Bitcoin บิทคอยน์

ต้อนรับเปิดศักราชปี 2017 กับราคา Bitcoin ที่ทะลุ $1,000 ในรอบหลายปี ผมเห็นผู้คนจำนวนมากเริ่มกลับมาสนใจสกุลเงินอิเลคโทรนิคตัวนี้ พร้อมกับคำถามของคนจำนวนมาก “เงินอิเลคโทรนิค ทำไมถึงน่าเชื่อถือ..?” ผมเลยขอพักเรื่อง Rise of the Robot ตอนที่ 2 เอาไว้ก่อน ขอเขียนแทรกมุมมองตามหลักเศรษฐศาสตร์ของ Bitcoin เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้กับคนทั่วไป ที่จะมองสกุลเงินอิเลคโทรนิคตัวนี้ในภาพที่ชัดเจนขึ้น

image00

ภาพที่ 1: กราฟราคา Bitcoin ที่ทะลุ $1,000 ในช่วงเข้าปี 2017 ที่ผ่านมา

Disclaimer: ผมเป็น Bitcoin Miner (หรือผู้ขุด Bitcoin) มาตั้งแต่ปี 2013 และลงทุนใน Bitcoin มาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการขึ้นราคาของ Bitcoin

PS. คำอธิบายที่มาของเงินตราในตอนต้นผม paraphase เนื้อหาบางส่วนมาจากบทความ What is Money ของคุณ NexttoNothing จาก Thaigold.info

เพื่อให้คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายที่สุด ผมจะพยายามเลี่ยงคำศัพท์เทคนิคที่ซับซ้อนและยกตัวอย่างในรูปแบบ analogy ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ขออนุญาตทับศัพท์บ้างเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร

ถ้าจะตอบคำถามว่า “ทำไมต้อง Bitcoin” เราควรเริ่มต้นจาก pain point ของระบบการเงินในปัจจุบันเสียก่อน (ผมจะแทรกทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาบ้างเพื่อเสริมความเข้าใจอย่างเหมาะสมนะครับ)

เงิน” ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร และ Bitcoin (ภายใต้เทคโนโลยี Blockchain) จะมาแก้ปัญหาให้ได้ด้วยวิธีไหน เรามาตามดูกัน

“เงิน” สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในโลกต้องการมากที่สุด ที่จริงแล้ว มันคืออะไรกันแน่..?

ความหมายของเงินตรา

อันที่จริงแล้ว “เงิน” เป็นสิ่งไม่มีมูลค่าในตัวของมันเอง มันเป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น เงินก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกที่ระบุตัวเลขไว้ว่า 1,000 บาทเท่านั้นเอง

ลองนั่งไทม์แมชชีนกลับไปในยุคอดีตก่อนที่จะมีการใช้ “เงิน” กันดีกว่าครับ เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของเงินให้ชัดเจนขึ้นเราควรต้องเข้าใจวิวัฒนาการของเงิน จากอดีตจนถึงปัจจุบันเสียก่อน

ในอดีต ด้วยข้อจำกัดทางการผลิต มนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถผลิตปัจจัยที่ใช้ดำรงชีพได้ทั้งหมด จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นสัตว์สังคม และเริ่มมีการ “แบ่งงานกันทำ (Division of labor)” เพื่อให้คนแต่ละคนทำงานในส่วนที่ตัวเอง “ถนัด” เพื่อรีดประสิทธิภาพของการผลิตออกมาได้มากที่สุด

ผมไม่สามารถเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวไปพร้อมๆ กันได้ ผมก็เลยเลี้ยงวัว ให้คุณปลูกข้าว เมื่อถึงเวลาที่ผมต้องกินข้าว ผมก็เอาเนื้อวัวที่ผมเลี้ยงไปแลกกับข้าวของคุณ นี่แหละครับเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันในเบื้องต้น ในยุคอดีตไม่มีการซื้อขายสินค้า มีแต่การแลกเปลี่ยน และเราเรียกระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าแบบนี้ ว่า “Barter System

image01

ภาพที่ 2: ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ Harper’s Weekly ปี 1874 แสดงระบบการแลกเปลี่ยนแบบ Barter System ที่คนเอาไก่แลกกับการเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ (Source: Wikipedia)

