เราเชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยรู้สึกแบบนี้

“ไว้ทำงานพรุ่งนี้ละกัน วันนี้ขอพักก่อน” / “เดี๋ยวค่อยคิด ตอนนี้เหนื่อย” / “ให้มันเป็นเรื่องของอนาคต ยังอีกนาน”

และสุดท้าย หลายๆ คนก็ต้องรู้สึกแบบนี้

“โธ่ รู้งี้ก่อนหน้านี้น่าจะวางแผนมาให้ดี” / “รู้งี้น่าจะทำให้เสร็จตั้งแต่วันนั้นแล้ว”

ขอบอกว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่เคยเจอสถานการณ์นี้แต่อย่างใด มันเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากกว่าอนาคต อาการนี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเค้าเรียกว่า “Present-Biased” หรือการมีอคติโน้มเอียงมาทางปัจจุบัน พูดง่ายๆ คือเรามักจะตามใจตัวเองตอนนี้ ตักตวงผลประโยชน์ตอนนี้ แทนที่จะฝืนใจตัวเองตอนนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าข้างหน้า แม้ว่าในอนาคตจะให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่าก็ตาม

พฤติกรรมนี้พบเจอได้ในหลายๆ สถานการณ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากตัวอย่างหนึ่ง (และเชื่อว่าทุกๆ คนเคยเป็น) คือการผลัดวันประกันพรุ่ง เช่น รู้ว่ากำลังจะมีสอบ ถ้าทบทวนตอนนี้ก็จะช่วยลดภาระการทบทวนในอนาคต แต่เราก็ขี้เกียจเกินกว่าจะเริ่มทบทวนวันนี้ หรือ รู้ว่าอยากลดความอ้วน ถ้าเริ่มไดเอตตั้งแต่ตอนนี้ก็จะเห็นผลในระยะยาว แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อกิเลสความอยากอาหารอยู่ดี สุดท้ายพอพฤติกรรม “เอาไว้ก่อน” เหล่านี้ถูกสะสมไปเรื่อยๆ เราก็จะชินกับมัน และไม่คิดอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนกระทั่งสายเกินไปนั่นแหละ

เรื่องเงินก็เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าเงินเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของชีวิต แต่หลายๆ ครั้ง Present-Biased ก็เล่นกับความโลภและความขี้เกียจของเรา ทำให้เราพลาดโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต จะมีอะไรบ้างเราขอพาไปไล่ดูกัน

1. Present-Biased ทำให้แผนเกษียณพัง

หากพูดเรื่องแผนเกษียณกับคนอายุน้อยๆ อาจจะได้การตอบกลับมาเป็นการเบ้หน้าหรือประโยคที่ว่า “ใครจะไปคิดตอนนี้ อีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ” ยิ่งเด็กสมัยนี้ถูกปลูกฝังแนวคิดที่ว่า “รีบใช้ชีวิตซะ! ก่อนที่จะไม่มีแรง ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร” การวางแผนเกษียณจึงดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก มาคิดว่าจะใช้เงินในวันนี้อย่างไรให้คุ้มค่าแรงเหนื่อยดีกว่า

แต่เอาเข้าจริง เวลาผ่านไปเร็วมากนะ แป๊บๆ ผ่านไปสิบยี่สิบปีแล้ว กว่าจะรู้ตัวอีกที เราอาจจะค้นพบว่าอีกไม่กี่ปีเราจะต้องเกษียณแล้ว แต่ยังไม่ได้วางแผนการเงินเลย เงินที่มีอยู่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่พอขึ้นมาเสียอย่างนั้น ตอนนั้นหากใครมีลูกหลานดีๆ ก็โชคดีไป แต่ถ้าเป็นโสดละก็งานหินเลย ยิ่งถ้าคิดว่าอยากจะใช้เงินเยอะๆ ช่วงวัยเกษียณด้วยแล้วนะ การขยายฐานเงินของตัวเองภายในระยะเวลาสั้นๆ ดูเป็นสิ่งที่กดดันพอสมควร ฉะนั้น ถ้าไม่อยากมีภาระในช่วงวัยใกล้เกษียณ เราควรเริ่มวางแผนเก็บเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อยๆ จะดีกว่า อาจจะเริ่มด้วยการแบ่งสัดส่วน 10-20% ของรายได้ไปลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่เสี่ยงหน่อยหากเราอายุยังน้อย เพราะเรายังมีเวลาให้ลงทุนอีกนาน แต่ถ้าอายุมากแล้วก็อาจจะต้องปรับความเสี่ยงลงนิดนึง

2. Present-Biased ทำให้เก็บเงินไม่ถึงเป้า

มาที่เป้าหมายระยะสั้นลงหน่อย นั่นก็คือการเก็บเงินเพื่อทำอะไรสักอย่าง อาจจะเพื่อไปเที่ยว เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ หรือเพื่อนำไปลงทุนต่อ ซึ่งในหลายๆ กรณีก็อาจจะไม่สำเร็จ หรือสำเร็จช้าเพราะเราออกนอกลู่นอกทาง เผลอใช้เงินมือเติบ ลืมวางแผนการเงินให้เป็นระเบียบ ทำให้มีเงินไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้สักที เพราะพอมีเงินปุ๊บก็รู้สึกอยากจะใช้เติมเต็มความอยากในปัจจุบัน มากกว่าที่จะรอนำเงินก้อนนั้นไปแลกเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต

หากอยากเอาชนะ Present-Biased ในกรณีนี้ เราควรมีวินัยในการเก็บเงิน อย่างแรกคือควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าอยากมีเงินกี่บาท ภายในระยะเวลาเท่าไร เมื่อรู้แบบนี้แล้วเราก็จะพอมีไอเดียว่าเราต้องหาผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเท่าไร จากนั้นก็จัดสรรวิธีการเก็บเงินอย่างมีวินัย เช่น อาจจะเก็บสัก 10-15% ของรายได้ในทุกๆ เดือน ได้เงินเดือนมาปุ๊บก็หักออกปั๊บ หรือ ถ้าใครลงทุน ก็อาจจะตั้ง DCA ไว้ทุกๆ วันที่เท่าไรของเดือนก็ว่าไป สำหรับวิธีนี้ เราอาจจะตั้งให้ระบบหักเงินเราอัตโนมัติออกไปเลยก็ได้ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องมาคอยหักเอง เป็นการมัดมือชกตัวเองให้เก็บเงินกลายๆ

3. Present-Biased ทำให้รีบขายหมู / ติดดอย

กรณีคลาสสิกของนักลงทุนมาแล้ว การให้ความสำคัญกับปัจจุบันทำให้เรารีบร้อนที่จะกอบโกยผลประโยชน์ตอนนี้จนบางครั้งก็ลืมไตร่ตรองถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างในกรณีขายหมู ก็คือเวลาที่เราเห็นว่าเราทำผลตอบแทนได้ดี จึงรีบขายเพื่อทำกำไร แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าสินทรัพย์ตัวนี้เติบโตได้อีก และถ้าเราถือนานกว่านี้ เราก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้ หรืออย่างในกรณีติดดอย ก็คือเราเห็นว่าสินทรัพย์ตัวนี้ฮอตฮิตมากๆ คนแห่กันซื้อยกใหญ่ เราก็ต้องเป็นหนึ่งในนั้น! แต่เพราะรีบร้อนเกินไปก็ทำให้ไม่ทันได้ศึกษาปัจจัยหลายอย่างให้รอบคอบ จึงติดดอยกันไป

จะว่าไป จริงๆ ความร้ายแรงของกรณีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับบริบทการลงทุนของเราด้วย การขายหมูอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักกับคนที่ตั้งมั่นไว้แล้วว่าจะทำกำไรระยะสั้น และการติดดอยก็อาจจะไม่ได้ส่งผลร้ายมากนักกับคนที่คิดจะลงทุนในระยะยาวอยู่แล้ว เพียงแต่เรากำลังจะชี้ว่า Present-Biased สามารถเล่นงานเราในรูปแบบนี้ได้ และถ้านี่ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เราต้องการ เราก็จะทุกข์กับมันแน่นอน ดังนั้น เวลาจะตัดสินใจซื้อหรือขาย ก็ย้อนกลับไปทบทวนแผนและเป้าหมายการลงทุนของตัวเองอีกครั้งหนึ่งนะ

4. Present-Biased ทำให้ไม่ศึกษาวิธีบริหารเงิน

กลับมาที่ปุถุชนคนธรรมดา หลายคนไม่ได้ลงทุนและอาจจะไม่ได้ออมเงินอย่างเป็นระบบ ได้เงินมาก็ใช้ มีเหลือเท่าไรค่อยเก็บ ซึ่งเป็นวิธีที่เสี่ยงมากสำหรับตัวเราในอนาคต หลายๆ คนเปรยว่าอยากเก็บเงินให้ได้มากกว่านี้ อยากลงทุน แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ เพราะเรื่องพวกนี้เราต้องศึกษาหาความรู้ และประยุกต์ใช้กับตัวเอง ซึ่งแค่คิดหลายคนก็อาจจะรู้สึกท้อใจ ขี้เกียจที่จะเรียน แปะไว้ก่อน ตอนนี้ขอใช้เงินตามปกติก่อนละกัน

อันที่จริง กรณีนี้ไม่มีวิธีแก้ไหนที่ทรงประสิทธิภาพไปมากกว่าการแก้ตัวเราเองนั่นแหละ เพราะต่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมากรอกหูเราแค่ไหนว่าเราต้องลงทุน ต้องเก็บเงิน แต่ถ้าเราขี้เกียจเสียอย่าง ถ้าเราไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำ มันก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้น ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง เราต้องกระตุ้นตัวเอง และต้องคอยหมั่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าใช้เงินหมดตอนนี้ แล้วในอนาคตเราจะกินอยู่ยังไงหากวันหนึ่งเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา

ปัญหาจาก Present-Biased ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีงานวิจัยจาก HBR ได้ทำการศึกษาแล้วค้นพบว่าที่มันเกิดขึ้นเนี่ย เพราะลึกๆ แล้วเรามองว่าตัวเองในอนาคตคือคนแปลกหน้า! เป็นคนที่ไม่ความเกี่ยวข้องกับเราในปัจจุบันเลย เพราะฉะนั้น เราจึงมีแนวโน้มที่จะผลักภาระไปให้คนแปลกหน้าในอนาคตมากกว่าจะรับไว้เองในปัจจุบัน ทางแก้ไขจะมีอะไรดีไปกว่าการตระหนักว่าตัวเราในอนาคตก็คือผลลัพธ์จากตัวเราในวันนี้ล่ะ?

ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้ว ว่าเราพร้อมจะช่วยเหลือตัวเราในอนาคตแล้วหรือยัง?

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://hbr.org/2013/06/you-make-better-decisions-if-you-see-your-senior-self

ที่มาบทความ:
https://www.posttoday.com/finance/invest/565459
https://thezepiaworld.com/2018/09/28/present-biased/

iran-israel-war