ค่าใช้จ่ายพุ่ง เศรษฐกิจไม่เสถียร: เปลี่ยนคนจีนจากฟุ่มเฟือยเป็นอดออม

ถ้าจะมีประชากรประเทศไหนที่ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์กันในช่วงนี้ เห็นทีจะเป็นประชากรจีน

ไม่ว่าจะเป็นการหยุดซื้อสินค้าแบรนด์เนม การเลิกไปทานอาหารในภัตตาคาร การไปดูหนังแค่ในช่วงเวลาที่ตั๋วถูก การเปลี่ยนจากนั่งแท็กซี่มาเป็นนั่งรถสาธารณะ

เกิดอะไรขึ้นกับไลฟ์สไตล์หรูหราฟู่ฟ่าของคนเมืองในประเทศจีนกันแน่?

อย่างที่เราพอจะทราบกัน ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจจีนเติบโตสูงมากมาก แต่ในไตรมาสล่าสุด (กันยายน 2018) จีดีพีจีนเติบโตเพียง 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน หลายคนอาจรู้สึกว่าเฮ้ยตัวเลขนี้ก็สูงนะ อืม…อาจจะดูสูงสำหรับเรา แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศจีนซึ่งเคยมีอัตราการเติบโตถึงระดับเลข 2 หลักมาแล้ว และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในอดีตอยู่ที่ 9.58% แน่ๆ

กลับมาที่การบริโภคของชาวจีน สิ่งนี้หากดูจากสัดส่วนจีดีพีอาจจะมองไม่เห็น เพราะเมื่อเจาะลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นว่าสัดส่วนการบริโภคใน 3 ไตรมาสล่าสุดที่ผ่านมานี้เพิ่มจาก 64.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 78% ในปีนี้

อ้าว ก็เพิ่มขึ้นนี่หว่า… แต่แท้จริงแล้วที่สัดส่วนการบริโภคมันเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่อัตราการเติบโตของการลงทุนภาครัฐ (I) และการส่งออก (E) ลดลงเร็วกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของการบริโภคต่างหาก เลยทำให้ดูเหมือนสัดส่วนการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ค่อยได้ไปไหนแหละ แต่ชาวบ้านเขาเติบโตน้อยกว่า พอเทียบกันแล้วเลยทำให้ดูเหมือนตัวเองยังยืนหนึ่ง

แล้วทำไมชาวจีนถึงใช้จ่ายน้อยลง?

แม้ตัวเลขข้างบนจะพอหลอกตาได้ แต่ความจริงก็คือ ปัจจุบันชาวจีนเริ่มใช้จ่ายน้อยลง เพราะเงินเก็บของพวกเขาลดลง ผู้บริโภคจีนส่วนใหญ่โทษค่าครองชีพที่สูงขึ้นว่าเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาบริโภคน้อยลง บางคนบอกว่าค่าครองชีพปีนี้ของเขาสูงขึ้น 10% เลยทีเดียว

โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งค่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลให้เงินเก็บของชาวจีนน้อยลง ในขณะที่ราคาข้าวของก็แพงขึ้นเช่นกัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของจีนใน 9 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน แถมเมื่อเดือนกันยายนระดับราคายังเพิ่มขึ้นถึง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน เป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงตรุษจีนเมื่อต้นปีนี้

ถ้าอยากรู้ว่าค่าครองชีพจีนพุ่งเร็วแค่ไหน ลองมาเทียบกับของไทยดู ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยเฉลี่ย 9 เดือนแรกปีนี้ของไทยนั้นสูงขึ้น 1.14% ส่วนเดือนกันยายนล่าสุดเมื่อเทียบกับกันยายนปีก่อนนั้นสูงขึ้น 1.33% หากดูแบบรวมๆ แล้วแสดงว่าราคาข้าวของที่จีนนั้นแพงขึ้นเร็วกว่าไทยเกือบเท่าหนึ่งเลยทีเดียว