Barter System นี่มีปัญหาเยอะครับ เพราะถ้าวัวของผมยังไม่โต แต่ผมอยากกินข้าวแล้ว ผมก็ไม่มีอะไรจะไปแลกได้ ต้องอดข้าวไปจนกว่าจะมีเนื้อวัวไปแลก ซึ่งก็คงอดตายไปก่อน

มนุษย์จึงคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยการหาสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ที่จะใช้แทนทรัพยากร โดยสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นจำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ อะไรก็ได้ที่ “หายาก” “ปลอมแปลงไม่ได้” และ “แบ่งเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ได้”

แจ็คพอตมาออกที่ทองคำ (Gold) กับแร่เงิน (Silver) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ได้รับการยอมรับกันในอดีต เพราะทองคำกับแร่เงินนั้นหาได้ยาก ต้องขุดสกัดจากชั้นหินเป็นตันๆ กว่าจะได้ทองซักออนซ์นึง ปลอมแปลงได้ลำบาก และเมื่อนำมาหลอม จะสามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการได้จำนวนมาก

นี่เป็นเหตุผลที่ทองคำต่างจากเพชรในแง่การใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ลองคิดถึงเพชรนะครับ เพชรก็เป็นของหายาก ปลอมแปลงก็ไม่ได้ แต่สาเหตุที่บรรพบุรุษของเราไม่นิยมเอาเพชรมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็เพราะเพชรแบ่งแยกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่ได้เหมือนทองคำ คุณภาพน้ำเพชรแต่ละเม็ดก็ไม่เท่ากัน สภาพคล่องในการนำไปใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนสินค้ามูลค่าต่ำๆ ก็ลำบาก

image02

ภาพที่ 3: ทองคำ แร่เงิน และโลหะมีค่าอื่นๆ ที่ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนในยุคโรมัน (Source: Wikipedia)

กำเนิดตั๋วทองคำ

ทองคำถูกใช้เป็น “เงิน” มานานหลายพันปีครับ จนกระทั่งเกิดการวิวัฒนาการในขั้นตอนถัดไป เพื่อความสะดวกที่ไม่ต้องพกพาทองคำหนักๆ ไปไหนต่อไหน จะหั่นทองคำเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อเอาไปซื้อของเล็กน้อยก็ลำบาก จึงเกิดธุรกิจรับฝากทองคำเกิดขึ้น เมื่อร้านรับฝากทองคำเรียบร้อย ก็จะออกตั๋วทองคำให้กับผู้ฝาก (ธุรกิจรับฝากทองคำนี้คือจุดเริ่มต้นของระบบธนาคารนี่เอง)

ตั๋วทองคำนี้ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้แทนทองคำได้ เมื่อคุณมีตั๋วอยู่ในมือ ก็มีค่าเท่ากับมีทองคำอยู่ในมือครับ เวลาไปชอปปิ้ง ก็จะชำระค่าสินค้าให้พ่อค้าด้วยตั๋วทองคำ เมื่อไหร่ก็ตามที่พ่อค้าต้องการแลกทองคำ ก็นำตั๋วที่ได้รับจากคุณกลับไปแลกที่ร้านรับฝากทองคำซะ หรือไม่พ่อค้าก็สามารถเก็บตั๋วทองคำนี้เอาไว้ เพื่อไปซื้อสินค้าอื่นๆ ต่อได้

การซื้อขายบนโลกนี้เติบโตอย่างมาก GDP ของประชากรโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้ตั๋วทองคำอย่างแพร่หลาย จนเป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะเอาตั๋วไปแลกทองคำมาเก็บไว้ เพราะสุดท้ายคุณก็ต้องเอาตั๋วไปแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆ เพื่อใช้ดำรงชีพอยู่ดี

ในขณะที่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนแท้ๆ อย่างทองคำกลับนอนนิ่งอยู่ในตู้เซฟ ตั๋วทองคำกลับถูกใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ตั๋วจากประเทศหนึ่งเมื่อจะไปแลกเปลี่ยนอีกประเทศหนึ่ง มักจะมีปัญหา จึงเริ่มมีการสร้างระบบตั๋วทองคำที่เป็นมาตรฐานกันขึ้นมา ตั๋วในแต่ละประเทศก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น ตั๋วทองคำของสหรัฐอเมริกาถูกเรียกว่า “ดอลล่าร์” ตั๋วทองคำของอังกฤษถูกเรียกว่า “ปอนด์สเตอร์ลิง” ตั๋วทองคำของญี่ปุ่นถูกเรียกว่า “เยน” ตั๋วทองคำของไทยถูกเรียกว่า “บาท”

ตั๋วดอลล่าร์ 1 ใบสามารถแลกตั๋วเยนได้ 100 ใบ

ตั๋วปอนด์สเตอร์ลิง 1 ใบ สามารถแลกตั๋วบาทได้ 50 ใบ

และไม่ว่าตั๋วรูปแบบไหน ก็สามารถไปแลกทองคำกลับมาได้จากประเทศผู้ออกตั๋วทั้งนั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange)” ในปัจจุบันครับ

image03

ภาพที่ 4: ตั๋ว 20 ดอลล่าร์ในอดีต ที่ยังอยู่ในรูปแบบ “ตั๋วทองคำ” หรือเรียกกันว่า Gold Certificate อยู่ ซึ่งตั๋วทองคำนี้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นทองคำได้จริง ในยุคนั้นทองคำ 1 ออนซ์ ใช้เงินประมาณ 35 ดอลล่าร์ในการแลกคืน

อิสรภาพของดอลล่าร์ในปี 1971

ปัญหาของเงินในโลกนี้มันเริ่มจากระบบการออกตั๋วของแต่ละประเทศนี่แหละครับ จุดเริ่มต้นของปัญหามันคือช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาลงทุนกับการทำสงครามเยอะมาก จนตั๋วดอลล่าร์แทบจะหมดประเทศ รัฐบาลสหรัฐในยุคนั้นก็เลยขี้โกงด้วยการพิมพ์ตั๋วดอลล่าร์ออกมาเยอะเกินกว่าทองคำที่มีในโกดัง

สมมติว่าทอง 1 ก้อน พิมพ์ตั๋วได้ 1 ใบ

สหรัฐมีทอง 1 ล้านก้อน แต่แทนที่สหรัฐจะพิมพ์ตั๋ว 1 ล้านใบ กลับพิมพ์เยอะเกินไปเป็น 5 ล้านใบ แปลว่าสหรัฐมีตั๋วเกินกว่าทองในโกดังถึง 5 เท่า

ทีนี้หลายๆ ประเทศเริ่มสงสัย ว่าทำไมดอลล่าร์มันมีเยอะจังเลย เห็นสหรัฐใช้แล้วใช้อีกไม่หมดซักที พวกเค้าเริ่มไม่ไว้ใจสหรัฐ ก็เลยทยอยเอาตั๋วไปแลกทองคืนจากสหรัฐ การขอทองคำคืนนี้เริ่มต้นจากประเทศอย่างเยอรมันตะวันตก สวิสเซอแลนด์และฝรั่งเศส

เอาล่ะซิ เมื่อโดนขอแลกทองคืน สหรัฐทำยังไงครับ..? สหรัฐเองไม่มีทองพอจะคืนให้ประเทศต่างๆ ได้แน่ๆ อยู่แล้ว เล่นขี้โกงพิมพ์มาเยอะขนาดนี้

วิธีง่ายที่สุดที่สหรัฐทำก็คือ “ชักดาบแม่งเลย..!!”

บ่ายวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 1971 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิปดีสหรัฐในยุคนั้นประกาศยกเลิกการผูกตั๋วดอลล่าร์เข้ากับทองคำ หมายถึงว่า ตั๋วดอลล่าร์ของรัฐบาลเป็นอิสระจากทองคำ รัฐบาลจะพิมพ์ตั๋วเงินเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องอิงกับปริมาณทองคำที่มีอยู่ และผู้ครองครองตั๋วดอลล่าร์ก็ไม่สามารถนำตั๋วกลับไปแลกทองคำคืนได้อีกต่อไป..!! ดอลล่าร์เป็นอิสระแล้ว

ปรากฏการณ์ในครั้งมีชื่อเป็นทางการว่า การล้มเลิกระบบ Bretton Woods System มีชื่อเล่นว่า “ปรากฏการณ์ Nixon Shock

image04

ภาพที่ 5: ปี 1971 เป็นจุดเริ่มต้นที่ตั๋วดอลล่าห์เป็นอิสระจากทองคำ และเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนของระบบการเงินโลก

จุดนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นความปั่นป่วนของโลกการเงิน ปริมาณตั๋วของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการพิมพ์เงินแบบไม่บันยะบันยังของรัฐบาล บางประเทศเครดิตไม่ดี พิมพ์เงินเยอะแล้วก็ล้มละลายเลย (แบบซิมบับเว) เพราะรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนประเทศอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซน พวกนี้พิมพ์เงินเยอะ แต่ยังอยู่ได้ เพราะเครดิตรัฐบาลยังดีอยู่

ส่วนทองคำล่ะครับ..? ทองคำนอนกองอยู่ในตู้เซฟ หมดสิ้นบทบาทการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในยุคอดีตเงินเคยถูกใช้เป็นตัวแทนของทองคำ น่าเชื่อถือเพราะมีทองคำเป็นแบ็คอัพ

ในยุคปัจจุบันเงินไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทองคำอีกแล้ว แต่มนุษย์เรายังเชื่อถือเงินเพราะ “รัฐบาลค้ำประกัน” ถ้ามนุษย์เชื่อมั่นในรัฐ เงินก็จะยังคงมีค่าต่อไป

ปัญหาของเงินในปัจจุบันจึงขึ้นตรงกับความน่าเชื่อถือของรัฐของประเทศนั้นๆ ไม่ได้ผูกกับทองคำในคลังอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นรัฐจะทำยังไงกับเงินของประเทศก็ย่อมได้ ยกตัวอย่างวิกฤติเศรษฐกิจจาก subprime ของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจพิมพ์เงินจำนวนมากเพื่อมายื้อชีวิตเศรษฐกิจของประเทศด้วยชื่อเท่ห์ๆ ว่า QE (Quantitative Easing) ที่จริงแล้วก็แค่การปั้มดอลล่าร์ออกมายื้อไม่ให้แบงค์ล้ม

image05

ภาพที่ 6: ปริมาณเงินดอลล่าร์ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การยกเลิกมาตรฐานทองคำในปี 1971 และเพิ่มแบบบ้าคลั่งหลังวิกฤติ subprime และ FED ตัดสินใจพิมพ์เงิน (QE)

รัฐอยากพิมพ์เงินกี่ล้านล้านเหรียญก็พิมพ์ได้ ในขณะที่ประชาชนทำงานเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะหาเงินได้ซักร้อยเหรียญ สถานการณ์แบบนี้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มคลางแคลงใจ ไม่ไว้ใจรัฐบาล จึงเริ่มหาสกุลเงินทางเลือก

สกุลเงินที่จะมีค่าในตัวของมันเองโดยไม่ต้องพึ่งพาความน่าเชื่อถือจากรัฐบาลหรือทองคำอีกต่อไป

สกุลเงินที่จะมีค่าในตัวของมันเอง..!?!

เงินตราในยุค Post-QE

แล้วเงินประเภทไหนที่ไม่ต้องมีรัฐบาลมาคอยค้ำ ไม่ต้องมีทองคำมาแบ็คอัพ ก็น่าเชื่อถือได้ด้วยตัวมันเอง เงินประเภทไหนที่จะไม่มีวันเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย QE..?

เงินประเภทไหนที่จะมีคุณสมบัติ “หายาก” “ปลอมแปลงไม่ได้” และ “แบ่งเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ได้” แบบที่ทองคำมี..?

Bitcoin และสถาปัตยกรรม Blockchain เป็นคำตอบ (บางส่วน) ของคำถามนี้..!!

ความใฝ่ฝันที่อยากจะสร้างเงินตราทางเลือกที่เป็นของมหาชน ดูแลโดยมหาชน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวกลาง มีความโปร่งใส ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดได้ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกชื่อว่า Blockchain ถูกคิดค้นโดย (กลุ่ม) นักวิทยาศาสตร์ลึกลับที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ในปี 2008

  • ตั๋วเงินในอดีต มีทองคำในคลังค้ำประกัน
  • ตั๋วเงินในยุคปัจจุบัน มีรัฐบาล (ที่น่าเชื่อถือ??) ค้ำประกัน
  • แล้ว Bitcoin/Blockchain มีอะไรค้ำประกัน..??

แล้ว Blockchain คืออะไร..? ทำงานยังไง..? ทำไมมันถึงทำให้ Bitcoin น่าเชื่อถือโดยไม่มีใครและไม่มีอะไรค้ำประกัน..? เรามาดูกัน

ระบบธนาคารกลางแบบไม่รวมศูนย์

Satoshi Nakamoto ออกแบบสถาปัตยกรรมของ Bitcoin ด้วยเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Blockchain ผมขอไม่อธิบายรายละเอียดเชิงลึกของ Blockchain เพียงแต่จะเล่าให้ฟังว่า Blockchain มีรูปแบบการทำงานยังไง

เริ่มต้น Blockchain ของ Bitcoin ถูกโปรแกรมให้มีปริมาณ Bitcoin อยู่ในระบบ 21 ล้าน Bitcoin พอดิบพอดี และไม่ใช่ว่าใครๆ อยากจะได้ Bitcoin ก็ไปเอามาได้ง่ายๆ วิธีการได้มาซึ่ง Bitcoin มีอยู่สองวิธี

  1. หาเองด้วยการลงทุนเป็นผู้ขุด Bitcoin (หรือเรียกว่า Bitcoin Miner)
  2. ซื้อ Bitcoin ต่อจากผู้อื่นในราคาตลาด (ปัจจุบันคือ 1 BTC = 35,000 บาทโดยประมาณ)

เริ่มที่ผู้ขุด Bitcoin ก่อน ผมอยากให้คิดภาพกลุ่มผู้ขุด Bitcoin เป็นเหมือนกับเหมืองทองคำนะครับ ผู้ขุดจำเป็นจะต้องลงทุนอุปกรณ์ในการขุดหา Bitcoin จากระบบที่ซับซ้อน (เหมือนกับเหมืองทองที่ต้องลงทุนขุดเหมืองเพื่อหาทองคำ) ยกตัวอย่างตัวผมเองก็ทำการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พิเศษที่ใช้ในการขุดค้นหา Bitcoin โดยเฉพาะ และเมื่อมีเครื่องมือที่ว่านี้อยู่ ผมก็จะสามารถหา Bitcoin ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป (และระบบ Blockchain การันตีว่าคนจะแฮ็กระบบเพื่อโกงการขุด Bitcoin ไม่ได้)

แต่ด้วยปริมาณ Bitcoin ที่มีจำกัดคือแค่ 21 ล้าน Bitcoin เวลาผ่านไป Bitcoin จะเริ่มขุดหายากขึ้นเรื่อยๆ และถึงวันหนึ่งในอนาคตเมื่อ Bitcoin ถูกขุดครบ 21 ล้าน Bitcoin แล้ว กลุ่มผู้ขุด Bitcoin ก็จะหมดหน้าที่ใน ecosystem นี้ทันที

