Analysis: จีนหนุนตาลีบัน หวังฮุบแร่แรร์เอิร์ธ? เจาะขุมทรัพย์ใต้ดินในอัฟกานิสถาน หากจีนได้ จะกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

วันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ส.ค.) กลุ่มตาลีบันประกาศชัยชนะ หลังยึดกรุงคาบูลและเมื่องอื่นๆ ทั่วอัฟกานิสถานได้สำเร็จ พร้อมประกาศว่า สงครามอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี ได้สิ้นสุดแล้ว 

ชัยชนะดังกล่าว หมายความว่า กลุ่มตาลีบันมีสิทธ์ในแร่แรร์เอิร์ธ และแร่อื่นๆ ที่เป็นดั่งขุมทรัพย์สำคัญของอัฟกานิสถาน ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์

แร่แรร์เอิร์ธ คือ แร่หายากกลุ่มแลนทาไนต์ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน แลปทอป ลำโพง แบตเตอรี่ และ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังตาลีบันสามารถยึดอัฟกานิสถานได้สำเร็จ โฆษกรัฐบาลจีนออกมาประกาศว่าจีนพร้อมร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน

ก่อนหน้านี้ (28 ก.ค.) นาย หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนให้การต้อนรับคณะผู้แทนตาลีบันที่เดินทางมาเยือนจีน ทำให้หลายคนมองว่าจีนพร้อมร่วมมือกับตาลีบัน เพราะต้องการหาประโยชน์จากแร่แรร์เอิร์ธ

Brookings Institute รายงานว่า จีนกำลังพยายามประมูลโครงการทำเหมืองในอัฟกานิสถาน และต้องการผูกขาดไม่ให้ประเทศอื่นๆ สามารถเข้ามาทำเหมืองได้

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกแร่แรร์เอิร์ธที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2018 จีนครองส่วนแบ่งในการผลิตแร่แรร์เอิร์ธทั่วโลกถึง 70%

สหรัฐฯ จำเป็นต้องนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจีนเคยใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นเครื่องมือต่อรองในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ช่วงปี 2019

จีนไม่ใช่ประเทศแรกที่ต้องการแร่แรร์เอิรธ์ในอัฟกานิสถาน ก่อนหน้านี้ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ต่างพบกับความล้มเหลว นี่จึงเป็นความท้าทายของจีนที่จะไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ความท้าทาย คือ โครงสร้างพื้นฐานในอัฟกานิสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเหมือง ก่อนหน้านี้ในปี 2007 นักลงทุนจีนสูญเงินกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเหมืองทองแดง โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย

จีนอาจยังไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวในเร็วๆ นี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน โดยจีนจะค่อยๆ ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

อีกประเด็นที่ทั่วโลกกังวล คือ สิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีของประชาชนอัฟกานิสถานถูกริดรอนอย่างมาก จากการตีความทางศาสนาที่สุดโต่งของกลุ่มตาลีบัน

นักวิเคราะห์แนะว่า ควรมีพื้นฐานสากลเพื่อให้มั่นใจว่า หากประเทศใดตกลงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถาน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขด้านมนุษยธรรมที่เข้มงวด 

ทางการจีนหวังว่ากลุ่มตาลีบันจะสามารถร่วมมือกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างกรอบทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้าง มีมนุษยธรรม และนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน

 

อ้างอิง: https://www.posttoday.com/world/660824

https://www.finnomena.com/clinicinvestment/rare-earth/

https://www.voathai.com/a/analysis-china-role-in-afghanistan-after-us-pullout/6006218.html

https://www.cnbc.com/2021/08/17/taliban-in-afghanistan-china-may-exploit-rare-earth-metals-analyst-says.html

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-08-16/china-enters-high-stakes-relationship-with-post-u-s-afghanistan

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน