สรุป GDP Q3’2561 แบบง่าย ๆ

GDP (Gross Domestic Product) เป็นตัวเลขที่เอาไว้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้กัน เป็นการบอกว่าในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการเท่าไหร่ โดยจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็ได้ ขอให้ผลผลิตเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็นับรวมหมด

ประมาณการ ณ วันที่ 19 พ.ย. 2561 GDP มีมูลค่า 16.3 ล้านล้านบาท 

คิดเป็นรายได้ต่อหัวก็ตกอยู่ที่ 241,027 บาท ต่อปี หรือ ตกเดือนละประมาณ 20,085 บาท

แต่อย่างที่เราทราบกันว่ามีผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน ที่มีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี (เดือนละ 8,300 บาท)

นั่นแปลว่า เราก็ยังมีปัญหาการกระจายรายได้แบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” อยู่ดี

ปี 2558 GDP 3%
ปี 2559 GDP 3.3%
ปี 2560 GDP 3.9%
Q1’2561 GDP 4.9%
Q2’2561 GDP 4.6%
Q3’2561 GDP 3.3%

เรากลับไปเห็นเลข 3 กันอีกครั้ง ซึ่งเท่ากับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส

ถ้าจะให้สรุปถึงสาเหตุแบบสั้น ๆ คือ ส่งออกเป็นตัวฉุดจากเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มชะลอ ผลกระทบจากสงครามการค้า คนจีนมาเที่ยวลดลง ขณะที่ตัว C โตขึ้นต่อเนื่องจากรถยนต์ ตัว I โตจากก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีใน EEC มากขึ้น ทีนี้เรามาดูรายละเอียดทีละตัวกันจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ

Consumption (49% ของ GDP) เติบโต 5%

• ดีต่อเนื่องขยายตัวสูดสุดรอบ 22 ไตรมาส ถ้าดูจากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 3.2% >> 3.7% >> 4.5% >> 5%

• สินค้าคงทน +16.7% (คือของที่ใช้แล้วทน ไม่พังง่าย) โดยยอดขายรถยนต์นั่ง +27% ยังโตต่อเนื่องหลังจากหมดรถคันแรกมา 5 ปี คนก็เริ่มเปลี่ยนรถกันใหม่ (เป็นหนี้ใหม่นั่นเอง) >> ดัชนีตัวนี้บอกได้ว่าคนฐานะปานกลางถึงรวยมีการใช้จ่ายกันเยอะ

• สินค้าไม่คงทนทรงตัว (สินค้าอุปโภคบริโภค ของกินของใช้) แปลว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ใช้จ่าย แต่ข่าวดีคือ กินเหล้า สูบบุหรี่กันลดลง ไปเพิ่มกันที่แป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เยอะขึ้น

• สาเหตุที่ของกินของใช้ไม่เพิ่มเพราะว่ารายได้เกษตรกรไม่ได้เพิ่มเยอะ +1.1% ค่าจ้างแรงงาน +1.8% และหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ที่ 77.5% ของ GDP ถึงแม้ว่าจะมีคนรายได้น้อยได้เงินธงฟ้ามาช่วยแล้วก็ตาม

• ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.6% สูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส

สรุป ตัว C เติบโตจริงจากคนเปลี่ยนรถยนต์กัน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้มีเงินเพิ่มในกระเป๋าเท่าไหร่ หาได้มาก็ใช้หนี้ก่อน แล้วค่อยมาซื้อของกินของใช้ คือ ถ้าไม่รีบหาทางเพิ่มรายได้กับคนส่วนมาก (แบบยั่งยืนนะ ไม่ใช่แค่แจกเงิน) แล้วยอดขายรถยนต์เริ่มแผ่วเมื่อไหร่ เครื่องจักรตัวนี้ก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตได้

