Omicron Oh my God

พลันที่องค์การอนามัยโลก WHO ออกมาเตือนเกี่ยวกับ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ที่แพร่ระบาดในแอฟริกาใต้เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ในหลายจุดอย่างมากจนน่าวิตก โดยจัดให้อยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวล พร้อมทั้งระบชื่อสายพันธุ์ใหม่ว่า โอไมครอน (Omicron)

สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็พังทลายลงทันที S&P500 Index ร่วงรุนแรงในช่วง 26-30 พ.ย. 64 กว่า -3% เช่นเดียวกับ SET Index ลงจัดหนักในช่วงเวลาเดียวกันกว่า -4.8%

ทำไมการเจอไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถึงต้องทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสะเทือนกันได้ขนาดนี้ การหาคำตอบคงต้องย้อนความกลับไปถึงที่มาของ ไวรัสสายพันธุ์นี้ แรกเริ่มมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่ WHO จะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่าโอไมครอน เป็นไวรัสกลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

ความน่ากลัวมันอยู่ตรงที่มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก และการกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

โดยเป็นที่แน่ชัดว่าการติดเชื้อของ Omicron มีอัตราที่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตามาก อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการอีกนานหลายสัปดาห์ จึงจะสามารถบอกได้ว่ายีนเหล่านั้นมีผลทำให้เชื้อโควิดดังกล่าวมีฤทธิ์ร้ายแรง เหนือกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่เคยพบมาก่อนหรือไม่ เช่นเดียวกับประสิทธิภาพของวัคซีนต่าง ๆ ในการป้องกันสายพันธุ์นี้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

เท่ากับเรารู้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนติดง่ายติดไวกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่เรายังไม่รู้ว่า Omicron จะส่งผล 1. ไวรัสจะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงมากเพียงใด 2. ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ 3. ผู้ที่ฉีดวัคซีนไป เมื่อติดสายพันธุ์นี้จะมีอาการป่วยอย่างไร

เมื่อไม่รู้ก็คือความไม่แน่นอน ความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวด เช่น ล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทางหรือปิดประเทศก็มีมากขึ้น

ความไม่แน่นอนแบบนี้คือสิ่งที่ตลาดไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบก็ขอขายไว้ก่อน สภาวะ Risk Off จึงเกิดขึ้น

คำถามคือการลงจากเรื่องสายพันธุ์โอไมครอน มันคือโอกาสหรือไม่

คำตอบคือใช่ มันคือโอกาส

ผมมองว่า มันคือวัฏจักรวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อเจอโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตลาดกลัว หุ้นลง เกิดล็อกดาวน์ หุ้นขึ้น หายกลัว และก็เจอโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ตลาดกลัว หุ้นลง เกิดล็อกดาวน์ หุ้นขึ้น … มันเป็น ลูปนรก ชัด ๆ

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ต้องแยกให้ออกระหว่าง การเปิด/ปิดเมือง และ การเปิด/ปิดประเทศ ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะเห็นการล็อกดาวน์ปิดเมืองในประเทศมีน้อยมาก เหตุเพราะ

  1. พัฒนาการฉีดวัคซีนปัจจุบันไทยเร่งตัวได้ดีมาก ฉีดไปแล้วกว่า 100 ล้านเข็ม เข็มแรกคิดเป็นเกือบ 70% ของประชากรทั้งหมด เข็มสองอีก 56% และเข็มสามกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ
  2. การเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ล็อกดาวน์ไม่ได้ เพราะแนวโน้มมันชัดเจนแล้วตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เลือกตั้ง 2 ใบ บ่งบอกชัดว่ากลางปี 2565 มีโอกาสยุบสภาเลือกตั้งสูงมาก เท่ากับว่ารัฐบาลเหลือเวลาทำแต้มเพียงแค่ 7 เดือน หากมีการล็อกดาวน์อีก ก็ไม่ต้องหวังที่จะเลือกตั้งชนะ

ทั้งนี้แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดการปิดประเทศ ห้ามต่างชาติเข้ามา ดูมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางการเพิ่มมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น อย่างเช่น การเปลี่ยนวิธีทดสอบหาเชื้อจากการ ATK กลับไปเป็น RT PCR เหมือนเดิม

ระยะสั้น ตลาดสามารถเกิดความกลัวได้ว่า สายพันธุ์จะทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ซึ่งกว่าตลาดจะรู้ว่าความแรงของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ในระดับไหนก็น่าจะช่วงกลาง ธ.ค. 64 แต่คาดว่าเมื่อตลาดรับรู้แล้วว่ามันเป็นลักษณะไหน ตลาดจะเริ่มปรับตัว และนักลงทุนจะเริ่มมองหาโอกาสการลงทุนกันอีกครั้ง

ดังนั้นการปรับลงมาต่ำกว่า 1,580 จุด มันจึงเป็นจังหวะดีในการเข้าสะสม

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์