ข้ามเส้น Benchmark ลงทุนอย่างไรให้รีเทิร์นสูงขึ้น

นักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนมานาน มักจะรู้จัก “Benchmark” กันเป็นอย่างดีแล้วว่า คืออะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนไม่ได้ต้องการเพียงสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับเบนช์มาร์คเท่านั้น ทุกคนต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เคล็ดลับของการลงทุนเหล่านี้มีอะไรบ้าง?

ความหมายของ “เกณฑ์มาตรฐาน” หรือ “Benchmark” นั้น ในบริบทด้านการลงทุนจะใช้เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบกับตราสารการลงทุนที่มีลักษณะสินทรัพย์หรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่คล้ายคลึงกัน โดยแต่ละประเภทสินทรัพย์จะมี Benchmark ที่แตกต่างไปดังนี้

หุ้น-กองทุนรวมหุ้นไทย

หากคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนหุ้น หรือ กองทุนรวมหุ้นไทย ซึ่งต้องการจะรู้ว่าผลตอบแทนที่ทำได้ในปัจจุบันมาก หรือ น้อยแค่ไหนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้ได้รับคำตอบก็คือ การใช้ Benchmark ที่เรียกว่า “ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์” (SET TRI) ซึ่งเป็นดัชนีที่มีการคํานวณผลตอบแทนทุกประเภท ของการลงทุนในหลักทรัพย์ให้สะท้อนออกมาในค่าดัชนี ​ก็จะทำให้นักลงทุนเปรียบเทียบได้อย่างคร่าวๆแล้วว่า ผลตอบแทนในปัจจุบัน มากกว่า น้อยกว่า หรือใกล้เคียงกับผลตอบแทนที่ตลาดทำได้

แต่อีกกรณีหนึ่งคือ หากลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เช่น กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน,กองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มการเงิน ฯลฯ ก็อาจจะใช้ดัชนีเฉพาะกลุ่มนั้นมาเปรียบเทียบเพื่อความเหมาะสม (ถ้ามี)

ตราสารหนี้

ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี) หรือ กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) จะใช้อัตราดอกเบี้ยฝากประจำเฉลี่ยระยะเวลา 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือ ใช้ดัชนีผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อายุคงที่ (Zero Rate Return) อายุไม่เกิน 1 ปีเป็นตัวเปรียบเทียบ

กรณีที่เป็นตราสารหนี้อายุมากกว่า 1 ปี และเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ ผลตอบแทนของดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government Bond Index) ซึ่งจะแบ่งเป็นหลากหลายช่วงอายุเพื่อให้สัมพันธ์กับนโยบายการลงทุนที่ผู้ลงทุนหรือกองทุนลงทุนจริง แต่ถ้าลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ผลตอบแทนของดัชนีหุ้นกู้เอกชน (ThaiBMA Corporate Bond Index) ในการเปรียบเทียบกับการลงทุน

กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)

เนื่องจากความหมายของ FIF บอกเพียงแค่เป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นนโยบายการลงทุนของ FIF จึงสามารถครอบคลุมได้ตั้งแต่การลงทุนในสินทรัพย์ที่เปรียบเสมือนเงินฝากจนไปถึงการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เพราะฉะนั้น Benchmark จะมีวิธีการเลือกใช้เหมือนกับการลงทุนใน 2 ประเภทข้างต้น คือ ต้องเลือก Benchmark ที่วัดผลตอบแทนจากสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน เช่น ลงทุนในหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ควรจะใช้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ S&P500 มาเปรียบเทียบ หรือ FIF ที่เลือกลงทุนหุ้นทั่วโลก อาจใช้ Benchmark ที่เป็นสากลและน่าเชื่อถือ (International Benchmark) เช่น MSCI All Country World Index เป็นต้น แต่เนื่องจาก FIF จะมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น Benchmark อาจมีการปรับผลตอบแทนเป็นสกุลเงินบาทเพื่อให้เห็นผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจริงกับผลตอบแทนที่นำมาเปรียบเทียบสัมพันธ์กัน

ทำอย่างไรให้รีเทิร์นสูงกว่า Benchmark

1. ไม่ลงทุนหุ้นกระจุกตัว

ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่เน้นซื้อหุ้นรายตัว ควรเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคตดี อาจผ่านการวิเคราะห์ด้วยตนเอง หรือ ผ่านบทวิเคราะห์โดยนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนใช้บริการได้ แต่สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนมากนัก ไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นตัวเดียว หรือกระจุกในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวมากเกินไป เพราะถ้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันอาจทำให้พอร์ทการลงทุนผันผวนมากกว่า Benchmark ได้

2. กองทุนรวมบริหารเชิงรุกรีเทิร์นสูงกว่า

การลงทุนในกองทุนรวมไม่ว่าจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม หรือ กองทุนตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศ ควรเลือกกองทุนที่มีนโยบายการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management) เพราะนโยบายลักษณะนี้ ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนไม่เป็นไปตาม Benchmark เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่า Benchmark ได้

3. คำนวณค่าธรรมเนียมก่อนซื้อขาย

ค่าธรรมเนียมจากการลงทุนต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Commission Fee) หรือค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน (Management Fee) เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนอาจมองข้าม แต่มีผลทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนด้อยกว่า Benchmark ได้ เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ต้องผ่านตัวกลาง (Broker) จึงมีเรื่องค่าธรรมเนียมมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อผู้ลงทุนซื้อขายบ่อย แต่ไม่คำนึงถึงผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมจากการลงทุน เมื่อผลตอบแทนไม่สามารถชดเชยค่าธรรมเนียมได้ก็จะทำให้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

การสร้างผลตอบแทนให้ข้ามเส้น Benchmark ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายในมุมมองของหลายๆคน แต่หากโจทย์ของนักลงทุนคือ “ต้องเอาชนะผลตอบแทนของตลาดในระยะยาว” นี่ถือเป็นภารกิจที่ไม่ธรรมดา และจำเป็นต้องวางแผนอย่างรัดกุม

โดย TISCO Wealth Advisory
ที่มาบทความ :
 https://www.facebook.com/tiscomastery/