Private Investment (23% ของ GDP) เติบโต 3.9%

• โตต่อเนื่องขยายตัวสูดสุดรอบ 15 ไตรมาส ถ้าดูจากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 1.7% >> 3.1% >> 3.2% >> 3.9%

• อัตราการใช้กำลังการผลิตก็ดูดีอยู่ จากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 67% >> 72% >> 66% >> 66.5%

• พระเอก คือ การก่อสร้าง +5.4% โดยเฉพาะพวกคอนโดสูงเกิน 16 ชั้น โรงงานอุตสาหกรรม (เห็นการขออนุญาตในแถบ EEC มากขึ้น) แต่ว่าตึกแถวอาคารพาณิชย์ลดลง

• เครื่องมือเครื่องจักร +3.4% ก็โตดีอยู่ตามกำลังการผลิตที่ดูมีแนวโน้มดีขึ้น และโตที่หมวดยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง ตามการบริโภคเลย

• ดัชนึความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 51.6% โตขึ้น

สรุป ตัว I ดี สอดคล้องกับการบริโภค และเริ่มเห็นการก่อสร้างเติบโตเรื่อยๆ EEC เริ่มมา ถ้านโยบายขยายการลงทุนของภาครัฐเพิ่มเติม ก็น่าจะเป็นตัวเร่งให้เครื่องจักรตัวนี้ทำงานได้ดีขึ้น

Government (16% ของ GDP)

• การใช้จ่ายภาครัฐเรียกว่าค่อย ๆ เพิ่มทีละนิดดีกว่า ถ้าดูจากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 0.5% >> 1.9% >> 2.0 >> 2.1% มาจากที่ช่วงหลัง ๆ เริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ดีขึ้น แรก ๆ กลัวทำผิด พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างกัน

• การลงทุนภาครัฐ ถ้าดูจากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ -1.2% >> 4% >> 4.9 >> 4.2% เติบโตจากการลงทุนภาครัฐวิสาหกิจต่อเนื่อง

สรุป ตัว G ค่อย ๆ มา ถ้าเร่งให้มีการเบิกจ่ายเร็วขึ้น และมีการลงทุนมากขึ้นก็น่าจะส่งผลดีกับการลงทุนภาคเอกชนตามมา

Export (67% ของ GDP) +2.6%

• ถ้าดูในรูปแบบ USD จากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 9.8% >> 9.9% >> 12.3% >> 2.6%

• แต่ถ้ามาดูในรูปของเงินบาท -0.1% สาเหตุหลักมาจาก 3 เรื่อง คือ คู่ค่าต่างประเทศเศรษฐกิจชะลอ Trade War และคนจีนมาเที่ยวไทยลดลง

• ประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ทั้งจีน ยุโรป อาเซียน (ประเทศที่โตดีคือ อเมริกา และเวียดนาม)

• สินค้าส่งออกที่ขยายตัว คือ รถกระบะ รถบรรทุก ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มันสำปะหลัง ข้าว (แต่ระวังว่า ข้าว ได้จากประมูลที่ฟิลิปปินส์เพิ่มมา)

• สินค้าส่งออกที่หดตัว คือ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า กุ้ง แผงวงจร ยางพารา (สต็อคยางที่จีนสูง ส่วนแผงวงจรคือผลกระทบจาก Trade War)

นักท่องเที่ยวต่างประเทศ +1.9%

• จำนวนนักท่องเที่ยวจากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 9.4% >> 15.5% >> 8.4% >> 1.9%

• รายรับนักท่องเที่ยวจากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 12.1% >> 18.9% >> 13.7% >> 0.5%

• อัตราการเข้าพัก 65.4% ลดลงจาก Q2 ที่ 71.4% แต่มากกว่า Q3’60 ที่ 63.7%

• นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากเรือล่ม และเงินหยวนอ่อนค่า (-8.8%) นักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงจากบอลโลก (-7.2%) แต่ได้อาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียเพิ่มขึ้น (+26.3%) แต่ในแง่รายได้คนจีนใช้จ่าย 55,000 บาทต่อทริป ขณะที่นักท่องเที่ยวอาเซียนใช้อยู่ 31,000 บาทต่อทริป เลยชดเชยกันไม่พอ

Import (56% ของ GDP) เติบโต 17%

• ในรูปแบบ USD จากปี 60 มาถึง Q1,Q2,Q3 คือ 14.4% >> 16.3% >> 16.8% >> 17%

• นำเข้าทองคำสูงสุดในรอบ 5 ปี และนำเข้าเชื้อเพลิง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

สรุปตัว X-M ชะลอตัวอย่างมากทั้งในแง่ของตัวสินค้าส่งออกเองจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า Trade War และการท่องเที่ยวที่มากระทบหนักในช่วง Q3 ต้องติดตามว่า Q4 จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ไหม

สรุปภาพรวม GDP

ที่ผ่านมาเราพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก รอบนี้มาสะดุดลง แล้วยังไปโดนเรื่องการท่องเที่ยวมาซ้ำเติมอีก แต่ยังดีที่ได้การบริโภคเอกชน กับการลงทุนโตมาพอดี แต่ก็ยังไม่เร็วพอ

ที่สำคัญยังไปกระจุกตัวกับสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ มากกว่าที่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานเป็นวงกว้าง รายได้ของคนในประเทศก็จะไม่เพิ่มอย่างทั่วถึง สุดท้ายอาจจะต้องมาพึ่งการใช้จ่ายภาครัฐบาลให้มากกว่านี้และกระจายเป็นวงกว้างเพื่อให้ GDP กลับมาโตแบบสมดุลและยั่งยืน

Implication กับการลงทุน

1) เรายังคงเห็นคำว่า “ยานยนต์” เยอะ แต่ไม่ใช่ว่าหุ้นทุกตัวที่เกี่ยวกับรถยนต์จะดีไปหมดทุกตัว เพราะว่าที่ดีคือ รถยนต์ที่ขายในประเทศเป็นหลัก ถ้าสนใจคงต้องไปทำการบ้านหุ้นที่เกี่ยวกับการขายชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศเป็นหลัก หรืออาจจะมองไปถึงสินเชื่อซื้อขายรถ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือใครจะมองข้ามช็อตไปประมูลรถก็ว่ากันไป (เผื่อว่าผ่อนไม่ไหว โดนยึด หรือขายต่อ)

2) ก่อสร้าง กลุ่มนี้ดูน่าสนใจ เพราะมีการลงทุนต่อเนื่อง และน่าจะยังมีต่อจากโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะถ้าเป็นแถบ ๆ EEC ที่ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็ลองหาดูว่าตัวไหนที่ได้ประโยชน์ทั้งวัสดุก่อสร้าง นิคม อสังหา ฯลฯ

3) ส่งออก ท่องเที่ยว อันนี้ให้ระวังครับ อย่างน้อยระยะสั้นก็ดูสถานการณ์ไม่ค่อยดี เพราะ Trade War ก็ยังดูไม่ชัดเจน นักท่องเที่ยวถึงแม้ถ้ายุโรปจะกลับมา แต่ว่าถ้าคนจีนยังไม่มาเยอะเหมือนเดิม ก็น่าเป็นห่วง หุ้นกลุ่มไหนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้พิจารณากันครับ

4) ในระยะต่อไป ผมมองว่า C, I, G จะต้องกลายมาเป็นพระเอก แทนการหดตัวลงของ X ลองดูครับว่าจะมีตัวไหนที่เราจะลงทุนได้ในต้นเทรนด์

ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมแนะนำดูได้ที่สภาพัฒน์ กับบทวิเคราะห์ของ SCB EIC ครับ
http://www.nesdb.go.th/main.php?filename=QGDP_report
https://www.scbeic.com/th/detail/product/5142

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/stock.vitamins/