เนื่องด้วยการได้มาซึ่ง Bitcoin จำเป็นจะต้องลงทุนลงแรง และการจำกัดจำนวนของ Bitcoin ทำให้มันมีมูลค่าและหายาก (คล้ายทองคำ) และเหตุผลนี้เองที่ทำให้ Bitcoin นั้นไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาค้ำประกัน (บางคนยังงงๆ ว่าทำไม ลองถามคำถามตัวเองดูครับ ว่าทำไมคุณเชื่อใน “ทองคำ” ทั้งๆ ที่ทองคำก็ไม่มีอะไรค้ำประกัน สาเหตุหลักก็เพราะทองคำหายาก และมีจำนวนจำกัด เหมือนกันกับ Bitcoin เลย)

ลองคิดภาพนะครับ แทนที่ธนาคารกลางอย่าง FED จะพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ พอมาเป็น Bitcoin เราจะไม่มีธนาคารกลางแบบรวมศูนย์อย่าง FED อีกต่อไป Bitcoin จะเกิดมาแบบสุ่มอยู่ใน ecosystem และไม่มีวันที่จะถูกผลิตเพิ่มเติมให้เกิน 21 ล้าน Bitcoin ได้ เมื่อปริมาณ Bitcoin ไม่มีวันเพิ่มขึ้น อำนาจซื้อของ Bitcoin ก็จะไม่ลดลงเหมือนกับสกุลเงินอื่นๆ ที่รัฐพิมพ์ออกมาเองได้แบบมันส์มือ

ที่นี้สิ่งที่คนส่วนใหญ่สงสัยกันมากที่สุด คือ ระบบของ Bitcoin จะป้องกันการถูกแฮ็กได้อย่างไร..?

ผมยกตัวอย่างสมมติ สมมติว่าผมถือเงิน 700,000 บาท เพื่อไปหาเอเย่นและแลกซื้อ Bitcoin มาเป็นจำนวน 20 BTC

ลองคิดภาพนะครับ

  1. ผมโอนเงิน 700,000 ให้เอเย่นผ่านทางธนาคาร
  2. ผมเปิด Bitcoin Wallet เพื่อรอรับ BTC จากเอเย่น
  3. เดิมทีเอเย่นมี Bitcoin อยู่ 100 BTC
  4. เอเย่นโอน 20 BTC ให้กับ Bitcoin Wallet ของผม
  5. เอเย่นเหลือ Bitcoin อยู่ 80 BTC

เป็นอันจบกระบวนการซื้อขาย Bitcoin

ทีนี้ผมจะมั่นใจได้ยังไงว่า 20 BTC ของผมจะอยู่รอดปลอดภัยและไม่โดนแฮ็กจนเหลือศูนย์

ข้อมูลการโอนเงินของเอเย่นมาที่ผมเป็นจำนวนเงิน 20 BTC นั้นจะถูกเก็บสำเนาอยู่ใน “คอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง” นับล้านๆ เครื่องของผู้ใช้ Bitcoin นั่นหมายความว่า ถ้าใครต้องการมาแฮ็ก โดยขโมยเงิน 20 BTC ไปจากผมนั้น เค้าคนนั้นจะต้องไปแก้ข้อมูลนี้บนคอมพิวเตอร์นับล้านๆ เครื่องทั่วโลก (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติเลย) ระบบแบบนี้เรียกกันว่า Distributed Ledger หรือ Distributed Network (ภาพ C)

image06

ภาพที่ 7: (A) คือระบบรวมศูนย์ ถ้าข้อมูลถูกเก็บไว้ที่จุดเดียว ถ้าโดนแฮ็ก ทุกอย่างคือจบ (B) คือระบบแบบกระจายศูนย์ไปหลายจุด ถ้าโดนแฮ็กแต่ละจุดพร้อมๆ กัน ก็พัง ในขณะที่ (C) คือระบบแบบสำเนาข้อมูลทั้งหมดไปที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบ ถ้าจะแฮ็ก คุณต้องแฮ็กทุกเครื่องพร้อมกันจึงจะสำเร็จได้

