ข้อควรรู้…เมื่อกองทุนตราสารหนี้ถูกเก็บภาษี

หลังจากมีข่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีแผนที่จะเก็บภาษีกองทุนรวมทั้งระบบที่ลงทุนใน “ตราสารหนี้” นักลงทุนหลายคนอาจกำลังมองหาข้อมูล เพื่อรับมือกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลตอบแทนจากการลงทุนกันบ้างแล้ว ซึ่งการเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจในประเด็นนี้ มี “ข้อควรรู้” ที่ต้องจับจุดให้ได้ 3 เรื่องหลักๆ

แนวคิดเริ่มต้นของกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น จากการที่รัฐบาลต้องการจะสร้างความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีที่ได้จากการลงทุน “ตราสารหนี้” ดังนั้นการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยตราสารหนี้ที่กองทุนรวมได้รับ จึงกลายเป็นประเด็นที่ปรากฏขึ้นตามหน้าสื่อหนังสือพิมพ์หลายแขนง และถือเป็นกระแสที่มีความร้อนแรงระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการลงทุน โดยมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ถึง2.7 ล้านล้านบาท (ที่มา : สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 4 กันยายน 2561) ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนว่า เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลของนักกลงทุน จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

นักลงทุนควรทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น?

1. ทำความเข้าใจ…เก็บภาษีแบบใหม่มีอะไรต่างจากเดิม

ในสมัยก่อนการเสียภาษีจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มีรายละเอียด ดังนี้

  • กำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) : ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องนำไปรวมเป็นรายได้ (ได้รับยกเว้นภาษี)
  • รายได้เงินปันผลต่อหน่วย (Dividend) : จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือเลือกจะนำไปรวมเป็นรายได้และเสียภาษีเงินได้ ก็ได้
  • รายได้จากดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่กองทุนได้รับ : ไม่ถูกหักภาษีใดๆ

เมื่อการมีการเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ จะทำให้การเสียภาษีเปลี่ยนแปลงไปดังนี้

  • กำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) : เหมือนเดิม
  • รายได้เงินปันผลต่อหน่วย (Dividend) : เหมือนเดิม
  • รายได้จากดอกเบี้ยหรือส่วนลดของตราสารหนี้ที่กองทุนได้รับ : ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยให้นิติบุคคลผู้จ่ายดอกเบี้ยทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

2. กองทุนประเภทไหนอาจเข้าข่ายต้องจ่ายภาษี

สำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบผสม (Mixed Funds หรือ Multi-Asset Funds) จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดย ในส่วนที่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้จะเสียภาษีโดยผู้ออกตราสารหนี้จะเป็นผู้ หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่กองทุนได้รับ แต่ในส่วนการลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะถูกหักภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่าย 10% แต่มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือเลือกจะนำไปรวมเป็นรายได้และเสียภาษีเงินได้ ก็ได้

ส่วนการลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ คาดว่า กองทุนอาจจะต้องนำส่งภาษี 15% เมื่อได้รับดอกเบี้ยหรือส่วนลดรับ เนื่องจากสรรพากรไม่สามารถไปบังคับผู้ออกตราสารหนี้ต่างประเทศให้หักภาษีเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตามสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แม้จะลงทุนในตราสารหนี้ แต่จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี

3. ค้นหาทางออกชดเชยการเก็บภาษี

ในกรณีที่นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) ที่ผสมสัดส่วนการลงทุนทั้ง ตราสารทุน ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก จะเป็นแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน โดยนักลงทุนสามารถปรับ เพิ่ม-ลด สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆข้างต้น เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามประเด็นการเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ ยังคงต้องรอรายละเอียดต่างๆที่จะระบุในกฎหมายลูกต่อไป ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงหลังจากนี้

โดย TISCO Wealth Advisory
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/