ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ Bitcoin ลงใน Finnomena มาสองตอนแล้ว ที่อธิบายถึงที่มาและที่ไปของเงินดิจิตอลสกุลนี้ สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านถ้าสนใจอ่านบทความนี้ผมแนะนำให้ลองกลับไปอ่านบทความสองตอนแรกก่อนนะครับ เพราะจะปูพื้นฐานแง่มุมของ Bitcoin ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเอาไว้พอสมควร

  1. เหตุผลที่ Bitcoin ทะลุ $1,000 อธิบาย Crytocurrency ในแง่มุมเศรษฐศาสตร์
  2. ด้านมืดของ Bitcoin ปัญหาที่จะเกิดกับระบบเศรษฐกิจและการต่อต้านจากรัฐบาล

เรามาทวนประเด็นหัวใจของ Bitcoin กันซักเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มต้นเรื่องของ CryptoBubble

ทำไม Bitcoin ถึงน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน..?

Bitcoin มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับทองคำ คือผลิตได้จำนวนจำกัด มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ปลอมแปลงไม่ได้เลย (อันนี้ดีกว่าทอง) และยังสามารถแบ่งย่อยเป็นหน่วยเล็กๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายได้ (อันนี้ Bitcoin ก็ดีกว่าทองที่เป็น physical จะแบ่งย่อยเกินไปก็จะเหลือขนาดแค่ทองคำเปลว ปลิวหายไปได้)

แต่เพียงคุณสมบัติดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเชื่อถือใน Bitcoin หรอกครับ หัวใจสำคัญของสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงสินทรัพย์ทุกประเภทในโลกใบนี้ จะมีคุณค่าและมี demand ได้ นั่นคือ คนจะต้องให้ความเชื่อถือ หรือ เรากำลังพูดถึงเรื่อง trust และ confidence นั่นเอง

ในที่นี้ Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับความเชื่อถือสูงที่สุดในยุคปัจจุบัน ถ้าลองเทียบกับราคา ETH ซึ่งเป็นอีกสกุลที่กำลังมาแรง เราจะเห็นได้ว่า ความผันผวนของ Bitcoin ที่ผ่านมาถือว่าเบามาก เมื่อเทียบกับ ETH ซึ่งความผันผวนนี้เองที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความเชื่อถือของคนที่มีต่อสินทรัพย์นั้นๆ (ดูตัวอย่างพวกหุ้นปั่น กับหุ้นบลูชิพได้)

กราฟ ETH/USD เทียบ BTC/USD ใครว่า Bitcoin เหวี่ยงแล้ว เจอ Ethereum ไป Bitcoin จืดไปเลย

Bitcoin ในอดีตก็เหวี่ยงเหมือนๆ กับที่ ETH เหวี่ยงช่วงนี้แหละครับ ปรับฐานทีนึง 30%-40% เป็นเรื่องธรรมดาๆ เลย ด้วยเหตุผลที่ผมเคยเล่าไปแล้วว่ามีสถานการณ์กักตุน (hoarding) จนทำให้ Bitcoin เกิดสภาวะ Hyperdeflation แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัว Bitcoin เองเริ่มกระจายไปสู่คนหมู่มาก สภาวะการเหวี่ยงอย่างรุนแรงก็ลดลงไปหน่อย (แต่ก็ยังเยอะอยู่นะ ถ้าเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดิจิตอลด้วยกันเอง)

ลองคิดตามนะครับ เมื่อ trust เพิ่ม ราคาก็จะไม่ร่วงหนัก เพราะมีคนมา Bid รับเรื่อยๆ แต่ถ้า trust หายคือไม่มี Bid ราคาก็ลง floor ได้แบบง่ายๆ เลย

Trust vs Scarcity

สรุปการที่สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่ง หรือสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งจะมีค่า และมีคนต้องการ มันจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง นั่นคือ จะต้องมีจำนวนจำกัด (limit supply หรือเรียกอีกมุมว่า scarcity) และได้รับความเชื่อถือจากคนหมู่มาก (trust)

เรามาไล่ดูตัวอย่างของ trust กับ scarcity กัน เพื่อจะได้มองเห็นภาพความสัมพันธ์ของคุณสมบัติสองอย่างนี้ของสินทรัพย์

