ก่อนหน้านี้ Tencent ถือได้ว่าเป็นบริษัทซูเปอร์สตาร์ของจีน เห็นได้จากเจ้าของอย่าง Pony Ma ที่ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเศรษฐีชาวเอเชีย แซงหน้า Jack Ma คู่แข่งจากถิ่นเดียวกันไปแล้ว แต่สถานการณ์ล่าสุดในปีนี้ดูเหมือนว่าจะไม่เอื้ออำนวยต่อ Tencent สักเท่าไร เพราะหากนับตั้งแต่ต้นปี บริษัทวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่จากจีนรายนี้สูญเสียมูลค่าตามราคาตลาดไปมากกว่า $170 พันล้าน (5.5 ล้านล้านบาท) แล้ว

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทก็ได้เผชิญภาวะกำไรสุทธิของไตรมาสลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2005 สู่ระดับ $2.58 พันล้าน (~8 หมื่นล้านบาท) ลดลง 2% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน (YoY) หรือ ลดลง 23% จากไตรมาสแรก

ดูเหมือนว่า ณ ตอนนี้ อุปสรรคหลักที่ขัดขวาง Tencent นั้นก็คือรัฐบาลจีนนี่แหละ

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการจำกัดการเผยแพร่เกมออนไลน์อย่างเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการกวาดล้างเกม เว็บไซต์ และสื่อต่างๆ ที่มีเนื้อหารุนแรง เกี่ยวข้องกับการพนัน หรือทำให้เกิดการเสพติด (addiction) ล่าสุดก็ประกาศว่าต้องการลดอัตราการเกิดสายตาสั้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงนำมาสู่มาตรการจัดการการเผยแพร่เกมขั้นเด็ดขาด

เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อ Tencent อย่างมากเพราะ ธุรกิจเกมคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้ทั้งหมดกว่า 90% ก็มาจากประเทศจีน ถือว่าค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว โดยรายได้จากเกมมือถือที่ Tencent ทำได้ในไตรมาส 2 ปีนี้นั้นแม้จะโตขึ้น 19% หากเทียบกับปีก่อน แต่ก็ลดลง 19% หากเทียบกับไตรมาสก่อน แสดงให้เห็นว่าในระยะสั้นนี้ Tencent ทำเงินได้น้อยลงจากเกม แม้ว่าจะมีผู้เล่นเกมมากขึ้นก็ตาม

ที่ผ่านมา มาตรการของรัฐบาลจีนส่วนใหญ่ก็กระทบกับรายได้ของ Tencent ด้วยกันทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น เกม PlayerUnknown’s Battlegrounds (PUBG) เวอร์ชั่นจีนที่ถูกห้ามไม่ให้เก็บรายได้เพิ่มเติม (in-app purchase) และเกมสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Monster Hunter: World ที่ถูกห้ามไม่ให้วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม WeGame ทั้งๆ ที่มียอดจองซื้อกว่า 1 ล้านออเดอร์แล้ว Tencent จะทำอะไรได้นอกจากกลั้นน้ำตาคืนเงินให้ลูกค้าไป เหตุการณ์นี้ส่งผลให้หุ้น Tencent ร่วง มูลค่าเสียหายกว่า $16 พันล้าน (~5 แสนล้านบาท)

ย้อนไปปีที่แล้ว เกมดังอย่าง Honor of King ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่กอบโกยรายได้มากมาย ก็ต้องสะดุดเพราะ Tencent ถูกเบื้องบนบังคับให้จำกัดเวลาเล่นเกมดังกล่าว หลังถูกกล่าวหาว่าทำให้เด็กติดเกม

สำหรับเกมใหม่ๆ ที่เจอปัญหา บริษัทไม่สามารถเผยแพร่เกมเหล่านี้ได้จนกว่าจะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานควบคุมสื่อ แต่ปัญหาคือ หน่วยงานนี้ไม่ได้อนุมัติสื่อใดๆ มาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว! (ตั้งใจดองงานรึเปล่านะ -_-) แล้วการที่ Tencent ถูกผลกระทบเต็มๆ อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ไม่ได้มีอำนาจเหนือรัฐบาลแต่อย่างใด

