Quasi Stagflation เศรษฐกิจกึ่ง ๆ ซบเซา

ความกังวลหลักของตลาดทุนโลกที่ผมได้ยินและได้อ่านเจอบ่อยที่สุดตอนนี้คือ สภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน Stagflation ดูเหมือนว่าคำ ๆ  นี้ กำลังหลอกหลอนและสร้างความหวาดกลัวให้กับตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

Stagflation คืออะไร มันเป็นคำรวมระหว่าง Stagnation (สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว) และInflation (ภาวะเงินเฟ้อ) ผสมเข้าด้วยกัน ตีเป็นคำไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ข้าวยากหมากแพง โดยลักษณะเด่นของ Stagflation คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และเศรษฐกิจคงที่หรือถดถอย

สถานการณ์ปัจจุบันคือ สหรัฐกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อเพิ่มสูงยืดเยื้อกว่าคาด ดัชนี personal consumption expenditure price index (PCE) ซึ่ง Fed ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 64 พุ่ง 4.3% และดัชนี consumer price index (Core CPI) เดือน ก.ย. 64 5.4% สุงที่สุดในรอบ 12 ปี ขณะที่ producer price index (PPI) ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เดือน ก.ย. 64 พุ่งขึ้น 8.6% ถือเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์

แต่อัตราการว่างงานกำลังปรับลดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เดือน ก.ย. 64 4.8% โดย Goldman Sachs คาดว่าสิ้นปี 2021 อัตราว่างงานจะลงสู่ 3.5% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดคาด 2 เดือนติดต่อกัน เดือน ก.ย. 64 เพิ่มขึ้นเพียง 1.94 แสนตำแหน่ง ตลาดมองเป็นเพราะแรงงานบางส่วนยังไม่อยากกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน เนื่องจากต้องการรับสวัสดิการชดเชยจากผลกระทบโควิดของรัฐบาล และบางส่วนมีเงื่อนไขการทำงาน work from home กันมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ในภาวะเงินเฟ้อสูง แต่การจ้างงานในสหรัฐยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง สภาวะนี้จึงยังไม่ใช่ Stagflation อย่างที่หลายคนกังวลกันมากนัก โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับการเกิด Stagflation เมื่อปี 1970 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว อัตราว่างงานสูงเกือบ 9% -ขณะที่ราคาน้ำมันทะยานกว่า 400% จากการที่กลุ่ม OPEC ประกาศขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในช่วงปี 1971-1974 และ 1979-1980 ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงปี 1980-1982

การเกิด Stagflation ใน ทศวรรษ 1970 – 1980 จึงเป็นสภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นก่อนแล้วไปกดดันเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับในปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจาก COVID-19 ความต้องการและกำลังซื้อหรือ Demand พุ่งสูง แต่การผลิต Supply ตามไม่ทันรวมไปถึงปัญหาในการขนส่ง จนทำให้เกิดปัญหาคอขวด Supply Bottleneck ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีการปรับเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ

บวกกับการเตะถ่วงของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ในการค่อย ๆ ปรับเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่สูงขึ้น โดยมีการประเมินว่าผลผลิตน้ำมันที่ออกมาน้อยกว่าความต้องการใช้ถึง 5 ล้านลาร์เรลต่อวัน ทำให้สต็อกน้ำมันดิบของโลกปรับลดลงจนแทบไม่เหลือสต็อกแล้ว จึงทำให้ราคาน้ำมันกลับมาอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยการตื่นตัวของเศรษฐกิจ (Economic Restart) จึงน่าจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว เมื่อ Supply เริ่มตาม Demand ทัน ความสมดุลจะเกิดขึ้น ระดับเงินเฟ้อจะลดลง สอดคล้องกับความคิดเห็นของ รมต.คลังสหรัฐ เจเนตเยลเลน และประธาน Fed เจโรม พาวเวล เชื่อว่าเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อจนถึงปีหน้า ก่อนที่สถานการณ์ Supply ตึงตัวจะคลี่คลายและเงินเฟ้อจะอ่อนตัวลงมาใกล้ 2% อีกครั้ง

Goldman Sachs วาณิชธนกิจใหญ่ของโลก ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐ core PCE ปี 2021 เป็น +4.3% และกลางปี 2022 +3.0% ก่อนที่ปลายปี 2022 จะเหลือ +2.15%

เพราะฉะนั้น แรงกดดันจากสภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวไม่ได้ตามความคาดหมายจากการแพร่ระบาดของ COVID ระลอกใหม่ มันน่าจะเป็นเพียงแค่สภาวะชั่วคราว ด้วยศักยภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังมีโอกาสเติบโต สถานการณ์ในปัจจุบันจึงยังไม่น่าใช่ Stagflation อย่างเต็มตัว อย่างมากก็น่าจะเป็นได้แค่ Quasi Stagflation หรือ เศรษฐกิจกึ่ง ๆ เกือบ ๆ จะซบเซา

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์

iran-israel-war