  • ทองคำในอดีต มีทั้ง scarcity และ trust
  • ตัว Bitcoin เองก็มี scarcity จากสถาปัตยกรรม Blockchain ที่ควบคุมจำนวน Bitcoin ไว้ไม่ให้เกิน 21 ล้านเหรียญ ส่วน trust ค่อยๆ เพิ่มขึ้นแบบช้าๆ (อย่าคิดว่า Bitcoin มีคน trust เยอะนะครับ เพราะเอาเข้าจริงปัจจุบันคนส่วนใหญ่มาเล่น Bitcoin จากความโลภ (greed) ไม่ใช่ความเชื่อมั่น (trust) คนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้เข้าใจ Bitcoin จริงพร้อมวิ่งหนีถ้าฟองสบู่แตก)
  • หุ้นบลูชิพอย่าง AOT หรือ PTT มีทั้ง scarcity และ trust
  • แต่เราลองคิดว่าถ้าจู่ๆ scarcity ของหุ้นเหล่านี้หมดไป เช่น วันดีคืนดีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง AOT ทำการเพิ่มทุนสิบเท่าจนหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 14,000 ล้านหุ้นกลายเป็น 140,000 ล้านหุ้น
  • เมื่อนั้น scarcity ของ AOT ก็จะสูญสลายหายไปทันที และราคาหุ้นก็จะ dilute ลงตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมานั่นแหละ (กรณีนี้มีให้เห็นบ่อยๆ ในกลุ่มหุ้นปั่น)
  • รูปภาพของ Van Gogh ในช่วงที่เค้ายังมีชีวิตนั้นมี scarcity แต่ก็ขายไม่ได้ราคา ไม่มีใครยอมซื้อเพราะขาด trust
  • แต่หลังจาก Van Gogh ตาย ยุคหลังรูปภาพของเค้ามี scarcity และก็มี trust ด้วย ราคาเลยพุ่งทะลุหลายร้อยล้านดอลล่าร์ (ปรับตามเงินเฟ้อ)
  • ส่วนเงินดอลล่าร์ก่อนล้ม bretton woods ก็มีทั้ง scarcity (จากการอิงกับทองคำในอัตรา 35 เหรียญแลกทองคำได้หนึ่งออนซ์) และ trust จากการเป็นชาติมหาอำนาจที่ขยายการค้าไปทั่วโลก
  • ส่วนเงินดอลล่าร์ยุคนี้ เริ่มมีปัญหาคือไม่ scarcity แล้ว (เพราะ QE หนัก แต่คนส่วนใหญ่ไม่รับรู้) แต่ trust ยังคงอยู่ (จากการเป็นตำรวจโลก) แม้จะมีแนวโน้ม trust ที่ค่อยๆ สูญเสียไปทีละนิดแต่ก็ยังถือว่าแข็งแกร่ง
ภาพประกอบคือภาพ The Red Vineyard เป็นภาพเพียงภาพเดียวที่ Van Gogh ขายได้ในช่วงชีวิตของเขาด้วยมูลค่าเพียง 400 ฟรังซ์ในปี 1890

ผมเคยเล่าให้ฟังว่าในยุคสมัยที่โรมันเรืองอำนาจ ทองคำถูกใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน และเหรียญทองคำของโรมันถูกนำไปใช้แพร่หลายถึงประเทศอินเดีย

คนอินเดีย trust เหรียญทองคำจากโรมันมาก จนไม่ยอมใช้ทองคำของประเทศตัวเอง (ทั้งๆ ที่มันก็ทองเหมือนกัน) trust มากถึงขนาดไปทำเหรียญทองคำโรมันของปลอมออกมา คือใช้ทองคำจริง แต่ไปปั้มรูปกษัตริย์โรมันลงในเหรียญทองคำของอินเดีย เพื่ออยากให้คนเชื่อถือ..

  • ตัวทองคำเอง มี scarcity
  • แต่เหรียญทองคำโรมัน กลับมี trust มากกว่าทองคำทั่วไป
  • คนอินเดียจึงให้ value เหรียญทองคำโรมัน มากกว่าทองคำอินเดีย

scarcity ก่อให้เกิด trust และ trust ก่อให้เกิด value

ถ้า scarcity หาย โดยมาก trust จะหายตาม แต่ก็มีบางกรณีเช่นดอลล่าร์ ที่ scarcity หายแต่กลับยังเหลือ trust อีกเยอะ value จึงยังคงอยู่

แต่ตรงข้ามกันถ้า trust หาย อันนี้ value จะหายตามแน่นอน แม้ scarcity จะยังคงอยู่ก็ตาม

ผมเกริ่นมาถึงจุดนี้คิดว่าผู้อ่านน่าจะเริ่มมองเห็นภาพความสัมพันธ์ของ scarcity, trust และ value มากขึ้นนะครับ