แต่ช้าก่อน เราต้องอย่าลืมว่า Tencent ทำธุรกิจหลากหลาย

แม้กำไรสุทธิของไตรมาสจะลดลง แล้วรายได้รวมของไตรมาสนั้นเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน เมื่อคำนวณอัตรากำไรสุทธิออกมาแล้วจะอยู่ที่ 24% ซึ่งก็ถือว่าแข็งแรงดี เพราะนอกจากเกม Tencent ก็ยังมีธุรกิจให้บริการส่งข้อความอย่าง WeChat มีแพลตฟอร์มสำหรับวิดีโอ เพลง และไลฟ์สดด้วย ข่าวที่พอจะปลอบใจได้จากไตรมาสที่ 2 คือแม้ว่าตัวเลขต่างๆ จากบริการด้าน Social & Digital Content เหล่านี้จะเติบโตช้ากว่าไตรมาสที่แล้ว แต่ก็ยังถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เช่น ยอดผู้สมัครรับบริการด้าน Digital Content เพิ่มขึ้น 30% แตะระดับ 154 ล้านคน ส่วนรายได้ก็เพิ่มขึ้น 14% ทางฝั่งรายได้จากโฆษณาก็เพิ่มขึ้น 39% ส่วนแอปฯ ดังอย่าง WeChat ก็มีอัตราผู้ใช้ต่อเดือน (MAU) เพิ่มขึ้น 9.9% สู่ระดับ 1.06 พันล้านคน นอกจากนี้ Tencent ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินและ Cloud ที่มีแนวโน้มเติบโตดีอีกด้วย คิดเป็นการเติบโตของรายได้ปีต่อปีเกือบ 80% และเพิ่มจากไตรมาสก่อนเกือบ 10%

ด้วยความที่ Tencent มีธุรกิจหลากหลาย จึงโชคดีที่ว่ามีการกระจายความเสี่ยงระดับหนึ่ง แม้ว่าธุรกิจเกมจะโดนผลกระทบ แต่ธุรกิจอื่นๆ ก็ยังสามารถไปต่อได้ ทาง Tencent เองก็มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจหลักของตัวเองให้กลับมาเติบโตได้อย่างเดิม เช่น การเก็บเงินจากเกมที่เป็นแนวทัวร์นาเม้นต์ที่คนนิยมเล่นกันมากขึ้น เพิ่มปฏิสัมพันธ์ของลูกค้ากับเกมที่มีอยู่ และเปิดตัวเกมใหม่ที่มีแนวโน้มทำรายได้ต่อคนได้มากกว่าเดิม ที่น่าสนใจอีกทางเลือกคือการโฟกัสไปยังตลาดต่างประเทศซึ่งมีผู้เล่นที่สนใจเกมจีนอยู่เยอะ เห็นได้จากยอดขายครึ่งปีแรกของเกมจีนในต่างประเทศที่เติบโตขึ้นกว่า 40% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวนเกมที่ทำรายได้ถึง $1 ล้านในต่างประเทศก็มีมากกว่าปีที่แล้วด้วย

ถึงอย่างนั้น เรื่องราวไม่ได้จบที่ Tencent อย่างเดียว

ความแสบของรัฐบาลจีนยังส่งผลกระทบต่อบริษัทเกมไซส์เล็กในจีนที่ไม่สามารถปล่อยเกมได้ บริษัทเอเชียอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมก็โดนหางเลข ไม่ว่าจะเป็นฝั่งญี่ปุ่นอย่างหุ้น Nintendo, Konami Holdings, GungHo Online Entertainment, Gree และ Colopl ที่นักลงทุนเทขายหลังได้ข่าว Tencent ทางด้านฝั่งอุตสาหกรรมชิปจากประเทศอื่นๆ แถบเอเชียก็โดนผลกระทบไปตามๆ กัน

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจีนยังควบคุมสื่อแบบนี้ต่อไป ก็มีสิทธิ์ที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่ออุตสาหกรรมเกมของประเทศจีนซึ่งถือเป็นตลาดเกมอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า $32.5 พันล้าน (~1 ล้านล้านบาท) ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายเข้าสู่อุตสาหกรรมเกม เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) และอุปกรณ์สวมใส่ (wearable devices) ข้อจำกัดต่างๆ ของรัฐบาลจีนย่อมส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ นอกจากเกมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราคงต้องมาลุ้นกันต่อไปว่ารัฐบาลจีนจะใจอ่อนยอมยกเลิกหรือลดระดับกฏอันเข้มงวดรึเปล่า หากรัฐบาลจีนยอมผ่อนปรน ก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเกมในจีน ซึ่งก็หมายถึงเศรษฐกิจจีนโดยรวมด้วย แต่จีนก็คงต้องหาวิธีอื่นให้ความรู้เยาวชนเรื่องการติดเกมแหละนะ ¯\_()_/¯

Sources:
https://prachatai.com/journal/2018/08/78302

https://mgronline.com/game/detail/9610000081801
https://www.cnbc.com/2018/08/15/tencent-q2-2018-earnings.html
https://www.wsj.com/articles/tough-days-for-chinas-tech-giants-1536312601
https://asia.nikkei.com/Business/Business-Trends/Tencent-rejection-adds-woes-to-China-s-slowing-game-industry
https://mashable.com/article/china-video-game-approval-block
http://www.tencent.com/en-us/articles/15000721534381804.pdf

ที่มาบทความ: https://thezepiaworld.com/2018/09/21/tencent-vs-chinese-gov/