เลือกมากเกินไปก็ไม่ดี: เมื่ออาการ “กลัวเจอโอกาสที่ดีกว่า” (FOBO) ถ่วงการตัดสินใจลงทุน

เคยไหม? มีเวลาว่างอยากดูหนัง แต่ไม่รู้จะดูเรื่องไหนดี

บางทีอยากซื้อของสักชิ้น แต่ก็ไม่กล้าซื้อตอนนี้เพราะกลัวจะเจอของอื่น ๆ ที่ดีกว่า

ในเรื่องของการลงทุน หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำแนะนำที่ว่าเราควรทำการบ้าน หาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ยิ่งศึกษาก่อนลงทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งลดความเสี่ยงลงเท่านั้น

แต่เคยไหม? ที่ว่ายิ่งหาข้อมูล ก็ยิ่งไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าทำอะไรสักอย่าง

เคยไหม? ที่ถึงแม้หาข้อมูลมาก็เยอะ แต่ก็ยังคิดว่า “มันต้องมีตัวเลือกที่ดีกว่านี้น่า”

แล้วเคยไหม? ที่สุดท้ายแล้วก็ได้แต่เสียดาย ว่า รู้งี้ ถ้าตัดสินใจเร็วหน่อย ก็คงจะดีนะ

ถ้าใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ แสดงว่ากำลังเจออาการ FOBO หรือเรียกแบบเต็ม ๆ ว่า Fear of Better Opportunities แปลเป็นไทยก็คืออาการ “กลัวเจอโอกาสที่ดีกว่า” นั่นเอง วันนี้เราขอนำปรากฏการณ์ทางจิตใจนี้มาตีแผ่กัน

FOBO คืออะไร แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เห็นชื่อ FOBO แล้วหลายคนอาจจะนึกถึงอาการกลัวยอดนิยมอย่าง FOMO (Fear of Missing Out) หรือก็คืออาการกลัวตามไม่ทันชาวบ้าน กลัวว่าจะตกรถ

ถ้า FOMO ทำให้เราผลีผลามรีบตัดสินใจเร็วเกินไป FOBO ก็จะส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะมันจะถ่วงเวลาการตัดสินใจของเราให้ช้าลงไปอีก หนักสุดคือทำให้เราไม่ตัดสินใจทำอะไรเลย

ในชีวิตประจำวัน หลายคนน่าจะเจออาการนี้โดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาที่เราว่างแล้วอยากจะทำอะไรสักอย่าง มีตัวเลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นการดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ฯลฯ บางคนอาจจะใช้เวลาตัดสินใจนานมากกว่าจะเลือกกิจกรรมได้ และถึงแม้ว่าเราจะสามารถเลือกการ “ดูภาพยนตร์” ได้แล้ว เราก็ยังต้องมาเลือกอีกทีว่าจะดูเรื่องไหน ดูจากไหน เรื่องไหนจะสนุกสุด? ดูที่ไหนจะคุ้มสุด? ยิ่งเดี๋ยวนี้มีบริการดูภาพยนตร์ให้เลือกมากมาย จะดูอยู่บ้านหรือจะไปโรงหนังก็ได้ ยิ่งทำให้เราตัดสินใจช้าลงไปอีก จนสุดท้ายเราอาจจะล้มเลิกการดูภาพยนตร์ไปเลยเพราะ “ไม่รู้จะดูอะไรดี ตัวเลือกเยอะเกิน กลัวว่าถ้าเลือกดูเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้วไม่สนุก จะไม่คุ้ม”

ในแง่ของการลงทุน นักลงทุน (โดยเฉพาะหน้าใหม่) อาจเผชิญสถานการณ์ที่ว่า “ไม่รู้จะลงตัวไหนดี/กองไหนดี/ซื้อหรือขายช่วงไหนดี” ทำให้ต้องหาข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ และถึงแม้ว่าจะเจอตัวเลือกที่ดูน่าสนใจแล้ว แต่บางทีจิตใต้สำนึกก็ร้องเตือนขึ้นมาว่า “อย่าเพิ่ง! ลองหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมก่อน เผื่อเจอตัวเลือกที่ดีกว่านี้”