กลับมาเรื่อง CryptoBubble กันต่อ

สกุลเงินดิจิตอลตอนนี้มีจำนวนเยอะมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, Zcash, Dash, Ripple, ฯลฯ ผมอยากเอาตารางนี้มาให้ทุกท่านดู คือเทียบจำนวนสกุลเงินดิจิตอลตามขนาด Market cap 10 อันดับแรก จะเห็นได้ว่า Bitcoin และ Ethereum ครองอันดับ 1 และ 2 ทิ้งห่างสกุลเงินอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่น

source: ข้อมูลจาก http://coinmarketcap.com ณ วันที่ 16 กรกฏาคม 2017

ตอนนี้มีสกุลเงินดิจิตอลร่วมๆ พันสกุลเงินที่มีการเทรดกันในตัวกลางการแลกเปลี่ยน (exchange) และมีสกุลเงินดิจิตอลเกิดใหม่โดยเฉลี่ย “วันละ 1 สกุลเงิน” โดยประมาณ..!!

คุณพอมองเห็นปัญหาอะไรจากการเกิดของสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้บ้างไหมครับ..?

  • Bitcoin สองพันเหรียญเหรอ แพงจัง ชั้นไปขุด Siacoin ดีกว่า
  • Ethereum แพงจัง ชั้นไปขุด Dogecoin ดีกว่า

เสร็จแล้วเอาสกุลเงินดิจิตอลเหล่านั้นที่ขุดง่ายกว่า ไปแลกเป็น Bitcoin ภายหลังได้ด้วย..!!

ผมจะเล่าให้ฟังแบบสรุปว่า ก่อนสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้จะถูกเข้ามาเทรดในตลาดกลางได้ มันมีหน่วยงานส่วนกลางของ exchange ที่จะคัดเลือกและอนุมัติให้สกุลเงินดิจิตอลพวกนี้ให้เข้าทำการซื้อขาย อันนี้ก็จะช่วยกรองสกุลเงินลวงโลก หรือสกุลเงินขยะออกไปได้ระดับหนึ่ง แต่ถามจริงๆ ว่าปัญหาหลังจากนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น..??

ใช่ครับ.. “scarcity” ซึ่งเป็นจุดขายหลัก และเป็นเหตุผลสูงสุดข้อหนึ่งของการสร้างสกุลเงินดิจิตอลในยุคนี้จะค่อยๆ หายไป..!!

การเพิ่มสกุลเงินดิจิตอลเข้ามาในระบบเรื่อยๆ แม้ทุกสกุลเงินจะมี scarcity แต่เมื่อจำนวนสกุลเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน มันก็ไม่ต่างจาก หุ้นบลูชิพที่ดันทะลึ่งเพิ่มทุนทุกวัน หรือดอลล่าร์ ยูโร หรือเยน QE ทุกวันนั่นแหละ

ณ วันนี้เราแทบจะพูดได้เต็มปากว่า สกุลเงินดิจิตอลสูญเสียคุณสมบัติของ scarcity ไปเรียบร้อยแล้ว

ผมยกประโยคข้างบนมาซ้ำตรงนี้อีกที..

  • scarcity ก่อให้เกิด trust และ trust ก่อให้เกิด value
  • ถ้า scarcity หาย โดยมาก trust จะหายตาม แต่ก็มีบางกรณีเช่นดอลล่าร์ ที่ scarcity หายแต่กลับยังเหลือ trust อีกเยอะ value จึงยังคงอยู่
  • แต่ตรงข้ามกันถ้า trust หาย อันนี้ value จะหายตามแน่นอน แม้ scarcity จะยังคงอยู่ก็ตาม

เราเรียนรู้ข้อเท็จจริงกันว่า scarcity ของเงินดิจิตอลหมดไปแล้ว แต่ผมเองก็ไม่รู้ว่า trust ของสกุลเงินดิจิตอลจะหายไปเมื่อไหร่..? ซึ่งตามหลักแล้ว เมื่อคนฉลาดเริ่มหนีเอาตัวรอด เมื่อคนโลภลืมตาตื่น เมื่อนั้นจุดจบของฟองสบู่สกุลเงินดิจิตอลคงจะมาถึง อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ อาจจะเป็นปีหน้า หรืออาจจะเป็นอีกสิบปีข้างหน้า สุดวิสัยที่ผมจะบอกอนาคตได้

แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง ฟองสบู่ระบบเศรษฐกิจอีกฟองหนึ่งที่เรียกว่า CryptoBubble ก็จะแตกออก จะมีคนจำนวนมากหมดตัวจากวิกฤติรอบนี้ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อในเรื่องของ creative destruction นะครับ