พูดอีกแง่ก็คือ เครือข่าย Bitcoin นั้นมีพยานในการยืนยันการทำธุรกรรมนับล้านๆ เครื่องทั่วโลก ซึ่งโจรไม่มีทางที่จะไปหลอกพยานทั่วโลกได้พร้อมกัน นั่นแปลว่าตราบใดที่ยังมีพยานอยู่ เงินของคุณจะปลอดภัยเสมอ (เว้นแต่คุณพลาดไปโดนขโมยรหัสผ่านของ Wallet ซึ่งก็จะเหมือนกับการที่คุณโดนขโมยบัตร ATM พร้อมรหัสผ่าน ไม่ว่าเป็น Bitcoin หรือเงินบาท เงินคุณก็มีโอกาสสูญอยู่ดีถ้าคุณพลาดแบบนี้)

การเก็บสำเนาข้อมูลทั้งหมดของ Bitcoin กระจายไปทั่วโลกนี่แหละครับ เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยโดนแฮ็กเลยแม้แต่ครั้งเดียว

คำถาม: อ้าว แล้วที่เคยได้ข่าวว่า Bitcoin โดนแฮ็กที่ Mt.Gox หรือ Bitfinnex ล่ะ..?

คำตอบ: จริงๆ แล้วระบบ Blockchain นั้นไม่มีวันโดนแฮ็ก นั่นหมายถึง “ถ้านาย A โอนเงินให้นาย B ไป 1 BTC” ธุรกรรมจริงที่เกิดขึ้นนี้จะไม่มีวันถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เลยเพราะมีการทำสำเนาไปทั่วโลกและมีพยานนับล้านคนทั่วโลกคอยจับตามองอยู่ แต่ข่าวที่เกิดการแฮ็ก Mt.Gox และ Bitfinnex นั่นจริงๆ แล้วคือการขโมย รหัสผ่านของนาย A เพื่อไปทำการโอนเงินให้นาย B ต่างหากล่ะ ซึ่งปัญหาการถูกขโมยข้อมูลแบบนี้ไม่ว่าจะระบบการเงินแบบไหนในโลกก็ไม่สามารถป้องกันได้ครับ

สรุป

Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในลักษณะเดียวกับทองคำ นั่นคือ มีจำนวนจำกัด, หายาก, ปลอมแปลงไม่ได้, โกงไม่ได้ หรือพูดอีกแง่ Bitcoin มีคุณสมบัติไม่ต่างจากทองคำในอดีตที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนร่วมๆ 5,000 ปีของมนุษยชาติเลย

Bitcoin ไม่ต้องมีระบบศูนย์กลางแบบธนาคารกลาง ไม่ต้องมีรัฐบาลค้ำประกัน ตราบใดที่อินเทอร์เนตยังคงอยู่ Bitcoin จะไม่มีวันล่ม และไม่มีรัฐบาลไหนที่จะออกกฏหมายห้ามการใช้ Bitcoin ได้ เว้นเสียแต่รัฐบาลจะห้ามการเข้าถึงอินเทอร์เนตได้

ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังให้ความเชื่อถือใน Bitcoin คุณจะสามารถขาย Bitcoin กลับมาเป็นเงินบาทหรือดอลล่าร์ได้เสมอ ไม่ต่างจากคุณซื้อขายทองคำ และเมื่อคุณมี Bitcoin ในมือ คุณก็จะสามารถนำไปซื้อขายสินค้ากับร้านค้าบางแห่งที่ยินดีรับชำระเป็น Bitcoin แล้ว

Bitcoin ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ว่าทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิปดี หรือยุโรปจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หรือญี่ปุ่นจะล้มละลาย รัสเซียกับสหรัฐจะเริ่มสงครามโลก จีนจะ hard landing หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ได้มีปัจจัยเกี่ยวอะไรกับพื้นฐานของ Bitcoin เลย ตัวมันเองยังคงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ แตกต่างจากเงินดอลล่าร์ เยน หยวน หรือยูโร ที่นับวันจะผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมานี้

ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งคนหมดความมั่นใจในสกุลเงินดั้งเดิมมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งหนีไปถือสินทรัพย์ที่ช่วยคงอำนาจซื้อให้พวกเขามากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, อสังหาริมทรัพย์, ทองคำ รวมถึง Bitcoin ด้วย

ถ้าเป็นแบบนี้ เหตุผลใดที่คุณจะไม่เชื่อถือใน Bitcoin ถ้าคุณยังกล้าเชื่อถือในเงินดอลล่าร์ เยน หรือยูโร ที่ธนาคารกลางสามารถทำอะไรกับมันก็ได้ ตั้งแต่ลดดอกเบี้ยจนเข้าข่ายติดลบ พิมพ์เงินเพิ่ม รวมไปถึงการเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้า หรือแม้แต่ภาษีเงินฝากจากกระทรวงการคลัง

หากมนุษย์ตัดสินใจใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนสกุลเงินปกติ นั่นหมายถึงว่า Bitcoin ในมือของคุณจะเป็นอิสระจากรัฐบาล และธนาคารกลางทันที คุณไม่ต้องกลัวธนาคารกลางจะพิมพ์เงิน คุณไม่ต้องกลัวรัฐบาลจะขึ้นภาษี คุณไม่ต้องกลัวอัตราดอกเบี้ยจะติดลบแล้วเงินฝากในธนาคารคุณจะลดลง

ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นได้ทำการ legalize Bitcoin ให้สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางเลือกนอกเหนือจากเงินเยนแล้ว ไว้ผมจะมาเล่าเหตุผลและที่มาที่ไปของการ legalize Bitcoin ในประเทศญี่ปุ่นให้ฟังกันครับ

และนี่คือความเห็นส่วนตัวที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคา Bitcoin ทะลุ $1,000 ไปแล้ว ในระยะยาว Bitcoin จะยังคงมีความผันผวนรุนแรง และอาจจะร่วงลงมาหนักๆ ได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อถึงเวลานั้น คุณเองจะเป็นคนที่ตัดสินใจครับว่า จะเลือกที่จะเชื่อถือสกุลเงินทางเลือกใหม่นี้หรือคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ฟองสบู่เศรษฐกิจอีกฟองหนึ่งเท่านั้น

PS. บทความนี้ดูเหมือนผมจะเชียร์ Bitcoin แต่ความจริงยังมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องปัญหาอีกหลายๆ อย่างของ Bitcoin ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะมาเขียนเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไป ไม่งั้นจะทำให้บทความยาวจนเกินไปครับ

PS. ต้นทุนของ Bitcoin ของผมอยู่ในราคาที่ต่ำมาก ดังนั้นผมจะไม่เชียร์ให้คุณเข้าซื้อ Bitcoin ที่ราคาเกิน $1,000 นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะบอกว่า Bitcoin ตอนนี้แพงเกินไป ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่าตอนนี้แพงหรือถูก ราคา Bitcoin ขึ้นกับความเชื่อมั่นของคนล้วนๆ วันหนึ่ง Bitcoin อาจจะราคาทะลุ $10,000 หรือวันหนึ่งมันอาจจะกลับลงไปที่ $100 ดังนั้นถ้าคุณสนใจ ลองตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของคุณเอง แต่สำหรับผม Bitcoin มีบทบาทใน portfolio เหมือนกับทองคำ คือเป็นการลงทุนทางเลือก ที่มีสัดส่วนไม่ควรเกิน 10-15% ของ portfolio และหากจะตัดสินใจลงทุนใน Bitcoin รออ่านอีกบทความหนึ่งของผมที่จะพูดถึง Bitcoin ในแง่ลบ เพื่อให้เห็นเหรียญทั้งสองด้านดูบ้างก็จะดีนะครับ