บางคนเจอสัญญาณนี้ร้องเตือนอยู่เรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ปล่อยเงินทิ้งไว้ตามเดิมนั่นแหละ หรือบางทีก็ตัดสินใจช้า จน Timing สายเกินไปก็มี

FOBO เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการความพอใจที่สูงที่สุด (Maximization) ซึ่งเหตุผลนี้ก็ตรงกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จุลภาค ที่ว่าด้วยการเพิ่มอรรถประโยชน์ให้สูงที่สุด (Utility Maximization) แต่ในความเป็นจริงเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะ “แฮปปี้” ที่สุดเมื่อไร เราจึงค้นหาทางเลือกต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยความหวังว่าเราจะเจอทางเลือกที่ดีที่สุดจริง ๆ

แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดมีอยู่จริงหรือ?

ความจริงก็คือเราไม่มีทางเจอตัวเลือกที่ดีที่สุดได้เลย หากเราไม่ถามตัวเองให้แน่ชัดเสียก่อนว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร เท่านั้นไม่พอนะ เราต้องรู้ให้ชัดเจนว่าเราจะพอใจเมื่อไร…

วิธีแก้อาการ FOBO – หาจุดพอใจที่เรารับได้

สิ่งที่เราต้องกำหนดคือเกณฑ์ความพอใจขั้นต่ำที่เรารับได้ และต้องเป็นเกณฑ์ที่เรารู้ก่อนจะใช้เวลาไปกับมันด้วยนะ ใครที่ยังงง ๆ ว่าเกณฑ์นี้คืออะไร ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งก่อน เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะสนุกสำหรับเราหรือเปล่า สิ่งที่เราพอจะหาข้อมูลได้คือประเภทภาพยนตร์ ตัวอย่างภาพยนตร์ หรือรีวิวจากผู้ชมคนอื่น ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อย่นระยะเวลาการตัดสินใจของเราคือ การกำหนดว่า “เราอยากดูหนังผี เห็นตัวอย่างหนังแล้วต้องรู้สึกตื่นเต้น และต้องได้คะแนนจากเว็บวิจารณ์หนังมากว่า 7 ขึ้นไป ถ้าได้ตามนี้สักเรื่องเราก็พอใจแล้ว” เมื่อได้เกณฑ์ตามนี้ ขอบเขตการค้นหาของเราก็จะแคบลง เวลาที่ใช้ค้นหาก็จะสั้นลง และมีแนวโน้มที่เราจะพอใจกับตัวเลือกมากขึ้นด้วย

สำหรับการลงทุนที่มีตัวเลือกอยู่มากมาย แถมปัจจัยที่ต้องคำนึงก็มีหลากหลาย เราจึงควรตั้งเกณฑ์ที่ต้องการ อย่างเช่น หากเราต้องการหุ้นพื้นฐานดี เราก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการตั้งเกณฑ์โดยใช้ค่า P/E, P/BV, ROE, D/E หรืออัตราการเติบโตของกำไรเป็นที่ตั้ง ลองทำการบ้านสำรวจตัวเองดูว่าต้องการผลตอบแทนระดับไหน ถูกแพงแค่ไหน แล้วเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน

นอกจากพื้นฐานแล้ว ใครที่ถนัดดูสัญญาณเทคนิค ก็สามารถนำมาเป็นเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้นค่าเฉลี่ย เส้นเทรนด์ไลน์ ปริมาณซื้อขาย เป็นต้น

หวังว่าการรู้จักอาการ FOBO จะช่วยให้เรารู้ทันอาการลังเลใจจนไม่กล้าทำอะไรมากขึ้น และช่วยเตือนสติให้เราไม่ลืมที่จะกลับมาทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร จุดสำคัญคือ เราควรมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน มีเกณฑ์การตัดสินใจที่สมเหตุสมผลบนฐานความรู้ ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจได้รวดเร็ว ลดอาการกังวลใจได้ระดับหนึ่ง

เพราะอย่าลืม…การลงทุนไม่ได้มีแค่เรื่องที่ว่า “จะทำอย่างไรให้ได้กำไร” อย่างเดียว แต่มีเรื่องที่ว่า “จะลงทุนอย่างไรให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ และมีความสุข” ด้วยเช่นกัน

ขอให้โชคดีกับการลงทุนทุกท่านค่ะ