ฟื้นกลับอย่างแข็งแรง

ในทุกๆ วงจรเศรษฐกิจจะมีภาวะเกิดใหม่และแตกสลาย สลับกันไปเรื่อยเสมอ เมื่อสินทรัพย์มีมูลค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อคนโลภเพิ่มมากขึ้นจนคนฉลาดสบโอกาสที่จะทำกำไรครั้งใหญ่ เมื่อนั้นปลาฉลาดก็จะกินปลาโลภเสมอ

แต่ทุกๆ จุดสิ้นสุดของฟองสบู่ การฟื้นคืนใหม่ของวงจรเศรษฐกิจก็จะเริ่มต้นขึ้น ใครเรียน Elliott wave มา หลัง wave C มันก็จะตามมาด้วย wave 1

ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจะขับไล่คนโลภให้ออกจากตลาดไป รวมถึงขับไล่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ออกจากตลาดไปด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ The Great Depression ของสหรัฐอเมริกา มาถึงฟองสบู่ดอทคอม วิกฤติต้มยำกุ้ง ฟองสบู่ซับไพร์ม

สมมติฐานของผมหลังการเกิดวิกฤติฟองสบู่ CryptoBubble ก็คือ สกุลเงินดิจิตอลที่มี trust ไม่มากพอ จะหายไปจากตลาด คือ ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ และจะด้อยค่าจนไม่มีใครสนใจอยากได้ (สถานการณ์จะคล้ายกับภาพของ Van Gogh ช่วงที่เค้ายังมีชีวิต คือแม้จะมี scarcity แต่จะไม่ได้รับ trust ที่มากเพียงพอ) เพราะมันดันมีหลายยี่ห้อให้เลือกจนเกินไป เมื่อสกุลเงินพวกนี้หายไปจากตลาด supply ของเงินดิจิตอลก็จะเริ่มลดลง และหลังจากนั้น trust ของเงินดิจิตอลก็จะเริ่มกลับคืนมา

และสกุลเงินดิจิตอลที่มี trust มากที่สุด ณ​ ช่วงเวลานั้น ก็จะกลับสู่วงจรการเติบโตได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นต่อไป (ซึ่งผมเดาว่ามันคงจะเป็น Bitcoin) คล้ายๆ กับหุ้นพื้นฐานดีหลังวิกฤติซับไพร์ม ที่ราคาเติบโตเป็นสิบเด้งในยุคนี้

สรุปปิดท้าย

ย้ำกันอีกทีปิดท้ายว่า ผมคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิด CryptoBubble เกิดขึ้นจากการเกิดแบบไม่จำกัดของสกุลเงินดิจิตอลใหม่ๆ แต่คำถามที่ว่าฟองสบู่มันจะแตกเมื่อไหร่ อันนี้ผมตอบไม่ได้ คำถามที่ว่าราคาเงินดิจิตอลที่ร่วงหนักช่วงนี้คือฟองสบู่แตกหรือเปล่า ถ้าในทรรศนะส่วนตัวผมยังคิดว่า “ไม่ใช่” ตอนนี้

แต่ถ้าถามว่าทำไมตอนนี้ราคาเงินดิจิตอลถึงร่วงรุนแรงขนาดนี้ ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นเจ้ามือมี ETH หรือ BTC ในมือจำนวนมาก เห็นคนแห่ไป Commart เพื่อซื้อการ์ดจอจนขาดตลาดกันไปทั้งโลก แน่นอนว่าจะต้องมีเหล่าเจ้ามือกลุ่มหนึ่งที่จะ “take profit” จากโอกาสแห่งความบ้าคลั่งนี้ เทขายเงินดิจิตอลออกมาเพื่อ “เล่นรอบ” (ผมยังแอบขายมาหน่อยนึงเลย)

นอกจากนั้นมันยังมีความกลัวในข่าวที่ทีมงาน Bitcoin แจ้งเตือนว่าจะมีการปรับสถาปัตยกรรม Blockchain ของ Bitcoin ให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาษาเทคนิคเค้าเรียกกันว่า ​SegWit (Segregated Witness Adoption) ในช่วงเดือนสิงหา ยิ่งทำให้มีคนที่ไม่มั่นใจกลัว Bitcoin ที่ตัวเองมีสูญหาย ก็แห่ขายกันมารอบหนึ่งก่อน ยิ่งทำให้ราคาร่วงหนักเข้าไปใหญ่

