คำถามสำคัญที่นักลงทุนควรถามตัวเอง ของเรย์ ดาลิโอ

เรย์ ดาลิโอผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates กองทุนเฮดฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนมากที่สุดในโลก ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในเชิงปฏิบัติ โดยใช้หลักการของเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเฉพาะพฤติกรรมของเงิน (money) และเครดิต (credit) ที่มีกลไกเฉพาะตัว และทำงานสัมพันธ์กันอยู่เสมอ

หากใครได้ฟังบทสัมภาษณ์ในช่วงปลายปี 2018 จะก็เห็นได้ว่าเรย์เน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยสกุลเงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลง เนื่องจากรัฐบาลได้พิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ เงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่นักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุน หรือเทรดเดอร์จะทำได้ คือ การกลับไปทบทวนหลักการ และเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเรย์ ดาลิโอ้ เคยเขียนหลักการคิดในบทความหนึ่ง ที่น่าสนใจในชื่อเรื่อง 3 Questions That Every Fund Should Ask Themselves เป็นการถาม 3 คำถามสำคัญที่ผู้จัดการกองทุน นักลงทุน หรือแม้แต่เทรดเดอร์ควรที่จะถามและตอบตัวเองให้ได้

คำถามแรก: ผลตอบแทนที่ต้องการเท่ากับเท่าไหร่ ?

คำถามที่สอง: ผลตอบแทนที่สามารถบรรลุได้จริงมีค่าเท่าไหร่ ?

คำถามที่สาม: ทนรอให้กำไรวิ่งไปได้มากที่สุดเท่าไหร่ ?

จะเห็นได้ว่า คำถามแรกนำไปสู่การตั้งเป้าหมาย (Goals) ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ มาพิจารณษตามความเป็นจริง โดยการศึกษาวิเคราะห์ วิจัยจากข้อมูลที่มี และสุดท้าย แม้ว่าจะวางแผนมาเป็นอย่างดี หลายคนมักจะขายในตอนที่มีกำไรน้อย ๆ โดยไม่เคยตั้งเป้าเลยว่า จะทนให้กำไรวิ่งไปมากที่สุดที่สุดไหนดี ไม่มีใครที่ขายหุ้นหรือตราสารทางการเงิน ในขณะที่มันทำราคาสูงสุดได้ตลอด แต่เราสามารถกลับมาถามถึงความสามารถในการอดทนรอคอยเปอร์เซ็นต์ของกำไรสูงสุดที่เราทนได้ จากการบันทึกการลงทุนของเรา

เมื่อเริ่มตั้งค่า 3 คำถามเกี่ยวกับผลตอบแทนแล้ว อีกด้านคือเรื่องที่หลายคน ไม่เคยกลับมาคำนวณ โดยเฉพาะนักลงทุนรายบุคคล ณ จุดนี้ เรย์ก็ได้ตั้งคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่า คุณจะทำอย่างไร หากคุณต้องการผลตอบแทนที่ 10% ในขณะเดียวกันก็ต้องการจำกัดความเสี่ยงไว้ที่ 10-12% ?

ใน White Paper เรื่อง Engineering Targeted Returns & Risks ของเรย์ ดาลิโอ เมื่อปี 2004 เรย์ได้ประยุกต์แนวคิด Modern Portfolio Theory (MPT) ที่คิดโดยนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Harry Markowitz ทฤษฎีนี้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1952 และยังคงเป็น Model ที่ประยุกต์ใช้ได้จนถึงปัจจุบัน โดยเรย์ได้พัฒนา Model ผ่านกระบวนการวิศวกรรมการเงินและใช้ชื่อใหม่ว่า Post-Modern Portfolio Theory (PMPT) ที่มีความแตกต่างจากทฤษฎีต้นตำหรับ

หากจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น เรย์จึงตั้งประเด็นคำถามใหม่ว่า สมมติว่ายังอยากได้อัตราผลตอบแทนที่ 10% เหมือนเดิม แต่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงต่ำที่สุดล่ะ จะต้องวางแผนหรือทำอย่างไร?

นั่นจึงทำให้เกิด สมการ Return = Cash + Beta + Alpha โดย

  1. ส่วนของ Cash หรือ The Risk-Free Return คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือเงินสด
  2. ส่วนของ Beta หรือ Returns from Betas คือ ผลตอบแทนที่เรย์ให้คำนิยามว่า มันคือ the overall market performance หรือผลตอบแทนที่มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด
  3. ส่วนของ Alpha หรือ Returns from Alphas คือ มูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากกระบวนการจัดการพอร์ต ซึ่งขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหารจัดการกองทุน

เมื่อกำหนด 3 Blocks ขั้นต่อไปคือการกระจายสินทรัพย์การลงทุนที่ตอบโจทย์ 3 คำถามข้างต้น เมื่อเราออกแบบสินทรัพย์ว่าเราจะกระจายกี่ตัว ตัวไหนบ้าง เสร็จแล้วเราก็ต้องมาจัดสรรสัดส่วน ว่าการกระจายการลงทุนของนี้ เป็นการกระจายที่เหมาะสมแล้วหรือไม่

ภาพ Holy Grail of Investing

ที่มา: Principle by Ray Dalio – Book Summary

หลักการกระจายสินทรัพย์การลงทุนที่ดี คือการกระจายการลงทุนไปในตัวที่มีค่าสหสัมพันธ์ของผลตอบแทนแบบ uncorrelated หรือไม่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งมันจะช่วยลดความเสี่ยงลง โดยไม่ไปอัตราลดผลตอบแทนที่คาดหวัง

เมื่อทำการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการประยุกต์ใช้ Sharpe ratio ซึ่งเป็นค่าที่วัดอัตราผลตอบแทนรวมเมื่อเทียบกับความเสี่ยง มีค่าได้ตั้งแต่ 0 ถึง 1 จากการศึกษาของเรย์พบว่า ค่า Sharpe ratio ที่เหมาะสม (the portfolio Sharpe ratio) มีค่าอยู่ที่ 0.65

สุดท้ายนี้ก็ขอฝากให้นักลงทุนลองทบทวน และนำหลักการไปประยุกต์ใช้ เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวน ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตกันด้วยนะคะ

สำหรับบทความหน้า เราจะมาดูรายละเอียดกันต่อว่า วิธีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของ Ray Dalio ที่บอกว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากทฤษฎีต้นตำรับของ Markowitz นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ในประเด็นไหนบ้าง

โดย Economic Today

Wealth Health Check