หันไปทางดัชนี PMI ภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ซึ่งสะท้อนภาพการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก ในเดือนพฤศจิกายนตัวเลขลดลงสู่ระดับ 50 จาก 50.2 ในเดือนตุลาคมและ 50.8 ในเดือนกันยายน (เลข 50 คือจุดชี้เป็นชี้ตายว่าเศรษฐกิจจะโตหรือจะหด ถ้าต่ำกว่า 50 ก็คือหด) นี่น่าจะเป็นผลกระทบมาจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยละ ทางด้านการจ้างงาน บางบริษัทใหญ่ๆ ในจีนต้องเคลื่อนย้ายการผลิตไปต่างประเทศเพื่อหลบหนีภาษีจากสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่ไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม เป็นต้น พอเป็นแบบนี้การจ้างงานในจีนก็เลยลดลง

ลาก่อนของฟุ่มเฟือย

เพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ชาวจีนหลายๆ คนหันไปพึ่งพาตลาดหุ้น หวังจะได้กำไรจากการขายส่วนต่าง แต่ความจริงก็คือปีนี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นจีนแย่มาก เพราะตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคมนี้ ดัชนีอย่าง CSI300 ปรับตัวลงไปกว่า 20% แล้ว จะเอากำไรจากไหนมาขายออก? บริการทางการเงินอื่นๆ อย่างสินเชื่อออนไลน์ (Peer-to-Peer Lending) ก็มีบางเจ้าที่ล้มละลายและเชิดเงินผู้ใช้บริการไป ทำให้ปัญหาการเงินยิ่งหนักหน่วงไปใหญ่ ชาวจีนบางคนพึ่งพาแหล่งรายได้เสริมเหล่านี้เพื่อใช้จ่ายในของสุรุ่ยสุร่าย แต่เห็นทีตอนนี้จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แล้ว

พอหันไปดูดัชนี Discretionary Spending ซึ่งวัดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ก็จะเห็นว่าตัวเลขลดต่ำลงสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่สิงหาคม 2016… จากการสำรวจ ไม่มีทีท่าว่าผู้บริโภคจะเพิ่มการใช้จ่ายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้านี้ ดึงให้อัตราเติบโตของการบริโภคลดลงที่สุดในรอบ 17 เดือน ถ้าใครไปเมืองใหญ่ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ในตอนนี้ ก็จะพบว่าห้างฯ โซนที่เป็นร้านอาหารและของหรูหรานั้นมีคนเดินน้อยมาก โดยคนส่วนใหญ่ไปออกันอยู่ในร้านสะดวกซื้อซะมากกว่า

ธุรกิจที่สามารถทรงตัวอยู่ได้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงนี้ก็มีธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือนตุลาคมปีนี้เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนจากปีทีแล้วแต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่ได้ใช้จ่ายมากเท่าเมื่อก่อน บางคนก็เปลี่ยนจุดหมายท่องเที่ยวจากที่แพงๆ เป็นที่ถูกๆ

เอาเข้าจริง ชาวจีนบางคนแม้รายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่พวกเขาก็ยังประหยัดเพราะรู้สึกไม่สบายใจกับเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี เรียกง่ายๆ ว่าเก็บเงินไว้เผื่อยามฉุกเฉินในอนาคตนั่นแหละ

เห็นแบบนี้ ทางการจีนก็ไม่อยู่เฉย พยายามผลักดันให้มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มเติมหลังจากประกาศลดอัตราภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ซึ่งมาตรการนี้ได้ขยายฐานเงินได้ที่ต้องเสียภาษี จากเงินได้ 3,500 หยวน (~16,660 บาท) ต่อเดือนเป็นเงินได้ 5,000 หยวน (~23,800 บาท) ต่อเดือนแทน โดยคาดว่าจะสามารถลดเงินค่าภาษีปีนี้ที่เก็บจากประชาชนไปได้ประมาณ 320 พันล้านหยวน (~1.5 ล้านล้านบาท) นอกจากการขยายฐานภาษี ยังได้ประกาศให้มีค่าลดหย่อนสำหรับคนที่กู้บ้านและคนที่ต้องส่งเสียการศึกษาลูกเป็นครั้งแรกอีกด้วย