ในทางเทคนิคผมมองว่ามันเป็นจุดปรับฐานของ wave 4 เพื่อเตรียมเข้าสู่ wave 5 ที่เป็น wave แห่งความบ้าคลั่งกันต่อไป แต่ช่วงปรับฐานนี้อาจจะยาวนานในระดับหลายเดือนถึงหลักปีก็เป็นได้ ความเชื่อมั่นในความคิดนี้ 60-70% นะครับ ใช้วิจารณญาณในการเชื่อผมด้วยนะ

เมื่อไหร่ฟองสบู่จะแตก อันนี้ผมไม่รู้ แต่หลังฟองสบู่แตกผมคิดว่าด้วยคุณสมบัติที่แข็งแกร่งของสกุลเงินดิจิตอล สกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับ trust มากๆ อย่าง Bitcoin, Ethereum, Ripple น่าจะยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป หรืออาจจะมีสกุลเงินใหม่ที่สร้าง trust ได้ดีกว่าสกุลเงินเหล่านี้เกิดขึ้นมาใหม่ก็เป็นได้

เมื่อถึงยุคนั้นความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้จะเริ่มลดลง และได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจนอาจจะมาแทนที่สกุลเงินของรัฐบาลได้บ้าง

ของแถม: Correlation doesn’t imply Causation

ผมขอปิดท้ายนอกเรื่องด้วยประเด็นทางวิชาการนิดหน่อย เพราะผมคิดว่ามันเป็นภาพลวงตา (hallucination) ที่ทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจเยอะเลย นั่นคือเรื่องของ “correlation doesn’t imply causation” ไม่รู้จะอธิบายภาษาไทยว่ายังไง ขอลองอธิบายแบบนี้นะครับ

มีคนจำนวนมากเชื่อว่า “ถ้าคุณพิมพ์เงินมาก สุดท้าย เงินจะต้องเฟ้อ” นั่นคือเค้าเชื่อว่า QE เป็นต้นเหตุ (causal) ของอภิมหาเงินเฟ้อ (hyperinflation) ซึ่งมันพิสูจน์มาแล้วว่าไม่จริงหลัง QE ดอลล่าร์ก็ยังอยู่สุขสบายดี

การเพิ่มปริมาณเงิน ไม่ใช่ต้นเหตุ ของ hyperinflation มันเพียงมีความสัมพันธ์ (correlate) กับ hyperinflation ในบางช่วงเวลา และบางสถานที่เท่านั้น (ซิมบับเว, ไวมาร์, ยูโกสลาเวีย)

แต่ต้นเหตุของ hyperinflation ที่จริงแล้วคือ การสูญเสียความเชื่อมั่นของรัฐบาล (collapse in confidence of government) หรือ lack of trust ต่างหาก (เวียดนาม, เวเนซูเอล่า เงินเฟ้อหนักไม่ได้เพราะการเพิ่ม money supply แต่เป็นเพราะ lack of trust)

และ unlimited money supply มันเป็นเพียง cause หนึ่งที่ทำลาย trust ของรัฐบาล ประเทศซิมบับเวเพิ่ม money supply ทำให้ trust รัฐบาลหมดลง ก็เกิด hyperinflation ตามมา

สหรัฐทำเหมือนซิมบับเวเป๊ะ แต่ trust ยังอยู่ (ด้วยหลายเหตุผล) จึงไม่เกิด hyperinflation อย่างที่หลายๆ คนแช่งไว้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ บางคนบอกเงินบาทแข็ง หุ้นจะขึ้น คือ เค้าอาจจะเคยสังเกตว่าค่าเงินบาทมัน correlate กับกราฟ SET

แต่ความจริงแล้ว correlation ≠ causation คือ เวลาเงินฝรั่งไหลเข้าไทย ถ้าเค้าเอามาซื้อหุ้น นั่นคือหุ้นไทยขึ้น แต่ถ้าเค้าเอาเงินเข้าไทย แต่ไม่ได้ซื้อหุ้นล่ะ..? ถ้าเค้าเอาเงินไปซื้อพันธบัตรแบบช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือฝรั่งซื้อพันธบัตรไทยไปร่วมๆ แสนล้าน ก็จะเจอสถานการณ์เงินบาทแข็ง แต่หุ้นไม่ขึ้น

เพราะ cause จริงๆ ของการที่หุ้นไทยขึ้นคือ “ฝรั่งซื้อหุ้นไทย” ไม่ใช่ “เงินบาทแข็ง” แต่พอฝรั่งซื้อหุ้นไทยแล้ว เงินบาทมันจะแข็ง และหุ้นมันจะขึ้นต่างหาก