่ามาก

Depositary Receipt หรือ DR เป็นตราสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือ ETF ในต่างประเทศได้ โดยผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกระบวนการย่อมง่ายกว่าการออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศ เพราะมีตัวกลางซึ่งก็คือผู้ออก DR เป็นผู้ช่วยบริหารจัดการ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการยกหุ้นต่างประเทศมาให้ซื้อขายได้บนตลาดหุ้นไทย ในรูปแบบของการซื้อขาย “ใบรับฝาก” แทน

ผู้ออก DR จะเป็นคนไปซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศมาเก็บไว้ เพื่อใช้ออก DR ก่อนจะนำมาเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป โดยแบ่งการเสนอขายออกเป็น 2 แบบคือ IPO ต้องจองซื้อ ซึ่งผู้จองซื้ออาจมีความเสี่ยงด้านราคาในช่วงระหว่างวันจองซื้อถึงวันที่สามารถซื้อขายในตลาดหุ้นได้ และอีกแบบ Direct Listing คือ การเสนอขายหุ้นโดยตรงให้กับนักลงทุนได้เลย ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งจะทำให้การเสนอขายมีความคล่องตัวและลดความเสี่ยงด้านราคา โดยการเสนอขายวิธีนี้ได้เริ่มจาก DW และ DR

อธิบายง่าย ๆ ผู้ออก DR ไม่ใช่บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่จะทำหน้าเป็นผู้ที่ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนนักลงทุน

ดังนั้น นักลงทุนที่ถือครอง DR จึงเปรียบเสมือนกับถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านใบ DR ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เนื่องจากซื้อขายด้วยเงินบาท ใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป สิ่งเดียวที่แตกต่างกัน คือ Board Lot ของ DR จะซื้อขายได้สะดวกกว่าหุ้นทั่วไป เพราะ DR นั้นซื้อขายได้ขั้นต่ำครั้งละ 1 DR ขณะที่หุ้นทั่วไปจะซื้อขายกันขั้นต่ำที่ Board Lot ละ 100 หุ้น

กระนั้น DR มีข้อจำกัดที่เวลาในการซื้อขายจะอิงตามเวลาของกระดานหุ้นไทย (ประมาณ 9.30 – 17.00 น.) ซึ่งครอบคลุมเวลาของตลาดบางประเทศในโลกเท่านั้น จึงเป็นที่มาของ DRx (Fractional Depositary Receipt) หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ปัจจุบันเปิดให้ทำการซื้อขายเป็น 2 ช่วงเวลา คือ Asia Time Zone (7.00-17.00 น.) และ US Time Zone (20.00-04.00 น.) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ตามเวลาตลาดโลกมากขึ้นกว่าเดิม และสามารถซื้อขายเป็นจำนวนหน่วย หรือจำนวนบาทก็ได้

โดยสรุปคือ DR คือ หลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศและ DRx คือ หลักทรัทย์อ้างอิงต่างประเทศ (ด้วยเหมือนกัน) อีกทั้งสิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น Capital Gain และเงินปันผลก็ได้เหมือนกัน แต่ DRx ต่างกับ DR ตรงเวลาในการซื้อขาย ส่วนจำนวนหน่วยการซื้อขาย ปัจจุบัน DR ที่ออกจะมีการแตกให้เป็นหน่วยย่อยแล้ว เช่น 1 หุ้นของบริษัท Alibaba ถูกแตกออกเป็น DR 100 หน่วย เช่นเดียวกับ DRx ที่สามารถลงทุนเป็น “เศษหุ้น” ที่ 0.0001 หน่วย ก็สามารถทำได้ พูดง่าย ๆ คือ ใช้เงินน้อยก็สามารถเป็นเจ้าของหุ้นต่างประเทศ ได้ไม่ยาก

โดยนักลงทุนที่ต้องการซื้อขาย DRx ต้องแจ้งความประสงค์กับโบรกเกอร์เพื่อซื้อขาย DRx เพิ่มเติม (ในขณะที่ DR ซื้อได้เลย) หรือนักลงทุนสามารถที่จะเข้าไปเปิดเปิดบัญชี DRx ด้วยตนเองผ่านการใช้ Streaming App. เลือก my Menu แล้ว กด DRx เพื่อเปิดบัญชีได้เลย ทั้งนี้จะต้องเป็นบัญชี cash balance (pre-paid) เท่านั้น พูดง่าย ๆ คือ เปิดบัญชี DRx ใส่เงินเข้าไป เมื่อถึงเวลาอยากทำการซื้อขายนักลงทุนสามารถเข้ามาใน Streaming App. ในส่วน DRx เพื่อทำการส่งคำสั่งซื้อขายได้เลย

ปัจจุบันการลงทุนผ่าน DR และ DRx กำลังเป็นที่แพร่หลาย ธนาคารกรุงไทย ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในการออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยได้เสนอขาย DR และ DRx อ้างอิงหุ้นต่างประเทศชั้นนำไปแล้ว 8 หลักทรัพย์ เช่น อาลีบาบา (BABA80) บีวายดี (BYDCOM80) แอปเปิล (AAPL80X) และเทสล่า (TSLA80X) ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวมกว่า 5,000 ล้านบาท ล่าสุดกรุงไทย ยังออก DR80 เสนอขายโดยตรง (Direct Listing) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อ้างอิงหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและจีน เพิ่มอีกจำนวน 4 หลักทรัพย์ ได้แก่ ไมโครซอฟท์ (MSFT80X) อัลฟาเบท (GOOG80X) เอ็นวิเดีย (NVDA80X) ไป่ตู้ (BIDU80) เพื่อเปิดให้ผู้ลงทุนไทยเข้าถึงหุ้นผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของโลกที่มีการเติบโตสูงไปพร้อม ๆ กัน

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด

iran-israel-war