News Update: KBANK ทุ่มงบ 7,550 ล้านบาท ซื้อหุ้นธนาคาร "แมสเปี้ยน" อินโดนีเซีย ไม่น้อยกว่า 67.5% ขยายตลาด AEC

ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 บริษัท กสิกรวิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด (KVF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข เพื่อเข้าถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ในวงเงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,556 ล้านบาท

หลังธุรกรรมดังกล่าว ธนาคาร และ KVF จะเข้าถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 67.5% โดยการซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จหลังได้รับอนุมัติจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง คาดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 บริษัท กสิกร วิชั่น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการถือหุ้น 40% ซึ่งสูงสุดตามที่สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan หรือ OJK) อนุญาตให้ถือครองหุ้นธนาคารในอินโดนีเซียโดยผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เป็นการเพิ่มสัดส่วนจากเดิมที่ธนาคารกสิกรไทยมีอยู่ 9.99% ตั้งแต่ปี 2560

ทั้งนี้ บริษัท กสิกร วิชั่นระบุว่า การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นใน ธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่า ต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด ธนาคารแมสเปี้ยนเป็นธนาคารขนาดเล็ก มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ และเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งสามารถต่อยอดความสัมพันธ์ทางธุรกิจหลากหลายในทุกกลุ่มลูกค้า รวมทั้งผู้บริหารธนาคารมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย

นอกจากนี้ ตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปศึกษาและร่วมทำงานกับทีมงานของธนาคารแมสเปี้ยนเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้เราเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่มากมายในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตสดใสในอาเซียน สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงการใช้รูปแบบทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นการผนึกกำลังร่วมกันครั้งสำคัญ เพื่อนำจุดแข็งของสองธนาคารไปต่อยอดพัฒนาบริการในประเทศอินโดนีเซีย โดยจะใช้กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตามกลุ่มลูกค้ากลุ่มต่างๆ

ที่มา: SET และ กรุงเทพธุรกิจ

——————-

👍 อย่าลืมกดไลก์ Page The Opportunity เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสด้านการลงทุน