แต่จะให้ซื้อบ้านและมีลูกเพื่อลดหย่อนภาษีมันก็ยังไงๆ อยู่สำหรับชาวจีนบางกลุ่ม เพราะแค่นี้พวกเขาก็รู้สึกว่าค่าใช้จ่ายมันเยอะพอแล้ว ก็ต้องรอลุ้นกันว่ามาตรการอัดกระตุ้นเหล่านี้จะช่วยกอบกู้ยอดบริโภคหรือไม่

แต่เดี๋ยวก่อน สถานการณ์มันต่างออกไปในชนบทจีน!

ที่ผ่านมานี่เราพูดถึงกันแต่คนจีนในเมืองใหญ่ๆ แต่ถ้าหันไปทางจีนชนบท จะมีเทรนด์ที่แตกต่างกันออกไป ชาวจีนชนบทเริ่มใช้จ่ายกันมากขึ้น โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมานี้ยอดค่าใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 12% เทียบกับในเมืองใหญ่ๆ คือแค่ 6.5% เรียกได้ว่าในชนบทนี่คนเค้าเปย์มากขึ้นเป็น 2 เท่าของคนในเมือง กลายเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของการบริโภคในจีนแล้ว

ถามว่าทำไมเป็นงั้น? เหตุผลนึงน่าจะมาจากการเริ่มประยุกต์ใช้ E-Commerce ในชนบทจากที่ไม่เคยมี พอธุรกิจในชนบทเริ่มค้าขายออนไลน์เป็น ทีนี้ความเปลี่ยนแปลงเลยมาแบบก้าวกระโดด รายได้ที่เติบโตขึ้นก็ทำให้พวกเขาสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น นอกจากนี้ระบบขนส่งที่ขยับขยายไปในชนบทมากขึ้นก็มีส่วนทำให้การค้าขายมีความรุ่งเรืองมากขึ้น โดยยอดค้าปลีกในชนบทสำหรับ 9 เดือนแรกนี้เพิ่มขึ้น 10.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แนวโน้มนี้ถึงกับดึงดูดให้บริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง JD.com ประกาศเพิ่มสาขาหน้าร้านเพิ่มอีกประมาณ 5 แสนสาขาในชนบท ภายในปี 2021

รายได้ที่มากขึ้นนี้แน่นอนว่าชาวจีนชนบทไม่อยู่เฉย เริ่มใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบายกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถ โทรศัพท์มือถือ ของแบรนด์เนม หรือการไปเที่ยวต่างประเทศ

ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าท่ามกลางความซึมเซาในเมืองใหญ่ๆ ของจีน เราอาจจะได้เห็นความหวังใหม่ในชนบท ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นยอดการบริโภคในประเทศจีนก็เป็นได้

Sources:
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Cover-Story/China-s-middle-class-tightens-its-belt

https://www.finnomena.com/finnomena-ic/finnomena-port-strategy-nov-18/
https://www.aljazeera.com/news/2018/10/china-economic-growth-hits-year-181019071158221.html
https://tradingeconomics.com/china/gdp-growth-annual
https://www.ft.com/content/b9efc238-d389-11e8-a9f2-7574db66bcd5
http://www.indexpr.moc.go.th/price_present/cpi/data/index_47.asp?list_month=09&list_year=2561&list_region=country
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Cover-Story/China-s-villagers-get-a-taste-for-Gucci
https://www.bloombergquint.com/global-economics/china-manufacturing-pmi-worsens-in-october-as-trade-war-bites
https://www.cnbc.com/2018/11/30/china-pmi-november-official-purchasing-managers-index.html

ที่มาบทความ: https://thezepiaworld.com/2018/11/30/chinese-consumption/